Search
Close this search box.
สิทธิเด็ก

5 ข้อ Do & Don’t โพสต์รูปลูกลงโซเชียลยังไง ไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก

เมื่อเจ้าตัวน้อยอยู่ในวัยน่ารัก พ่อแม่ก็อยากจะแชร์โมเมนต์ที่ประทับใจให้โลกโซเชียลได้ชื่นชม จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิเด็กโดยไม่รู้ตัว ซึ่งรูปภาพเหล่านั้นจะกลายเป็น Digital Footprint บนโลกออนไลน์ การโพสต์รูปลูกลงโซเชียลจึงไม่ใช่แค่การ ‘แชร์’ แต่เป็นการติดตราประทับ ปั๊มรอยเท้าดิจิทัลที่อาจส่งผลร้ายในอนาคต ก่อนโพสต์จึงควรหยุดคิดและพินิจถึง Do & Don’t ที่ Cotton Baby รวบรวมมาให้ จะได้ไม่กลายเป็น ‘Sharenting’ พ่อแม่ที่แชร์เรื่องราวของลูกจนเกินงามค่ะ

เลี้ยงลูกแบบ Sharenting เสี่ยงละเมิดสิทธิเด็ก

Sharenting ละเมิดสิทธิเด็ก

ในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต พฤติกรรมอวดลูกออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคม พจนานุกรม คอลลินส์ (Collins Dictionary) จึงบัญญัติการกระทำนี้ว่า ‘Sharenting’ ซึ่งมาจากการรวมคำของ ‘Share (แบ่งปัน) + Parenting (การเลี้ยงลูก)’ แปลให้เข้าใจได้ว่า ‘พ่อแม่ที่แชร์เรื่องราวของลูกบนโซเชียลมากเกินไป’ จนนำไปสู่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิเด็ก โดยเฉพาะวัยที่ยังไม่สามารถให้ความยินยอมได้ว่า “การโพสต์รูปลูกแบบนี้เหมาะสมหรือไม่?”

แค่โพสต์รูปถ่าย อันตรายตรงไหน?

ช่วงเวลาที่ลูกน้อยกำลังพูดเจื้อยแจ้วมันช่างผ่านไปไว พ่อแม่อย่างเราก็อยากจะเก็บความน่ารักนี้ไว้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่เพราะอินเทอร์เน็ตไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว เรื่องราวที่แชร์ไว้จะกลายเป็น Digital Footprint ที่อาจกลับมาทำร้ายลูกและครอบครัวในภายหลัง ถ้ารูปถ่าย, ชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่ หรือการเช็กอินของพ่อแม่กลายเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ เด็กอาจถูกคุกคามทางเพศ, สวมรอยทำธุรกรรมเถื่อน หรือใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างร้ายแรงค่ะ

โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University) และ มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กอายุ 10-17 ปีที่เติบโตในยุคโซเชียลมีเดีย ต้องการให้ขออนุญาตก่อนโพสต์เรื่องราวของตัวเอง ในขณะที่บางส่วนรู้สึกกังวล เมื่อพ่อแม่โพสต์ภาพถ่ายลงในสื่อโซเชียล จากความรู้สึกกดดันที่เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการอวด หรือแสดงความภาคภูมิใจของพ่อแม่

ซึ่งการ ‘อวดลูก’ นั้นเป็นเรื่องที่หลายครอบครัวมักจะทำกันอยู่แล้ว แต่เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นเหมือนฉากหน้าแห่งความสวยงาม เรื่องราวของลูกจึงกลายเป็นเรื่องราวของพ่อแม่ด้วย การโพสต์อวดความสำเร็จของลูก จึงเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความสำเร็จของพ่อแม่ โดยวัยที่มักถูกละเมิดสิทธิเด็กอยู่เป็นประจำคือ เด็กเล็กและทารกที่ยังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงละเลยเรื่องสิทธิเด็กในการรักษาความเป็นส่วนตัว เพราะคิดว่าลูกยังไม่รู้ความนั่นเองค่ะ

แค่โพสต์รูปลูก ละเมิดสิทธิเด็กยังไง?

แม้จะเข้าใจเรื่อง Digital Footprint แต่ถ้ารูปที่ลงไม่ส่งผลร้าย จะถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กไหม? คำตอบคือ เป็นค่ะ ตามอนุสัญญาสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ในประเภทที่ 2 ว่าด้วย ‘สิทธิเด็กที่จะได้รับความคุ้มครองจากการถูกละเมิดชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัว การดูหมิ่น หรือการแสวงหาผลประโยชน์ทุกรูปแบบ’ ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนกว่า 196 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยเองก็เป็น 1 ในภาคีสมาชิก จึงมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ยังมีข้อกฎหมายครอบคลุมเรื่องการเผยแพร่ภาพถ่าย คลิป หรือเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียอีกด้วย

