Search
Close this search box.

พ่อแม่ระวัง! ปล่อยให้เด็กติดจอมากไป อาจกลายเป็น TikTok Brain

เมื่อเด็ก ๆ เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ปัญหาหนักใจเรื่องใหม่ก็ตามมาด้วย นั่นคือ ‘เด็กติดจอ’ ซึ่งเป็นอาการที่ลูกสนใจโลกออนไลน์มากกว่าชีวิตจริง ส่งผลให้ขาดปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่สุ่มเสี่ยงมากมาย โดยแอปพลิเคชันที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ‘TikTok’ หากปล่อยให้เล่นมากไป ลูกอาจเสี่ยงเป็น ‘TikTok Brain’ หรือ ภาวะสมาธิสั้นจากการดูคลิปสั้นได้ ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่ส่งผลร้ายต่อพัฒนาการทางสมอง วันนี้ Cotton Baby จึงเตรียมวิธีรับมือ เพื่อดูแลเด็ก ๆ ไม่ให้สมาธิสั้นมาฝากกันค่ะ

เสพสื่อมากไป อาจทำให้ลูกกลายเป็น ‘เด็กติดจอ’

อาการเด็กติดจอ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทุกครอบครัว โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย ผ่าน Internet of Things (IoT) และอุปกรณ์สมาร์ตโฟนที่มีแอปพลิเคชันน่าสนใจมากมาย จึงกลายเป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ เลือกให้ความสนใจมากกว่าการอ่านหนังสือ หรือดูโทรทัศน์เหมือนสมัยก่อน ส่งผลให้เด็ก Gen Alpha ที่เกิดในช่วง ค.ศ. 2010-ปัจจุบัน มีพฤติกรรมการรับสารต่างจากเจเนอเรชันอื่น ซึ่งการเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีก็มีข้อดีคือ ทำให้เด็ก ๆ คุ้นเคยกับการใช้สื่อ มีทักษะทางคอมพิวเตอร์ และสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว จนมีการเปรียบเปรยว่า Gen Alpha คือกลุ่มคนที่ฉลาดที่สุด” เพราะเกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีมีคำตอบทุกอย่างให้ แต่สิ่งนี้กลับเป็นดาบสองคม เมื่อสื่อออนไลน์ไม่มีเวลากำหนดเหมือนภาพยนตร์ รายการ หรือการ์ตูน ทำให้ลูกมักจะเพลิดเพลินกับความบันเทิงจนลืมเวลา กลายเป็นที่มาของอาการเด็กติดจอในที่สุดนั่นเองค่ะ

TikTok แอปพลิเคชันที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กติดจอ

แอปพลิเคชัน ‘TikTok’ แพลตฟอร์มสร้างวิดีโอยอดนิยมจากประเทศจีน นำเสนอเนื้อหาแบบกระชับ สนุก เข้าใจง่าย สามารถดูจบได้ในเวลาอันรวดเร็ว ประกอบกับระบบจัดเรียงคลิปตามความสนใจ (Algorithm) ด้วยฟังก์ชันเหล่านี้จึงทำให้เด็ก ๆ สามารถใช้เวลาอยู่กับ TikTok ได้นานหลายชั่วโมง เพราะหลังจากคลิปจบก็จะมีคลิปใหม่ที่น่าสนใจผ่านเข้ามา จากเวลาดูคลิปแค่ 15 วินาที กลับลากยาวต่อเนื่องเป็นครึ่งค่อนวัน ส่งผลให้ลูกของเราเสพติดความบันเทิงขนาดสั้น นอกจากจะเป็นเด็กติดจอแล้ว ยังเสี่ยงต่ออาการ TikTok Brain และภาวะสมาธิสั้นได้อีกด้วย

TikTok ขนมหวานของสมอง ฝันร้ายของพ่อแม่

“แอปพลิเคชัน TikTok ก็เหมือนร้านขนมหวานที่เด็ก ๆ สามารถทานเท่าไหร่ก็ได้” คำกล่าวของ เจมส์ วิลเลียมส์ นักจริยธรรมจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Oxford University) อธิบายถึงความสนุกสนานของแอปพลิเคชันนี้ ด้วยตัวคลิปที่มีความกระชับ เน้นเนื้อหาที่ให้ความบันเทิงเป็นหลัก ทำให้เวลาดูคลิปแล้วจะรู้สึกเพลิดเพลิน เปรียบเสมือนของหวานสำหรับสมองที่ยิ่งกินก็ยิ่งชอบ ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งสารโดปามีนของสมอง สารที่กระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัวและมีความสุข สมองจึงเกิดการเรียนรู้ว่าทำแบบนี้แล้วจะรู้สึกดี ส่งผลให้เราทำพฤติกรรมแบบเดิมซ้ำ เช่น ทานอาหารที่ชอบ, ดูหนังเรื่องโปรด หรือกอดคนรัก ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับการดูคลิปในแอปพลิเคชัน TikTok เพราะเมื่อลูกรู้สึกสนุก สมองก็จะสั่งการให้ดูต่อเรื่อย ๆ จากความสนุกจึงเปลี่ยนเป็นการเสพติดโดยไม่รู้ตัว จนนำไปสู่การเป็น TikTok Brain นั่นเองค่ะ

TikTok Brain คืออะไร?

