Search
Close this search box.
โรคหน้าฝน โรคเด็ก

ชวนพ่อแม่เตรียมรับมือ
7 โรคหน้าฝนเสี่ยงต่อหนูน้อย

ก้าวเข้าสู่ช่วงฤดูฝน หนึ่งในเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระวังให้ลูกเป็นพิเศษก็คือ “โรคหน้าฝนในเด็ก” เพราะหน้าฝนเป็นฤดูที่เข้าข้างเชื้อไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงเกิดโรคได้สูง เพราะภูมิต้านทานในร่างกายของเด็กเล็ก ๆ ยังไม่แข็งแรง Cotton Baby จะมาพูดให้ฟังว่า 7 โรคหน้าฝนที่เด็ก ๆ มักเป็นบ่อยมีอะไรบ้าง พร้อมวิธีป้องกันให้พ่อแม่เตรียมตัวไว้ก่อน

7 โรคเด็กในหน้าฝน พร้อมวิธีป้องกันที่พ่อแม่ต้องรู้

โรคหน้าฝนในเด็ก ไข้หวัดใหญ่

1. โรคเด็กที่พบบ่อย “ไข้หวัดใหญ่”

โรคหน้าฝนที่ติดต่อได้ง่ายที่สุดอย่าง โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) พบบ่อยได้ในเด็กทุกเพศทุกวัย และพบได้เกือบทั้งปี มักระบาดหนักในช่วงหน้าฝน สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการหายใจ เมื่อไอหรือจาม เชื้อจะเข้าทางจมูกหรือปาก ดังนั้นในช่วงเปิดเทอม เด็ก ๆ อาจได้รับเชื้อจากเพื่อนที่โรงเรียนได้

อาการ มีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอหรือเจ็บคอ เด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีโอกาสเสี่ยงและอาการอาจรุนแรงมากกว่าคนกลุ่มอื่น

การป้องกัน สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ควรฉีดประมาณ 1 – 2 เดือนก่อนถึงฤดูกาลระบาด และถ้าหากลูกมีอาการควรให้หยุดเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น ใส่หน้ากาก ล้างมือ และทานอาหารปรุงสุกเสมอ  

ไข้เลือดออก โรคหน้าฝนในเด็ก

2. “ไข้เลือดออก” โรคหน้าฝนพบการระบาดสูง

โรคไข้เลือดออกระบาดได้ทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าฝน เพราะมีโอกาสที่น้ำจะขังมาก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ถ้าได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว จะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและใบหน้าจะเริ่มแดง รู้สึกอ่อนเพลีย และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย

อาการ หากลูกมีไข้สูงมาก แต่กินยาลดไข้เท่าไหร่ก็ไม่ดีขึ้น รวมถึงมีอาการปวดหัว ปวดกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามลำตัว มีอาการตาแดง หน้าแดง ปากแดง

การป้องกัน ให้ลูกสวมเสื้อผ้ามิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด และจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทิ้งให้หมด หากลูกเริ่มมีอาการแล้ว อย่ารอให้ถึงขั้นรุนแรง เช่น มีไข้สูงมากจนเกิดอาการช็อก หรือมีปัญหาเลือดออกง่าย แล้วค่อยมาพบแพทย์ ควรรีบพาลูกมาพบแพทย์ทันที

โรคหน้าฝน มือ เท้า ปาก

3. โรคหน้าฝนยอดฮิต “มือ เท้า ปาก”

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัส (Enterovirus 71, Coxsackie) พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในหน้าฝน และพบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี (ชั้นอนุบาล ถึง ประถม) หากลูกเริ่มมีอาการแล้ว ซึ่งบางเคสอาจทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ เพราะเจ็บปากมาก แม้แต่น้ำลายก็ไม่ยอมกลืน ส่งผลให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ ระวังอย่าให้ลูกมีไข้สูงเกินไป เพราะอาจทำให้ชัก หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อพ่อแม่พบความผิดปกติต้องรีบพามาพบแพทย์ทันที

อาการ มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือมีแผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางเคสอาจมีผื่นที่ขา และก้นร่วมด้วย ซึ่งอาการมักหายได้เองภายใน 3 – 10 วัน สามารถติดต่อผ่านทางการไอ จาม น้ำลาย หรืออุจจาระ มีระยะฟักตัวประมาณ 3 – 6 วัน และพบเชื้อทางน้ำลาย 2 – 3 วันก่อนมีอาการ จนถึง 1 – 2 สัปดาห์หลังมีอาการ

การป้องกัน พ่อแม่ควรระวังในเรื่องของอาหาร น้ำดื่ม ควรมีกระบอกกน้ำ หรือแก้วน้ำส่วนตัวให้ลูกนำไปใช้ที่โรงเรียน ทั้งนี้ก็ไม่ควรให้ลูกอยู่ในสถานที่แออัด และฝึกให้ลูกใช้ช้อนกลางทุกครั้ง ไม่ว่าจะที่โรงเรียนหรือที่บ้านก็ตาม ที่สำคัญต้องรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็วเมื่อสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย หรือเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม รวมทั้งหมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็กและเครื่องใช้ส่วนตัวของลูกด้วย

