Search
Close this search box.

ชวนพ่อแม่ดูแลโภชนาการเด็กให้ดีสมวัย เลี่ยงภัยอ้วน-เบาหวาน | Advertorial

โภชนาการเด็กเป็นรากฐานสำคัญในการก้าวเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีในอนาคต โดยเฉพาะในวัยเรียนที่พ่อแม่มักจะเริ่มให้ความสำคัญกับอาหารการกินของลูกลดน้อยลง และเด็กสามารถเลือกทานอาหารด้วยตัวเองได้ จึงทำให้บางครั้งเด็กได้รับสารอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมาย

นอกจากนี้ จากรายงานของกรมสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2563 ยังเผยว่า เด็กไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารตามความชอบถึง 27.7% ในขณะที่มีเด็กคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการเพียง 8.1% ดังนั้น หน้าที่สำคัญของพ่อแม่คือการช่วยดูแลโภชนาการเด็กให้ลูกหลานได้รับสารอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัย เพื่อเลี่ยงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดจากพฤติกรรมการกิน

ดูแลโภชนาการเด็กอย่างไรให้เหมาะสมกับวัย

การดูแลโภชนาการเด็กไม่เพียงแต่ช่วยให้ร่างกายของเด็กเติบโตได้อย่างเต็มที่เท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการอีกด้วย โดยสารอาหารที่เด็กทุกช่วงวัยควรได้รับ มีดังนี้

  • โปรตีน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และฮอร์โมนของเด็ก พร้อมทั้งช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
  • คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และมีการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล เพื่อให้สมองดึงกลูโคสมากระตุ้นการทำงานของร่างกาย ช่วยปรับอารมณ์ของเด็กอีกด้วย
  • ผักและผลไม้ เป็นอาหารที่ประกอบไปด้วยสารอาหารหลากหลายชนิด เช่น วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของเด็กทำงานได้ปกติ และเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค
  • ไขมัน เป็นแหล่งพลังงานที่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย กระตุ้นการทำงานของสมอง และช่วยละลายวิตามินบางชนิดเพื่อดูดซึมสู่ร่างกาย
  • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟันของเด็ก
  • ธาตุเหล็ก ช่วยให้เม็ดเลือดทำงานได้อย่างสมดุล
  • สังกะสี ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

การดูแลโภชนาการเด็กนอกจากจะช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนแล้ว ปริมาณสารอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัยก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพื่อให้ลูกหลานได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการและป้องกันการเกิดปัญหาทุพโภชนาการที่อาจเกิดจากการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโภชนาการเด็กในวัย 6-12 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากนิตยสาร ‘EMS ฉบับที่ 1 ตอน สามประสาน สร้างสมดุล Healthy & Happy Kids’ ได้แนะนำว่า เด็กที่มีอายุ 6 – 8 ปี ควรได้รับพลังงาน 1,400 กิโลแคลอรีต่อวัน ในขณะที่เด็กอายุ 9 – 12 ปี ต้องการพลังงาน 1,700 กิโลแคลอรีต่อวัน ฉะนั้น ยิ่งอายุเพิ่มขึ้น พลังงานที่ควรได้รับก็แตกต่างกันออกไป

โภชนาการเด็ก ใน 1 วัน ควรให้กินอะไรบ้าง

เด็กวัย 6 – 9 ปี

  • นมสด 1-2 แก้ว (แก้วละ 200 ซีซี.)
  • ไข่ 1 ฟอง
  • ข้าว หรืออาหารที่มีแป้ง 3 ถ้วยตวง (6 ทัพพี)
  • เนื้อสัตว์ 5 – 6 ช้อนโต๊ะ
  • ผักใบเขียว5 – 1 ถ้วยตวง (2 ทัพพี)
  • ผลไม้ มื้อละ 1 ส่วน
  • ไขมัน 1 – 2 ช้อนโต๊ะ

เด็กวัย 10 – 12 ปี

  • นมสด 1-2 แก้ว (แก้วละ 200 ซีซี.)
  • ไข่ 1 ฟอง
  • ข้าว หรืออาหารที่มีแป้ง 3 – 4 ถ้วยตวง (6 – 8 ทัพพี)
  • เนื้อสัตว์ 6 – 7 ช้อนโต๊ะ
  • ผักใบเขียว 1 ถ้วยตวง (2 ทัพพี)
  • ผลไม้ มื้อละ 1 ส่วน
  • ไขมัน 1 – 2 ช้อนโต๊ะ

‘โรคเบาหวาน’ ภัยสุขภาพจากการได้รับโภชนาการเด็กที่ไม่เหมาะสม

กรมอนามัยเผยว่าในปี พ.ศ. 2573 ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปีทั่วโลกมีแนวโน้มอ้วนเพิ่มขึ้น 1 เท่า จากโภชนาการเด็กที่ไม่เหมาะสม รวมถึงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เคยมีภาวะอ้วนในวัยเด็ก ซึ่งสาเหตุล้วนมาจากพฤติกรรมการกิน

ยิ่งไปกว่านั้นโรคส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มักจะไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะแรก แต่จะค่อย ๆ สะสมความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นอาการเรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อชีวิตในท้ายที่สุด รวมถึงต้องใช้ระยะเวลารักษายาวนานทำให้เด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้ตามช่วงวัย