TikTok Brain คือพฤติกรรมของสมองที่เคยชินกับการดูคลิปสั้น ซึ่งการเสพสื่อรูปแบบนี้เป็นเวลานาน ส่งผลให้สมองส่วนบริหารและจัดการตนเอง (Pre-frontal Cortex) ใช้งานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ลูกขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ จนกลายเป็นเด็กติดจอ เสพติดความบันเทิงจากจอโทรศัพท์มากกว่าโลกภายนอก นอกจากนี้เนื้อหาที่เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว ยังทำให้สมองเคยชินกับความเร็ว ปฏิเสธการรอคอยและกิจกรรมที่ตัวเองไม่สนใจ เกิดเป็นภาวะสมาธิสั้น จนอาจสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตด้านอื่นด้วย

โดยศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า จากปี 2016-2019 จำนวนเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นเพิ่มขึ้นถึง 9.8% หรือกว่า 6 ล้านคน ซึ่งช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 12-17 ปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต นับเป็นปัญหาใหญ่ในยุคดิจิทัล ที่คุณพ่อคุณแม่ควรหาวิธีรับมืออย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่รีบแก้ไข อาจจะสายเกินการได้ค่ะ

รับมือเด็กติดจอยังไง ไม่ให้กลายเป็น TikTok Brain

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) ชี้ว่า มนุษย์จะสามารถพัฒนาสมองได้เต็มที่เมื่อมีอายุ 25-30 ปี โดยช่วงที่สมองเจริญเติบโตได้ดีที่สุดคือ 2-7 ปี หลังจากนั้นจะเป็นการพัฒนาเซลล์ประสาท และการทำงานในส่วนอื่น ดังนั้นการพัฒนาสมองของลูกน้อย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม ซึ่ง Cotton Baby ได้เตรียมวิธีรับมือ เพื่อยับยั้งพฤติกรรมเด็กติดจอ และป้องกันไม่ให้ลูกเสพติดคลิปสั้นจนกลายเป็น TikTok Brain มาฝากแล้วค่ะ

วิธีดูแลลูกให้ห่างไกลจากจากเป็น TikTok Brain

  • ใช้ระบบ Family Pairing

การเป็น TikTok Brain จากการดูคลิปใน TikTok นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งทางผู้พัฒนาก็เล็งเห็นถึงสิ่งนี้ จึงสร้างระบบสำหรับผู้ปกครอง (Family Pairing) ขึ้นมา เพื่อดูแลและควบคุมระยะเวลาการใช้งานในแอปพลิเคชัน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกเพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ เช่น การดู TikTok หลังจากทำการบ้านเสร็จ หรือจัดการสิ่งสำคัญเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอาการต่อต้านและสร้างวินัยที่ดีให้กับลูก นอกจากนี้ระบบ Family Pairing ยังสามารถกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชนได้อีกด้วย ถือเป็นระบบที่มีประโยชน์เลยทีเดียวค่ะ

  • ควบคุมการดูสื่อบันเทิงอย่างใกล้ชิด

แม้ว่าในแอปพลิเคชัน TikTok จะสามารถป้องกันเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องเฝ้าดูลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อคัดกรอง และป้องกันการเข้าใจผิดจากเนื้อหาบางประเภทที่อาจสร้างค่านิยม หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ยิ่งควรหลีกเลี่ยงสื่อขนาดสั้นอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นช่วงสำคัญที่สุดในการพัฒนาสมองค่ะ

  • ชักชวนทำกิจกรรมนอกบ้าน

ลองชวนลูกออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่สนใจดูบ้าง เช่น ปิกนิกนอกบ้าน หรือเที่ยวนอกสถานที่ เพื่อดึงความสนใจให้ออกห่างจากหน้าจอมากขึ้น การชวนทำกิจกรรมที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ เด็กจะรู้สึกสนุก เพลิดเพลิน นอกจากช่วยลดพฤติกรรมติดจอแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และช่วยฝึกสมาธิให้ลูกได้อีกด้วยนะคะ

  • ให้รางวัลเมื่อลูกทำได้ดี

เมื่อลูกทำตามข้อตกลงได้ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พูดชื่นชมในตัวเขา หรือให้รางวัล เป็นการส่งเสริมแรงกระตุ้นเชิงบวก ทำให้ลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น โดยสามารถให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อลูกเล่นโทรศัพท์ หรือดูคลิปใน TikTok ตามที่เราตกลงกันไว้ วิธีนี้จะทำให้เด็กรู้สึกดี มีแรงจูงใจ ช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดี และยังเป็นการสอนให้ลูกรู้จักกฎระเบียบได้ด้วยค่ะ

พฤติกรรมเด็กติดจอ และ TikTok Brain สามารถรับมือได้ เพียงคุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างใจเย็น สอนให้ลูกเข้าใจถึงความสำคัญของการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการลูกให้เติบโตสมวัย ไม่ใช้เวลากับเทคโนโลยีมากไป จนขาดสมดุลในการใช้ชีวิตค่ะ

SHARE

RELATED POSTS

รวมกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อย การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กวัยแรกเกิดถึง 3…