Search
Close this search box.
ฟันน้ำนม

‘ฟันน้ำนม’ สำคัญกว่าที่คิด ชวนพ่อแม่มาดูแลฟันลูกน้อยตั้งแต่ซี่แรก

หนึ่งในพัฒนาการสำคัญของลูกน้อยวัยทารกนั่นก็คือ ‘การขึ้นของฟันน้ำนม’ ทำให้การกินอาหารของลูกน้อยเริ่มที่จะหลากหลายมากขึ้น ซึ่งการดูแลฟันน้ำนมนั้นสำคัญไม่แพ้กับฟันแท้เลยนะคะ คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่คิดว่าเดี๋ยวฟันน้ำนมก็หลุดไปตามธรรมชาติแล้ว รอดูแลชุดใหญ่ตอนฟันแท้ขึ้นทีเดียวคงไม่เป็นไร Cotton Baby ขอบอกเลยว่า…ถึงวันนั้นอาจสายเกินแก้ได้ค่ะ จะดีกว่าไหม? ถ้าเราเริ่มต้นดูแลสุขภาพฟันของลูกน้อยให้แข็งแรงตั้งแต่ฟันน้ำนม เพราะฟันที่แข็งแรงจะส่งผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้านของลูก

ทำความรู้จัก ฟันน้ำนม คืออะไร

‘ฟันน้ำนม’ คือ ฟันชุดแรกที่จะเริ่มขึ้นเมื่อเด็กอายุเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน หรืออาจจะ 3-4 เดือนในเด็กที่ฟันขึ้นเร็ว และค่อย ๆ ขึ้นจนครบ ถึงอายุประมาณ 3 ขวบ จากนั้นฟันน้ำนมจะเริ่มหลุดเพื่อให้ฟันแท้ที่อยู่ใต้กระดูกขากรรไกรขึ้นมาแทนที่ ในช่วงอายุ 6-7 ปี ไปจนถึง 12 ปี ซึ่งฟันน้ำนมมีทั้งหมด 20 ซี่ ประกอบด้วย

ลำดับการขึ้น ฟันน้ำนม

ฟันบน

  • ฟันหน้าซี่กลาง (Central incisors) จำนวน 2 ซี่

ขึ้น : 8-12 เดือน

หลุด : 7-8 ปี

  • ฟันหน้าซี่ข้าง (Lateral incisors) จำนวน 2 ซี่

ขึ้น : 9-13 เดือน

หลุด : 8-9 ปี

  • ฟันเขี้ยว (Canines) จำนวน 2 ซี่

ขึ้น : 16-22 เดือน

หลุด : 11-12 ปี

  • ฟันกรามซี่ที่ 1 (First molars) จำนวน 2 ซี่

ขึ้น : 13-19 เดือน

หลุด : 10-11 ปี

  • ฟันกรามซี่ที่ 2 (Second molars) จำนวน 2 ซี่

ขึ้น : 25-33 เดือน

หลุด : 12-13 ปี

ฟันล่าง

  • ฟันหน้าซี่กลาง (Central incisors) จำนวน 2 ซี่

ขึ้น : 6-10 เดือน

หลุด : 6-7 ปี

  • ฟันหน้าซี่ข้าง (Lateral incisors) จำนวน 2 ซี่

ขึ้น : 10-16 เดือน

หลุด : 7-8 ปี

  • ฟันเขี้ยว (Canines) จำนวน 2 ซี่

ขึ้น : 17-23 เดือน

หลุด : 9-10 ปี

  • ฟันกรามซี่ที่ 1 (First molars) จำนวน 2 ซี่

ขึ้น : 14-18 เดือน

หลุด : 10-12 ปี

  • ฟันกรามซี่ที่ 2 (Second molars) จำนวน 2 ซี่

ขึ้น : 23-31 เดือน

หลุด : 11-13 ปี

ความสำคัญของฟันน้ำนม ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

ความสำคัญ ฟันน้ำนม

แม้ว่าฟันชุดแรกอย่างฟันน้ำนมจะอยู่กับลูกน้อยเพียงชั่วคราว แต่การดูแลฟันน้ำนมก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ต่างกับการดูแลฟันแท้ของผู้ใหญ่เลย เนื่องจากฟันน้ำนมเป็นรากฐานสู่สุขภาพและความเป็นอยู่ดีของลูกในอนาคต ซึ่งฟันน้ำนมมีหน้าที่สำคัญต่าง ๆ ดังนี้

  • ฟันน้ำนม ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร

แน่นอนว่าหน้าที่หลักของฟันน้ำนม คือใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร ดังนั้น ฟันน้ำนมจึงมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยโดยตรง หากลูกมีฟันผุและต้องสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนถึงเวลาอันควร จะทำให้ได้รับสารอาหารไม่เหมาะสมตามวัย รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย เช่น โรคทางเดินอาหาร อาการไม่อยากอาหาร เจริญเติบโตไม่เต็มที่ เป็นต้น