โรคเบาหวานในเด็กเป็นภัยสุขภาพจากโภชนาการเด็กที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในปัจจุบัน เนื่องจากมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นที่จำนวนเพิ่มมากขึ้นสวนทางกับอัตราการเกิดที่น้อยลง และโรคเบาหวานยังเป็นบ่อเกิดไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ซึ่งการเฝ้าระวังโรคเบาหวานในเด็ก พ่อแม่สามารถเช็กสัญญาณของโรคได้จาก 8 อาการ ตามคำแนะนำของ สสส. ซึ่งจะช่วยให้ดูแลโภชนาการเด็กได้อย่างทันเวลา

  1. ทานอาหารเยอะ แต่ยังหิวบ่อย ถึงแม้จะเพิ่งรับประทานอาหารไปได้ไม่นาน และไม่ได้ใช้พลังงานเยอะเป็นพิเศษ
  2. ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากร่างกายพยายามขับน้ำตาลในเลือดผ่านทางปัสสาวะ
  3. หิวน้ำบ่อย เพราะร่างกายเสียน้ำจากการปัสสาวะบ่อย
  4. ปัสสาวะรดที่นอน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้
  5. น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากร่างกายไม่มีอินซูลินเพียงพอ จึงไม่สามารถดึงน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้
  6. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เนื่องจากขาดพลังงานจากน้ำตาลในเลือด และเสียน้ำและแร่ธาตุจากการปัสสาวะ
  7. ติดเชื้อที่ผิวหนังง่ายกว่าปกติ เนื่องจากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
  8. ติดเชื้อในช่องคลอด เฉพาะในเด็กผู้หญิง

ดูแลโภชนาการเด็กอย่างไร? ให้สุขภาพดีห่างไกลโรค

การดูแลโภชนาการเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตได้อย่างมีสุขภาพดี และห่างไกลจากโรคต่าง ๆ จากคู่มือ ‘EMS สร้างสมดุลให้สมวัย ฉบับที่ 6 : สามสมดุลลดเสี่ยงโรค NCDs’ ได้เผยแนวทางพฤติกรรมการกินที่ดีไว้ ดังนี้

  1. อาหารว่างห้ามขาด เด็กควรทานอาหารทุก 3 – 4 ชั่วโมง และได้ทานอาหารว่างที่มีประโยชน์ เพื่อเลี่ยงการกินขนมกรุบกรอบ หรือทานอาหารในแต่ละมื้อหนักเกินไป
  2. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากพ่อแม่เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อลูกมาก และลูกมักจะเลียนแบบพฤติกรรมจากคนใกล้ตัวอย่างพ่อแม่
  3. กินอาหารเหมือนพ่อแม่ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีลักษณะการกินที่ดี ไม่ตามใจปาก
  4. งดดูจอระหว่างทานอาหาร และสร้างบรรยากาศที่ดีบนโต๊ะอาหาร ช่วยให้เด็กรู้สึกดีและมีพฤติกรรมการกินที่ดี
  5. กินให้พอดี กับพลังงานที่จำเป็นในแต่ละวัน
  6. สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งในตู้เย็นและบนโต๊ะอาหาร เพื่อความเคยชินต่ออาหารที่มีประโยชน์

สุขภาพดี ไม่ใช่แค่โภชนาการเด็ก

สสส. แนะนำว่านอกจากการดูแลโภชนาการเด็ก การส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกาย และการพักผ่อนที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อช่วยให้ลูกได้มีสุขภาพดีสมวัยในทุกมิติตามหลัก ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ด้านที่เชื่อมโยงสุขภาพของเด็กไว้อย่างสมดุล ได้แก่

1. Eat กินดี

การกินอาหารที่พอดีและถูกต้องตามหลักโภชนาการเด็กเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยสร้างร่างกายและจิตใจที่สมดุล เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีพื้นฐานสุขภาพดีในวันข้างหน้า

2. Move วิ่งเล่น

การขยับร่างกายนอกจากช่วยให้ร่างกายของเด็กแข็งแรงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้อีกด้วย เนื่องจากการขยับกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และส่งเสริมสุขภาพจิตไปพร้อม ๆ กัน

3. Sleep นอนพอ

พ่อแม่หลายคนอาจมองข้ามการนอน แต่แท้จริงแล้วการพักผ่อนมีความสำคัญกับการเจริญเติบโตของเด็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย (Growth Hormone) จะผลิตได้มากในช่วงกลางคืนขณะที่เด็กนอนหลับ

พ่อแม่คือบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพลูกน้อย ดังนั้นหน้าที่ของพ่อแม่คือการช่วยดูแลโภชนาการเด็กที่เหมาะสมกับวัย พร้อมทั้งการส่งเสริมให้ลูกได้มีกิจกรรมทางกาย และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพราะพื้นฐานสุขภาพดีควรเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก

SHARE

RELATED POSTS

รู้จักภาวะ ‘Parental Burnout’ เมื่อพ่อแม่เลี้ยงลูกจนหมดไฟ…
เผยวิธีห่อตัวทารกอย่างไรให้ลูกปลอดภัย สบายตัว พร้อมรับโลกใบใหม่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังข้องใจเกี่ยวกับวิธีห่อตัวทารกว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงให้ถูกต้องและปลอดภัย…