โรคอีสุกอีใส โรคหน้าฝนในเด็ก

4. “โรคอีสุกอีใส” โรคเด็กยอดฮิต

โรคที่เกิดขึ้นและเป็นกันบ่อย มักจะเป็นในแค่บางช่วง แต่เมื่อเป็นแล้วจะติดกันเป็นทอด ๆ ซึ่งลูกอาจจะติดจากเพื่อนที่โรงเรียนได้ พบบ่อยในเด็กที่ไม่เคยป่วยเป็นอีสุกอีใส หรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน

อาการ มีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้อง ลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ด หรือแผลเป็นขึ้นได้ แต่มักจะหายเองได้ภายในประมาณ 2 – 3 สัปดาห์

การป้องกัน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส สามารถให้เด็กเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบเป็นต้นไป และต้องฉีดกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 4 ขวบ (เป็นวัคซีนเสริม) แต่ยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด

โรคไอพีดีและปอดบวม โรคเด็ก โรคหน้าฝน

5. “โรคไอพีดีและปอดบวม” โรคเด็กที่ติดเชื้อจากแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส

โรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease : IPD) โรคติดเชื้อชนิดรุนแรง มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า นิวโมคอคคัส ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง มีความรุนแรงถึงขั้นอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี สามารถติดต่อกันได้ระหว่างคนสู่คน และพบมากในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น

อาการ ในกรณีติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ส่วนเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม และชักได้ และในกรณีติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง งอแง หากรุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

การป้องกัน เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี แล้วมีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง การฉีดวัคซีนจึงมีความสำคัญ โดยสามารถฉีดวัคซีนให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่วนในเด็กทารกควรเริ่มฉีดเมื่ออายุได้ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4, 6 และ 12 – 15 เดือน

โรคเด็ก โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง โรคหน้าฝน

6. โรคเด็กที่ใกล้ตัวที่สุด “โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง”

โรคท้องเสียที่เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เด็กจะชอบเอาของเล่น หรือของใช้ที่มีเชื้อโรต้าไวรัสเข้าปากโดยไม่รู้ตัว ทำให้ลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส โดยจะถูกขับออกทางอุจจาระ เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย และมักพบในเด็กแรกเกิด ถึง อายุ 5 ขวบ ซึ่งเกือบทุกคนจะต้องเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว

อาการ โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการท้องเสีย อาเจียน บางคนอาจจะมีไข้สูง กินได้น้อยลง งอแง ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ

การป้องกัน เด็กทารกควรให้กินนมแม่ และดูแลเรื่องอาหาร การกิน รักษาความสะอาด ที่สำคัญคือไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่ที่แออัด เพราะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ

โรคหน้าฝนที่ต้องระวัง โรค RSV

7. รู้จักโรคหน้าฝนที่ต้องระวัง โรค RSV

โรคที่มีโอกาสติดเชื้อ ทำให้ป่วยง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กอย่าง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจ ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงหน้าฝน หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม และโดยเฉพาะการสัมผัส หากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 5 วัน

อาการ ช่วง 2 – 4 วันแรก มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่ออาการเริ่มมีมากขึ้น จะส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ซึ่งในบางคนอาจเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอได้เช่นกัน

อาการที่ต้องพึงระวัง หากมีอาการหนัก เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ร่วมกับไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด ทานอาหารหรือนมได้น้อย ปากซีดเขียว ก็อาจมีโอกาสเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง

การป้องกัน ควรดูแลความสะอาดให้ดี หมั่นล้างมือตัวเองและลูกบ่อย ๆ เพราะการล้างมือ สามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือได้ทุกชนิด ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว เลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่คนพลุกพล่าน ออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ทั้งวัน สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกป่วย ควรแยกเขาออกจากเด็กคนอื่น ๆ เพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้ออีกทาง และควรหยุดเรียนอย่างน้อย 1- 2 สัปดาห์จนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ

การป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคเหล่านี้ นอกจากการใส่ใจเรื่องสุขอนามัยแล้ว เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันก็สำคัญไม่แพ้กัน คลิก อัปเดตตารางวัคซีน 2563 วัคซีนพื้นฐานที่ลูกต้องฉีดมีอะไรบ้าง มาเสริมเกราะป้องกันให้เขาเติบโตขึ้นพร้อมกับร่างกายที่แข็งแรงกันเถอะ

SHARE

RELATED POSTS

สังเกตให้ทันก่อนสาย ลูกน้อยเข้าข่ายเป็นโรคตาขี้เกียจหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินถึง ‘โรคตาขี้เกียจ’…