  • ฟันน้ำนม ช่วยให้ลูกออกเสียงถูกต้องชัดเจน

ปาก ลิ้น และฟันเป็นอวัยวะพื้นฐานที่ใช้ในการออกเสียง การมีฟันน้ำนมครบและอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องก็จะช่วยให้ลูกน้อยออกเสียงต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและชัดเจน การดูแลฟันน้ำนมของลูกจนกว่าฟันแท้จะขึ้นจนครบจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อพัฒนาการด้านการพูดและสื่อสารเป็นอย่างมาก หากละเลยการดูแลฟันน้ำนมไปนาน ๆ จนกระทบให้พูดแล้วออกเสียงไม่ชัดจะส่งผลให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ ไม่กล้าพูดจา และอาจติดเป็นบุคลิกไปจนโตได้อีกด้วย

  • ฟันน้ำนม เสริมสร้างความมั่นใจให้ลูกน้อย

เพราะรอยยิ้มคือสิ่งที่สร้างเสน่ห์ให้กับคนทุกวัย ยิ่งเด็ก ๆ มีฟันที่เรียงสวยก็จะยิ่งส่งเสริมให้เด็กกล้าที่เผยรอยยิ้มได้อย่างมั่นใจมากขึ้น แต่ในทางกลับกันหากเด็กมีฟันผุหรือฟันหลอก็อาจจะเสียความมั่นใจจากการโดนล้อเลียน จนทำให้ไม่ค่อยยิ้ม ไม่ค่อยพูด และในที่สุดจะส่งผลต่อการเรียนรู้ตามวัย

  • ฟันน้ำนม ช่วยเตรียมพื้นที่ให้ฟันแท้

ในขณะที่ฟันแท้กำลังก่อตัวเตรียมจะขึ้นมา ฟันน้ำนมก็กำลังทำหน้าที่กันพื้นที่ว่างในขากรรไกร เพื่อให้ฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมที่หลุดไป หากลูก ๆ ต้องสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาที่สมควรจะทำให้ฟันน้ำนมที่อยู่ข้าง ๆ ล้มหรือเกมาเบียดช่องว่าง จนทำให้พื้นที่สำหรับฟันแท้ลดลงและขึ้นมาผิดตำแหน่ง ส่งผลให้เกิดปัญหาฟันซ้อน ฟันเกที่จะต้องแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต

ฟันน้ำนมผุ ผลลัพธ์จากการละเลยที่จะดูแลสุขภาพ

ฟันน้ำนมผุ

แม้จะเป็นฟันน้ำนมแต่ถ้าดูแลไม่ดีหรือผิดวิธีก็ทำให้เกิดฟันน้ำนมผุได้เหมือนกันนะคะ Cotton Baby มีคำตอบมาให้แล้วว่าสาเหตุของฟันน้ำนมผุเกิดจากอะไรบ้าง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยดูแลและปกป้องฟันชุดแรกของลูกรักได้อย่างเหมาะสม

  • การทำความสะอาดฟันน้ำนมไม่ถูกวิธี

ตามธรรมชาติของเด็กเล็กมักจะไม่ค่อยชอบแปรงฟัน โดยเฉพาะช่วงที่ฟันเริ่มขึ้นที่จะรู้สึกเจ็บเหงือกเป็นพิเศษ รวมถึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการทำความสะอาดฟันน้ำนมมากนัก เพราะยังไม่รู้ถึงผลเสียของฟันผุหรือการสูญเสียฟันน้ำนม ดังนั้น หน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่คือการชี้แนะ และเป็นตัวอย่างให้ลูกรู้ความสำคัญและวิธีการทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกต้องและเหมาะสม

  • พฤติกรรมการกินก็มีผลต่อฟันน้ำนม

การกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฟันน้ำนมผุได้ง่าย เนื่องจากแบคทีเรียในช่องปากจะทำหน้าที่ย่อยน้ำตาล ทำให้ผิวเคลือบฟันของลูกที่มีน้ำตาลตกค้างอยู่ถูกแบคทีเรียทำลายได้ โดยเฉพาะการปล่อยให้ลูกหลับคาขวดนมก็จะยิ่งทำให้เกิดการสะสมน้ำตาลในช่องปาก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เวลาทานอาหาร ช่องปากจะอยู่ในสภาวะเป็นกรดเพื่อช่วยย่อยอาหาร ดังนั้น การทานอาหารจุบจิบตลอดเวลาก็จะทำให้ช่องปากมีสภาวะเป็นกรดนานยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผิวฟันถูกกรดละลายและผุได้เช่นกันค่ะ

