การใช้ถุงเก็บน้ำนมอย่างถูกวิธี

สต็อกนมแม่ทุกหยดให้คงคุณภาพ
ด้วยทริคการใช้ถุงเก็บน้ำนมอย่างถูกวิธี

ถุงเก็บน้ำนมคุณภาพดีเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับคุณแม่เพิ่งคลอด เพราะในช่วงนี้แม่จะมีปริมาณน้ำนมค่อนข้างมากจนลูกน้อยดื่มกันไม่ทัน คุณแม่บางท่านยังมีธุระต้องออกไปนอกบ้าน จึงไม่มีเวลาให้นมลูกด้วยตั้งเอง การสต็อกนมแม่ลงถุงเก็บน้ำนมจึงเป็นวิธีช่วยเก็บรักษาน้ำนมไว้ให้อยู่ได้นาน และยังคงรักษาคุณค่าทางอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการของลูกน้อยไว้ได้ดีไม่มีสูญหาย คุณแม่มือใหม่คนไหนเพิ่งมีโอกาสเริ่มเปิดใช้งานอุปกรณ์ชนิดนี้ ลองนำทริคการใช้ถุงเก็บน้ำนมอย่างถูกวิธีที่นำมาฝากวันนี้ไปปรับใช้กันดูนะ คอนเฟิร์มเลยว่าจะช่วยรักษาน้ำนมแม่ให้คุ้มค่าทุกหยดแน่นอน

การใช้ถุงเก็บน้ำนมอย่างถูกวิธี

ไล่อากาศออกทุกครั้งก่อนปิดถุงเก็บน้ำนม

ถุงเก็บน้ำนมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาในรูปแบบถุงซิปล็อกคล้ายถุงยา ซึ่งช่วยให้ปิดปากถุงได้สนิท เซฟน้ำนมไม่ให้ไหลหกเลอะเทอะเวลาวางแช่ในช่องฟรีซ และไม่ไหลออกแม้คุณแม่จะเผลอทำถุงเก็บน้ำนมล้มก็ตาม ทริคสำหรับการเก็บรักษาน้ำนมในถุงซิปล็อกให้คงความสดใหม่คือ ต้องไล่อากาศออกให้มากที่สุดก่อนรูดซิปปิด คล้ายเวลาบรรจุสินค้าลงถุงสุญญากาศเลย ฉะนั้นเพื่อให้ไล่อากาศออกได้ดี คุณแม่จึงไม่ควรเทน้ำนมใส่ถุงมากเกินไป สังเกตง่ายๆ คืออย่าเทให้เกินขีดปริมาตรสูงสุดที่ระบุไว้ข้างถุง ไม่เช่นนั้นเวลาไล่อากาศอาจทำให้น้ำนมล้นมาถึงบริเวณซิปล็อกได้ วิธีนี้ยังช่วยลดกลิ่นหืนในน้ำนม และประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บได้อีกด้วย 

การใช้ถุงเก็บน้ำนมอย่างถูกวิธี

ใช้ภาชนะรองถุงเก็บน้ำนมทุกครั้งก่อนแช่แข็ง

เวลาคุณแม่จะนำถุงเก็บน้ำนมเข้าไปแช่ในช่องฟรีซ ต้องหาภาชนะ เช่น จาน ถาด หรือกล่องพลาสติกที่ไซซ์ใหญ่กว่าถุงน้ำนม มารองถุงก่อนนำแช่ทุกครั้ง อย่าวางถุงเก็บน้ำนมบนพื้นผิวช่องฟรีซโดยตรง เพราะเกล็ดน้ำแข็งที่เกาะอยู่ภายในจะกัดถุงพลาสติกให้รั่วได้ ที่สำคัญเมื่อเวลาผ่านไปช่องฟรีซจะมีน้ำแข็งเกาะมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คุณแม่นำถุงเก็บน้ำนมออกมาได้ยาก บางครั้งต้องงัดถุงออกจากผิวน้ำแข็งจนทำให้ถุงขาด น้ำนมอาจปนเปื้อนได้ หากกดละลายน้ำแข็งทั้งตู้เย็น ก็ทำให้นมถุงอื่นละลายตามไปด้วยโดยไม่จำเป็น ข้อดีของการหาภาชนะรองถุงเก็บน้ำนมก่อน ยังช่วยให้แม่นำถุงเก็บน้ำนมออกมาจัดสต็อก และเรียงลำดับการนำออกมาใช้ก่อนหลังได้สะดวก โดยยกออกมาจัดระเบียบทั้งภาชนะนั่นเอง

