Search
Close this search box.

รู้จักภาวะ ‘Parental Burnout’ เมื่อพ่อแม่เลี้ยงลูกจนหมดไฟ

ในยุคนี้อาการหมดไฟ (Burnout) คงเป็นคำคุ้นเคยของคนทำงาน แต่รู้ไหมคะว่า… พ่อแม่เองก็มีภาวะ ‘Parental Burnout’ หรือการเลี้ยงลูกจนหมดไฟได้เหมือนกัน เพราะในหนึ่งวันเรามีสิ่งที่ต้องทำมากมาย การจะบริหารเวลาให้ Work-life Balance พร้อมเลี้ยงลูกไปด้วยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพ่อแม่หมดไฟ ร่างกายก็หมดแรง ส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว วันนี้ Cotton Baby จึงเตรียมวิธีดูแลกายใจให้ไม่เหนื่อยล้า พร้อมเคล็ดลับบริหารเวลา เพื่อป้องกันภาวะพ่อแม่หมดไฟมาฝากกันค่ะ

ภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout) คืออะไร

การรู้สึกหมดไฟ (Burnout) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อร่างกายเกิดความเหนื่อยล้าสะสม ประสิทธิภาพในการทำงานก็ลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่นเดียวกับภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout) ซึ่งเป็นความเหน็ดเหนื่อยจากการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องการความใส่ใจตลอด 24 ชั่วโมง พ่อแม่จึงทุ่มเวลาให้ทั้งหมด จนลืมใส่ใจสุขภาพตัวเอง

ผลการวิจัยจากสำนักพิมพ์ Frontiers รายงานว่า ในพ่อแม่ผู้ร่วมการทดลอง 2,000 คน มีจำนวนแม่ราว 13% และพ่อจำนวน 11.6% เคยเกิดภาวะ ‘High Burnout’ หรืออาการหมดแรง อารมณ์ไม่คงที่ และมีประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งมาจากความรู้สึกกดดันเมื่อต้องการทำทุกอย่างให้เพอร์เฟ็กต์ พอสะสมนานวันเข้า ร่างกายก็เหนื่อยล้า เป็นที่มาของภาวะเลี้ยงลูกจนหมดไฟนั่นเองค่ะ

ความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหรือเลี้ยงลูกนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะใน 365 วัน ต้องมีสักวันที่เราอ่อนล้าหมดแรงกันบ้าง แต่อาการแบบไหนหล่ะที่จะบ่งบอกได้ว่าเป็นอาการเลี้ยงลูกจนหมดไฟ? ก่อนจะไปดูวิธีบริหารเวลาให้ลูกและเราแฮปปี Cotton Baby ขอชวนมาเช็กตัวเองก่อนว่า อาการไหนเข้าข่ายภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout) บ้างค่ะ

เช็กสัญญาณเตือน! อาการแบบไหนเข้าข่ายภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout)

  • รู้สึกไม่มีความสุข และเหนื่อยตลอดเวลา

เคยไหมคะ จู่ ๆ ก็รู้สึกว่าการเลี้ยงลูกเป็นงานที่ยากลำบาก เจ้าตัวน้อยที่เคยเจื้อยแจ้วน่ารัก กลับเป็นเด็กเอาแต่ใจที่ทำให้อารมณ์เสีย พาลให้การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีอีกต่อไป เป็นสาเหตุให้รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา จนอยากจะหนีให้พ้นจากสถานการณ์นี้

  • อารมณ์อ่อนไหวง่าย

อารมณ์สวิงไร้ทิศทาง รู้สึกอ่อนไหวง่าย เดี๋ยวหงุดหงิด ดีใจ เสียใจ ขาดการควบคุมตัวเอง อีกทั้งยังไวต่อสิ่งเร้ารอบตัว ไม่ว่าจะเป็นผู้คน หรือสถานที่แออัดก็ชวนให้รู้สึกไม่ชอบใจเลย

  • มีอาการย้ำคิดย้ำทำ

เช็กสิ่งเดิมซ้ำ ๆ จนเข้าขั้นวิตกกังวล เช่น ทำความสะอาดบ้านมากเกินไป ย้ำเตือนเรื่องเดิม ๆ กับคนในครอบครัว หรือรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ เป็นผลให้เกิดความเครียด และเสียสุขภาพจิตได้ค่ะ

  • รู้สึกเบลอ สับสน หลงลืมบ่อย

เมื่อพ่อแม่หมดไฟ ร่างกายก็เกิดความเครียด เป็นผลให้นอนหลับไม่สนิท มีอาการหลงลืม มึนงง และสับสนอยู่บ่อยครั้ง นับเป็นอาการอันตรายที่ผลต่อการทำงานของสมองค่ะ

ไม่อยากเป็นพ่อแม่หมดไฟต้องทำยังไง?

