Search
Close this search box.
ฮ่องเต้ซินโดรม

ตามใจลูกจนชิน ระวังจะเป็นฮ่องเต้(ซินโดรม)

‘ลูกอยากได้อะไรขอเพียงแค่เอ่ยมา แม่ก็จะหามาให้’ หรือ ‘ห้ามลูกไม่ให้ไปวิ่งเล่นเพราะกลัวเขาล้ม’ รู้หรือไม่ว่า…ทำแบบนี้บ่อย ๆ ฮ่องเต้ซินโดรมกำลังจ้องมองอยู่นะ

การทำให้ลูกมีความสุขเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ปรารถนา เพียงแค่เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของเขาแค่นี้ก็สุขใจแล้ว แต่เชื่อไหม ? ว่า ความสุขเล็ก ๆ นี้สามารถกลายเป็นดาบสองคมที่ทำร้ายเขาได้ในอนาคต ด้วยอาการ ‘ฮ่องเต้ซินโดรม’

ฮ่องเต้ซินโดรมคืออะไร

‘ฮ่องเต้ซินโดรม’ (Rich Kid Syndrome) หมายถึง อาการของเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีมากจนกลายเป็นการถูกตามใจจนเสียคน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลจากคุณพ่อคุณแม่ หรือคนในครอบครัวก็ตาม และสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน

เด็กที่มีอาการฮ่องเต้ซินโดรม จะเอาแต่ใจตัวเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ได้ในอนาคตเมื่อเขาโตขึ้น อาการนี้จะทำให้เด็กไม่เคยรู้สึกผิดหวัง และไม่เคยเผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิต คุณพ่อคุณแม่ลองคิดดูนะคะว่า หากเป็นเช่นนี้ ลูกจะเป็นอย่างไรต่อไป ?

ฮ่องเต้ซินโดรมกำลังตามหาครอบครัวที่เลี้ยงลูกแบบไหน ?

เลี้ยงลูกแบบไหนจะเป็นฮ่องเต้ซินโดรม

เนื่องจากในปัจจุบัน คนต่างเริ่มหันมามีลูกกันน้อยลงมาก หากจะมีก็ขอเพียงคนถึงสองคน หลายครอบครัวมองว่าขอมีลูกเพียงคนเดียว แต่จะเลี้ยงให้เต็มที่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่สมควรค่ะ แต่ต้องไม่ใช่การเลี้ยงโดยระบบดูแลคุ้มครองปกป้องมากเกินไป จึงทำให้ลูกที่ได้มาเป็นดั่ง ไข่ในหิน

ขอเพียงเอ่ยมาว่าต้องการอะไร พ่อแม่ก็จะหามาให้อย่างแน่นอน หรือ ถูกเลี้ยงที่ดีมากจนเด็กไม่รู้จักกับความผิดหวัง หรือความเศร้าเลย ทั้ง ๆ ที่อารมณ์เหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานของคนเรา ลูก ๆ ก็จะเปรียบตัวเองเป็นเหมือนเจ้าชายเจ้าหญิงในนิยายที่มีแต่ความสุขในการใช้ชีวิต

แต่สิ่งเหล่านี้แหละที่จะทำให้ลูกเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นคนพิเศษ มีอำนาจเหนือ แตกต่างจากคนอื่น และฮ่องเต้ซินโดรมก็มาเข้าสิงลูกได้ง่าย ๆ

พฤติกรรมไหนที่เรียกว่า ฮ่องเต้ซินโดรมกำลังเข้าสิงลูก’ ?

อาการฮ่องเต้ซินโดรมมักจะทิ้งร่องรอยให้สามารถหาสาเหตุได้อย่างแน่นอน เริ่มสังเกตได้จากพฤติกรรมของตัวของคุณพ่อคุณแม่เองว่าตนเองตามใจลูกเกินไปหรือไม่ ? ห่วงมากไปหรือเปล่า ? ไม่เคยทำโทษลูกเลย ? ไม่เคยให้ลูกสัมผัสกับความเศร้า หรือผิดหวังเลย ?

นอกจากนี้ก็ต้องเริ่มดูพฤติกรรมตอบโต้ของลูกว่า หลังจากที่ได้รับคำปฏิเสธไปนั้น เขาแสดงพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ? เช่น ตะโกนเสียงดัง ขว้างปาข้าวของ หรือแสดงความรุนแรง หากเป็นเช่นนี้ นี่แหละคือร่องรอยของอาการฮ่องเต้ซินโดรมที่กำลังเข้าสิงลูกอยู่

เลี้ยงแบบไหน ? ป้องกันฮ่องเต้ซินโดรมเข้าสิง

เลี้ยงแบไหนถึงจะเป็นฮ่องเต้ซินโดรม

คำว่า ‘เลี้ยงลูกด้วยความห่วงใย’ และ ‘เลี้ยงลูกด้วยความห่วงไป’ มีความคล้ายกันมาก แต่ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน แล้วการเลี้ยงลูกแบบไหนจะคอยป้องกันอาการฮ่องเต้ซินโดรมได้ล่ะ ?