ในเมื่อการโพสต์รูปถ่ายอาจเสี่ยงอันตรายแบบนี้ พ่อแม่ยังพอมีวิธีให้แสดงออกถึงความน่ารัก น่าเอ็นดูของลูกน้อยอยู่หรือเปล่า? ถ้าอยากรู้คำตอบ ตาม Cotton Baby มาดู 5 ข้อ Do & Don’t ที่ควรรู้ ถ้าอยากโพสต์รูปลูกแบบไม่ละเมิดสิทธิเด็กกันได้เลยค่ะ

5 Do & Don’t ทำตามได้ ไม่เสี่ยงอันตรายต่อลูก

เคารพสิทธิเด็กและความเป็นส่วนตัว

1. เคารพสิทธิเด็กและความเป็นส่วนตัว

ก่อนกดโพสต์ควรตั้งสติแล้วหยุดคิดสักนิด พิจารณาถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้น หากเนื้อหานี้ถูกเผยแพร่ออกไป โดยไตร่ตรองถึงความเหมาะสมและไม่ละเมิดสิทธิเด็ก เช่น ไม่เป็นรูปภาพล่อแหลม หรือไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป

เคารพสิทธิเด็กก่อนโพสต์

2. ถามลูกก่อนโพสต์

เพราะเรื่องที่กำลังจะโพสต์เป็นเรื่องของลูก พ่อแม่จึงต้องได้รับความยินยอมจากลูกโดยตรงทุกครั้ง ถ้าเนื้อหานั้นสร้างความไม่สบายใจก็ไม่ควรโพสต์เด็ดขาดเลยนะคะ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิเด็กแล้ว ยังกระทบกับความสัมพันธ์ จนทำให้เกิดรอยร้าวในครอบครัวได้ค่ะ

เบลอภาพ เลี่ยงถ่ายหน้าตรง เคารพสิทธิเด็ก

การเบลอภาพถ่ายอาจทำให้รู้สึกขัดใจที่ไม่สามารถอวดความน่ารักของลูกได้เต็มที่ แต่เพื่อความปลอดภัยแล้ว พ่อแม่ควรปิดบังใบหน้าบางส่วนหรือใส่เซนเซอร์ไว้ ป้องกันการถูกมิจฉาชีพและผู้ประสงค์ร้ายนำภาพไปใช้ในทางที่ผิดค่ะ

ไม่เช็กอินเรียลไทม์ เคารพสิทธิเด็ก

4. ไม่เช็กอินบอกพิกัดแบบเรียลไทม์

การเช็กอิน อวดว่าเคยไปเที่ยวที่ไหนมาบ้างกลายเป็นเทรนด์ที่ผู้คนนิยมทำตาม เพราะได้มีโอกาสแชร์สถานที่และรูปภาพ พร้อมบันทึกเรื่องราวของวันได้ในโพสต์เดียวกัน แต่สิ่งนี้กลับเป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพสามารถสะกดรอยตาม และเข้าถึงเราได้ง่ายขึ้น ซึ่งการงดเช็กอินแบบเรียลไทม์ จะช่วยให้เราและลูกปลอดภัยมากขึ้นค่ะ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว สิทธิเด็ก

5. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เฉพาะครอบครัวเท่านั้น

ถ้าอยากอวดความน่ารักของลูกจนอดใจไม่ไหว พ่อแม่ควรเลือกเผยแพร่เฉพาะกลุ่มเพื่อนสนิท ญาติ หรือคนที่ไว้ใจได้ เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล พร้อมรักษาให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวอย่างแท้จริง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยป้องกันมิจฉาชีพ และยังสร้างโซเชียลมีเดียให้กลายเป็นอัลบั้มออนไลน์ที่มาย้อนดูพร้อมกันได้ทั้งครอบครัว

ในเมื่อเจ้าตัวเล็กน่ารักขนาดนี้ จะแชร์โมเมนต์ความสุขสักหน่อยคงไม่เป็นไร แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเตือนใจไว้เสมอคือ ‘การเคารพความเป็นส่วนตัว’ แม้ว่าลูกจะยังโต้ตอบไม่ได้ แต่ในอนาคตเขาอาจจะรู้สึกไม่สบายใจกับรูปถ่ายที่เราโพสต์ได้นะคะ ดังนั้นก่อนโพสต์จึงควรไตร่ตรอง Do & Don’t ทั้ง 5 ข้อให้ดี เพื่อไม่ให้บันทึกความทรงจำนี้กลายเป็นการละเมิดสิทธิเด็กค่ะ

https://urbancreature.co/sharenting-children-privacy-online/

https://www.sosthailand.org/blog/childrens-rights-and-photography

นภาวรรณ อาชาเพ็ชร., มัณฑนา ภาคสุวรรณ์., ภควิชญ์ ดำรงเกียรติศักดิ์., การแบ่งปันข้อมูลลูกบนโซเชียลมีเดีย สิทธิเด็กที่พ่อแม่มองข้าม, วารสารบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ ราชมงคลล้านนา (2564)

SHARE

RELATED POSTS

‘ฟันน้ำนม’ สำคัญกว่าที่คิด ชวนพ่อแม่มาดูแลฟันลูกน้อยตั้งแต่ซี่แรก หนึ่งในพัฒนาการสำคัญของลูกน้อยวัยทารกนั่นก็คือ…