‘การเป็นพ่อแม่’ คืองานหินที่ต้องการความใส่ใจ และต้องใช้ความอดทนมหาศาล การหยุดพักเพื่อชาร์จพลังให้ตัวเองบ้างจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมที่ชอบจะทำให้สุขภาพกายใจดีขึ้น นอกจากนี้เมื่อลูกเห็นพ่อแม่ใส่ใจตัวเองแล้ว เด็กก็จะได้รับอิทธิพลในการดูแลตัวเองด้วย เป็นอีกหนทางที่ช่วยส่งต่อพลังบวก และเป็นต้นแบบที่ดีค่ะ

รู้แบบนี้… พ่อแม่ก็เริ่มชาร์จพลังกันได้แล้วนะคะ ไม่อย่างนั้นเราอาจจะหมดแรง เพราะเลี้ยงลูกจนหมดไฟได้ สำหรับใครที่อยากเลี่ยงภาวะ Parental Burnout ตาม Cotton Baby มาดูวิธีเยียวยากายใจ เพื่อไม่ให้เป็นพ่อแม่หมดไฟได้เลยค่ะ

How to ดูแลกายใจให้ห่างไกลภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout)

  • ใช้เวลาคนเดียวบ้าง

การให้ความรัก และดูแลลูกตลอดเวลาอาจเป็นสิ่งที่ดี แต่ในระหว่างนั้น พ่อแม่ก็ควรหาเวลาพักผ่อน เพื่ออยู่กับตัวเองบ้างนะคะ โดยอาจเป็นช่วงสั้น ๆ ตอนหัวค่ำ เมื่อเจ้าตัวเล็กผล็อยหลับไปแล้ว เราสามารถใช้เวลานี้ นอนแช่อ่างน้ำ อ่านหนังสือที่ชอบ หรือดูหนังกับคนรักได้ นอกจากจะช่วยผ่อนคลายแล้ว ยังได้ทำสิ่งที่อยากทำด้วยนะ

  • ทำกิจกรรมที่ชอบ

เมื่อมีเจ้าตัวน้อย เวลาในการทำสิ่งที่ชอบก็ลดลง ทำให้ขาดพลัง ไร้ความคิดสร้างสรรค์ จนแทบจะกลายร่างเป็นหุ่นยนต์คุณแม่ไปแล้ว! ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แทนที่จะคอยตามใจลูก ลองชักชวนให้เด็ก ๆ หันมาทำกิจกรรมที่เราชอบไปพร้อมกันสิคะ นอกจากจะช่วยให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่แล้ว ยังทำให้เราได้แชร์สิ่งที่ชอบกับลูกด้วยนะ

  • ไม่เก็บปัญหาไว้ในใจ

เมื่อรู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจ ลองปรึกษาคนข้างกายดูสิคะ หากสิ่งที่ต้องจัดการมีเยอะเกินไป การมีคนมาช่วยแบ่งเบาก็เป็นเรื่องที่ดี เราจะมีเวลาเหลือได้ทำสิ่งที่สนใจ แล้วยังได้ระบายความรู้สึก ไม่อึดอัด และเป็นตัวกระชับความสัมพันธ์ชีวิตคู่ให้เข้าใจกันมากขึ้นด้วย

  • จัดมุมโปรดให้ลูก

หามุมปลอดภัยที่เจ้าตัวน้อยจะเพลิดเพลิน และเล่นสนุกคนเดียวได้อย่างสบายใจ โดยอาจใช้เป็นคอกเด็กเล็ก ๆ กั้นไว้พร้อมของเล่น หรือหนังสือเล่มโปรด ในระหว่างที่ลูกสนุกอยู่กับกิจกรรม เราก็ใช้เวลานี้ไปจัดการอย่างอื่นได้ ไม่ต้องคอยระแวงกับเสียงร้องงอแง หรือจดจ่อดูแลลูกจนเป็นพ่อแม่หมดไฟ

  • นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ

การนอนคือยาชั้นดีสำหรับร่างกาย หากพักผ่อนน้อยกว่า 6-8 ชั่วโมงต่อวัน จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง รู้สึกหงุดหงิดง่าย น้ำหนักขึ้น และเสี่ยงปัญหาสุขภาพอีกมากมาย พ่อแม่จึงควรหาเวลานอนให้เหมาะสม หรือนอนเท่าที่จะมีเวลานอนได้ เพราะหากอดนอนนานเกินไป ภาวะพ่อแม่หมดไฟก็จะมาเยือนแน่นอน

เมื่อมีลูก พ่อแม่ก็อยากจะทุ่มเทความรัก ความเอาใจใส่ และให้เวลาแก่พวกเขาเต็มที่ แต่เมื่อถึงคราวที่ร่างกายไม่ไหว เริ่มส่งสัญญาณเตือนภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout) เราก็ควรจะหยุดพักเพื่อชาร์จพลัง พร้อมดูแลกายใจให้ผ่อนคลาย ปล่อยวางหน้าที่ลงบ้าง เพราะการกดดันตัวเองมากไป เราอาจเลี้ยงลูกจนหมดไฟโดยไม่รู้ตัวนะคะ

SHARE

RELATED POSTS

ชวนพ่อแม่ดูแลโภชนาการเด็กให้ดีสมวัย เลี่ยงภัยอ้วน-เบาหวาน | Advertorial…
เผยวิธีห่อตัวทารกอย่างไรให้ลูกปลอดภัย สบายตัว พร้อมรับโลกใบใหม่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังข้องใจเกี่ยวกับวิธีห่อตัวทารกว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงให้ถูกต้องและปลอดภัย…