การเลี้ยงลูกด้วยความห่วงใย เช่น หากลูกหกล้ม คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้เขาลุกขึ้นมาเอง ทดลองให้เขาสัมผัสกับความเจ็บปวดและความรู้สึกด้วยตัวของเขา เพื่อให้เขาฝึกเรียนรู้การจัดการกับปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยตนเอง อาการฮ่องเต้ซินโดรมก็จะไม่เกิดขึ้น

ในขณะที่การเลี้ยงลูกด้วยความห่วงไป คือ คอยอุ้มตลอดเวลา ให้เขานั่งรถเข็นเสมอ เพื่อขจัดปัญหาที่ลูกจะล้ม โดยวิธีนี้เป็นการตัดปัญหาตั้งแต่แรก แต่จะไม่ช่วยให้ลูกเผชิญปัญหากับความรู้สึกที่แท้จริง

การปกป้องลูกจากภัยอันตรายเป็นสิ่งหลักที่คุณพ่อคุณแม่ควรกระทำ ซึ่งอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดเป็นบาดแผลหรือความเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย เราสามารถปล่อยให้ลูกลองแก้ไขด้วยตนเองได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าอุบัติเหตุนั้นเป็นอันตราย ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องปกป้องลูก แบบนี้จะดีกว่าไหมคะ ? หากคุณพ่อคุณแม่จะยอมแลกความเจ็บปวดของลูกเพื่อให้เขาได้เรียนรู้มากขึ้น

เมื่อถูกฮ่องเต้ซินโดรมเข้าสิงนานเกินไป ลูกจะ

หากพบว่าลูกกำลังเผชิญกับอาการฮ่องเต้ซินโดรมอยู่ คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มแก้ไขอาการนี้ อาจจะเป็นการกำหนดรางวัล เพื่อให้เขาลองพยายามทำอะไรบางอย่างด้วยตนเอง เพื่อแลกกับสิ่งที่อยากได้ แต่ไม่ควรให้มากจนเกินไป ต้องสมเหตุสมผลด้วยนะคะ

แต่ถ้าหากยังไม่สำเร็จ Cotton Baby แนะนำว่าควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อศึกษาและปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งพฤติกรรมของลูกก่อนที่จะสายเกินไป

คำว่า ‘สายเกินไปนี้’ น่ากลัวมากสำหรับเด็กที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในอนาคต ด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากครอบครัวหรือการอยู่ร่วมกันผู้อื่นมากขึ้น อาจจะทำให้เขาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้คือ พฤติกรรมของเด็กที่ถูกฮ่องเต้ซินโดรมเข้าสิง จนไม่สามารถกู้กลับมาได้

พฤติกรรมในอนาคตของเด็กที่โดนฮ่องเต้ซินโดรมเข้าสิง

ลูกเป็นฮ่องเต้ซินโดรมจะมีอย่างไร
  • เอาแต่ใจตัวเอง การเลี้ยงดูที่ห่วงเกินไปของคุณพ่อคุณแม่ ทำให้ลูกอยากได้อะไรก็ได้มาเสมอ แต่เมื่อเขาเผชิญโลกข้างนอกที่คนอื่นไม่ให้เขาบ้าง เขาก็จะกลายเป็นคนละคนเลยทีเดียว
  • ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เพราะไม่สนใจกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ตนเองอยากได้อะไรหรืออยากทำอะไร ย่อมได้เสมอ
  • ตรรกะด้านเหตุและผล ผิดเพี้ยนไปบ้าง เพราะเคยได้สิ่งที่ตนเองต้องการอย่างง่ายดาย เพียงแค่ขอเท่านั้น ดังนั้นเด็กจะขาดเหตุผลหรือความเข้าใจที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้น
  • ไม่ให้เกียรติผู้อื่น สนใจแต่ความสุขของตนเอง และไม่แคร์ความรู้สึกผู้อื่น
  • ขาดความมั่นใจในตนเอง เพราะได้สิ่งต่าง ๆ มาจากคุณพ่อคุณแม่เสมอ ไม่ต้องใช้ความพยายามแลกมา จนไม่เกิดความภูมิใจในตนเอง
  • ขาดความอดทน และการจัดการอารมณ์ เมื่อตนเองไม่ได้สิ่งที่ต้องการ จะไม่สามารถอดกลั้นอารมณ์ได้ นอกจากนี้จะปลดปล่อยไปอย่างรุนแรง ด้วยความโกรธและโมโห

ถึงแม้ว่าคนในครอบครัวจะสามารถยอมรับและยับยั้งไม่ให้เกิดอาการฮ่องเต้ซินโดรมได้ แต่หากเข้าต้องอยู่กับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน ก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่เขาจะได้ในสิ่งที่ต้องการ และยากที่จะปรับตัวเข้ากับสังคม ดังนั้นเพื่ออนาคตที่ดีของลูก เริ่มฝึกฝนตั้งแต่เล็ก ๆ ก็จะช่วยให้เขาสามารถเริ่มปรับตัวได้ และเข้าใจโลกนี้อย่างเป็นเหตุเป็นผลค่ะ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่ต้องการเคล็บลับดี ๆ ในการจัดการ เมื่อลูกอาละวาดเพราะว่าโดนขัดใจ สามารถเข้าได้ดูได้บทความ รับมือลูกอาละวาดแบบนี้ดีกว่า แม่ไม่หนักใจ ลูกควบคุมอารมณ์ได้ไว เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกอารมณ์ร้าย และก่อนที่ลูกจะถูกฮ่องเต้ซินโดรมเข้าสิงนะคะ

SHARE

RELATED POSTS

สังเกตให้ทันก่อนสาย ลูกน้อยเข้าข่ายเป็นโรคตาขี้เกียจหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินถึง ‘โรคตาขี้เกียจ’…