  • โครงสร้างฟันน้ำนมไม่สมบูรณ์

นอกจากพฤติกรรมของลูกน้อยแล้ว โครงสร้างของฟันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ฟันน้ำนมของลูกมีปัญหาได้ โดยปัญหาโครงสร้างฟันไม่สมบูรณ์อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ของคุณพ่อคุณแม่ หรือพฤติกรรมการดูแลตนเองของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เช่น การได้รับวิตามินหรือสารอาหารไม่เพียงพอ และการคลอดก่อนกำหนดที่ทำให้ร่างกายของเด็กยังไม่เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ โดยสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลำดับการขึ้นของฟันน้ำนม เพื่อการสังเกตสุขภาพฟันของลูกน้อยได้ที่บทความ รู้ลำดับการขึ้นและหลุดของฟันน้ำนมแล้วมีประโยชน์อย่างไร?

วิธีดูแลสุขภาพฟันน้ำนมของลูกน้อยให้แข็งแรง

เคล็ดลับดูแล ฟันน้ำนม

ปัญหาฟันน้ำนมผุสามารถเกิดขึ้นกับเด็กเล็กได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างสุขภาพช่องปากและฟันของลูกให้แข็งแรงได้ตั้งแต่ซี่แรกด้วยวิธีที่ถูกต้อง ดังนี้

  • ปลูกฝังการแปรงฟันที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ

โดยพื้นฐานการดูแลสุขภาพฟันที่ดี เด็ก ๆ ควรได้รับแปรงฟันอย่างนั้นวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและก่อนนอน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการดูแลสุขภาพฟันให้กับลูก โดยในช่วงแรกอาจจะเริ่มต้นด้วยการแปรงฟันร่วมกัน หรือให้ลูกทดลองแปรงฟันด้วยตนเอง แล้วช่วยแปรงซ้ำให้ทั่วถึง เพื่อเป็นแบบอย่างการดูแลความสะอาดของช่องปากที่ถูกต้องให้กับลูก

  • เลือกใช้ยาสีฟันและแปรงสีฟันที่เหมาะสม ช่วยป้องกันฟันน้ำนมผุ

ในการเลือกแปรงสีฟันและยาสีฟันให้ลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยเคลือบผิวฟันทำให้ฟันมีความแข็งแรงทนทานต่อกรดในช่องปาก ส่วนแปรงสีฟันก็เป็นอีกอุปกรณ์ที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยควรเลือกแปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม ขนาดเหมาะสมกับช่องปากของลูกน้อย ไม่ควรนำแปรงสีฟันของผู้ใหญ่ให้เด็กใช้

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการทานอาหารที่เสี่ยงทำร้ายฟันน้ำนม

อย่างที่ได้บอกไปว่าหลาย ๆ พฤติกรรมการทานอาหารเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ฟันน้ำนมของลูกน้อยผุได้ ดังนั้น หน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่คือการฝึกให้ลูก ๆ ทานอาหารเป็นเวลา เลี่ยงการทานจุบจิบ โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวและอาหารที่มีน้ำตาลสูง

  • สังเกตสภาพฟันน้ำนมของลูกอยู่เสมอ

หากพบว่าลูกมีฟันผุ มีอาการปวดฟัน หรือฟันน้ำนมผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยเอาไว้ และควรพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

  • พบทันตแพทย์ เพื่อดูแลฟันน้ำนมเป็นประจำ

บางครั้งการสังเกตฟันน้ำนมด้วยตาเปล่า อาจทำให้มองไม่เห็นฟันผุที่มีขนาดเล็กหรืออยู่ในซอกฟัน กว่าจะรู้ตัวอีกทีฟันของลูกก็ถูกทำลายจนสายเกินไปเสียแล้ว เพราะแบบนี้…การพาลูกไปพบทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ซึ่งสามารถเริ่มเข้าพบคุณหมอได้เลยตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น ประมาณช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 1 ขวบ ไม่ต้องรอให้เกิดฟันผุก่อน อีกทั้งยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการไปหาหมอฟัน และไม่หวาดกลัวการทำฟันด้วยนะคะ

ฟันน้ำนมของลูกน้อย เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีและสมวัยสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ถึงความสำคัญของการดูแลฟันน้ำนมแล้ว อย่าลืมที่จะใส่ใจและพาพบทันตแพทย์เป็นประจำนะคะ

SHARE

RELATED POSTS

ลำดับการขึ้นและหลุดของฟันน้ำนม ซี่ไหนควรขึ้นเมื่อไหร่นะ? ฟันน้ำนม เป็นฟันชุดแรกของลูกน้อยที่ขึ้นมาเพื่อใช้บดเคี้ยวอาหารในช่วงแรก…