Search
Close this search box.
มือเท้าปาก

เฝ้าระวัง โรคมือเท้าปาก โรคระบาดในเด็กที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำพรำ~~ แม้บรรยากาศพอจะคลายร้อนได้บ้าง แต่หัวอกคุณพ่อคุณแม่อาจกำลังกังวลถึง ‘โรคมือเท้าปาก’ โรคเด็กที่มักจะระบาดอย่างมากในช่วงนี้ ถือเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่ส่งผลรุนแรงกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และที่น่ากังวลก็คือโรคมือเท้าปาก อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ฉะนั้น ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องเฝ้าระวังเรื่องความสะอาด คอยสังเกตอาการของลูกน้อยกันเป็นพิเศษ หากเกิดอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคมือเท้าปากจะได้รีบรักษากันได้ทันเวลานะคะ เอาล่ะเราไปทำความรู้จักเจ้าโรคนี้กันเลยดีกว่า

รู้จัก โรคมือเท้าปาก ติดต่อได้ง่ายในเด็กเล็ก

โรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส (Enter virus) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ สามารถเกิดโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะประเทศร้อนชื้นอย่างบ้านเรา แต่ระบาดมากในช่วงหน้าฝน มักพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เด็กโตและผู้ใหญ่ก็มีโอกาสพบได้เช่นกัน

สาเหตุของโรคมือเท้าปาก

เชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคมือเท้าปาก สามารถแพร่เชื้อผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ ติดต่อได้โดยตรงผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย รวมถึงอุจจาระ น้ำจากตุ่มใส หากเป็นการสัมผัสทางอ้อมอย่าง สัมผัสกับของเล่น น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดูก็ได้เช่นกัน

โรคมือเท้าปากมักระบาดในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กชั้นอนุบาล ซึ่งโรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้ยังไม่มีอาการจึงสามารถติดต่อได้แบบไม่รู้ตัว และช่วงที่เชื้อจะแพร่กระจายมากที่สุดคือ ช่วงสัปดาห์แรกที่เด็กเริ่มมีอาการ และจะแพร่เชื้อได้จนกว่าจะหายดี แต่อาจจะสามารถพบเชื้อในอุจจาระได้อยู่อีกประมาณ 6-8 สัปดาห์ได้อีกด้วย

ข้อมูล มือเท้าปาก

อาการของโรคมือเท้าปาก

  • หลังจากเด็กได้รับเชื้อของโรคมือเท้าปากไปแล้ว 3-6 วัน จะแสดงอาการมีไข้ อ่อนเพลีย
  • ต่อมาอีก 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก น้ำลายไหล กลืนน้ำลายไม่ได้ เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก ทำให้กินอาหารได้น้อย หรือไม่ยอมทาน
  • มีผื่นลักษณะจุดแดง หรือเป็นตุ่มใสขึ้นที่บริเวณตามลำตัว แขน ขา ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า เข่า รอบก้น และอวัยวะเพศ ผื่นที่ขึ้นมักไม่มีอาการคัน สามารถดีขึ้นและหายได้ภายใน 7-10 วัน
  • ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรง หายเองได้ หากไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่ให้ระวังภาวะขาดน้ำจากการที่ทานอาหารและน้ำน้อยลง
  • โรคมือเท้าปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยารักษาโดยตรง จึงต้องรักษาตามอาการที่เป็น

อาการโรคมือเท้าปากแบบรุนแรง ที่ไม่ควรปล่อยไว้!

  • ไข้สูง
  • ซึม อ่อนแรง เดินเซ
  • มือสั่น
  • อาเจียนบ่อย
  • หอบ มีอาการชัก
  • ทานอาหาร หรือน้ำดื่มไม่ได้

อาการเหล่านี้อาจแสดงถึงภาวะสมองอักเสบ ร่วมกับระบบหายใจ และระบบไหลเวียนเลือดที่ล้มเหลว ควรพาพบแพทย์ทันที เพราะอาการอาจรุนแรงถึงชีวิตได้เลย

สิ่งที่ควรทำเมื่อลูกน้อยเป็นโรคมือเท้าปาก

แยกเด็กที่ป่วยเป็นมือเท้าปากออกจากกลุ่มเพื่อน งดไปโรงเรียนและทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายดี และคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากเกิดอาการแทรกซ้อนควรพาพบแพทย์ทันที

วิธีป้องกันโรคมือเท้าปากให้ห่างไกลเด็ก ๆ

1. รักษาความสะอาด

– ล้างมือก่อนทานอาหาร และหลังสัมผัสสารคัดหลั่ง หลังขับถ่ายเสร็จ หากเด็กเล็กมาก อย่าลืมเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วย

– พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก ต้องหมั่นล้างมือ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปถึงคนอื่นได้

– ตัดเล็บของเด็กที่ป่วยให้สั้น เพื่อป้องกันการเกาที่บริเวณผื่น หรือตุ่มบนผิวหนัง

– ทำความสะอาดของเล่น วัสดุ สิ่งของ และสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เด็ก ๆ มีโอกาสเผลอไปสัมผัสหรือนำเข้าปาก

วิธีทำความสะอาดที่ถูกต้อง สำหรับการกำจัดเชื้อของโรคมือเท้าปาก

ล้างมือ : ต้องใช้น้ำและสบู่ถูกันนาน 20-30 วินาที เพื่อล้างเชื้อโรคออกจากผิวหนัง

ทำความสะอาดพื้นและอุปกรณ์ต่าง ๆ : ต้องใช้โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) 0.5% เช่น ไฮเตอร์ คลอร็อกซ์ (clorox) ชุบน้ำยาจนชุ่ม แล้วเช็ดบนพื้นผิวที่ต้องการ ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วเช็ดออก

*ข้อควรระวัง : การใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ 70-75% ไม่สามารถฆ่าเชื้อของโรคมือเท้าปากได้

 

2. แยกของใช้ส่วนตัวออกจากกัน

สิ่งของที่ใช้ร่วมกันให้แยกทันที เช่น ผ้าเช็ดตัว เช็ดหน้า แก้วน้ำ ขวดนม จาน ชาม ช้อน ส้อม และควรใช้ช้อนกลางในการทานอาหาร

 

3. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด คนเยอะ

ช่วงที่โรคมือเท้าปากระบาด ควรระวังเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดให้มากที่สุด เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ

วิธีดูแลเด็กที่ป่วยเป็นมือเท้าปาก

รักษาตามอาการ เช่น ถ้าเป็นไข้ให้ทานยาลดไข้ เช็ดตัว นอนพักผ่อนมาก ๆ หรือถ้ามีอาการปวดก็ทานยาแก้ปวด ทานยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก และที่สำคัญ หากทานอาหารได้น้อยลง ให้พยายามป้อนน้ำ นม หรืออาหารอ่อน ๆ แนะนำอาหารเย็น เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม เพราะจะช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก และให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ

สำหรับโรคมือเท้าปาก คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดนะคะ และควรพาพบแพทย์เพื่อจะได้รักษาตามคำแนะนำอย่างเหมาะสม แจ้งทางโรงเรียนให้รับทราบ ถึงแม้มือเท้าปากจะสามารถหายได้เอง แต่เราก็ควรเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนด้วยนะคะ

SHARE

RELATED POSTS

สังเกตให้ทันก่อนสาย ลูกน้อยเข้าข่ายเป็นโรคตาขี้เกียจหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินถึง ‘โรคตาขี้เกียจ’…