การใช้ถุงเก็บน้ำนมอย่างถูกวิธี

วางถุงเก็บน้ำนมใส่ช่องแช่แข็งในแนวนอน

สังเกตไหมว่าเวลานำนมออกมาจากช่องแช่แข็งทีไร มักละลายได้ช้าและเหลือก้อนน้ำแข็งอยู่ตรงกลางเสมอ ทำให้บางทีใช้ได้ไม่ทันการ ปัญหานี้สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการจัดวางถุงเก็บน้ำนมแบบแนวตั้งนั่นเอง จริงอยู่ที่ปัจจุบันผู้ผลิตส่วนใหญ่ออกแบบถุงเก็บน้ำนมให้บริเวณก้นสามารถวางตั้งได้ แต่นั่นเหมาะกับการใช้งานขณะที่น้ำนมในถุงยังไม่แข็งตัว และเหมาะกับการวางภายนอกตู้เย็นมากกว่า เวลานำแช่ช่องฟรีซจึงควรวางถุงที่บรรจุน้ำนมแล้วในแนวนอน เพื่อประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ และช่วยให้นำออกมาละลายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ไม่ต้องกลัวว่าน้ำนมจะไหลทิ้งหรือหกเลอะเทอะเลย เพราะถุงเก็บน้ำนมส่วนใหญ่มีซิปล็อกปิดปากถุงได้มิดชิดอยู่แล้ว

การใช้ถุงเก็บน้ำนมอย่างถูกวิธี

เรียงถุงเก็บน้ำนมแบบ First In, First Out (FIFO) 

คุณแม่หลายท่านผลิตน้ำนมได้มาก จนช่องฟรีซช่องเดียวเก็บแทบไม่พอเลยใช่ไหม กรณีนี้ต้องระวังว่าจะเผลอหยิบน้ำนมที่สต็อกไว้นานเกินไปออกมาให้ลูกดื่มด้วยนะ หันมาใช้หลักการ First In, First Out ในการจัดลำดับการสต็อกน้ำนมให้เจ้าตัวเล็กกันดีกว่า วิธีการคือให้คุณแม่เรียงน้ำนมที่ปั๊มได้ใหม่ในแต่ละวัน ไว้ด้านในหรือด้านล่างสุดของภาชนะรองถุงเก็บน้ำนมเสมอ เพื่อจะได้หยิบถุงน้ำนมที่ปั๊มได้ก่อนออกมาละลายให้น้องดื่มก่อน นอกจากนี้ หากเลือกใช้ถุงเก็บน้ำนมที่มีแถบบันทึกวันที่และเวลาที่ปั๊มได้จะดีมากๆ เพราะช่วยเตือนความจำได้อีกทาง ว่านมถุงไหนควรหยิบมาใช้ก่อน หรือเก็บต่อได้อีกสักระยะ ซึ่งช่วยป้องกันปัญหาน้ำค้างสต็อกได้ดี 

การใช้ถุงเก็บน้ำนมอย่างถูกวิธี

ไม่ละลายนมด้วยการนำถุงเก็บน้ำนมเข้าไมโครเวฟ

เวลานำนมแช่แข็งออกมาละลาย ห้ามนำถุงเก็บน้ำนมทั้งถุงเข้าไมโครเวฟ หรือต้มในน้ำเดือดเป็นอันขาดนะคุณแม่ แม้ผู้ผลิตจะระบุว่าถุงนั้นๆ ทำจากพลาสติก Food Grade ก็ตาม แต่ให้ใช้วิธีละลายด้วยการย้ายน้ำนมแช่แข็งจากช่องฟรีซ มาวางพักที่ช่องแช่เย็นธรรมดาอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง หรือกะง่ายๆ คือ ถ้าจะเตรียมนมให้น้องดื่มวันพรุ่งนี้ ก็ย้ายถุงนมเท่ากับจำนวนที่ต้องใช้ลงมาแช่ไว้ตั้งแต่ตอนหัวค่ำ เช้ามานมก็ละลายพร้อมเทใส่ขวดให้น้องดื่มพอดี โดยคุณแม่อาจให้น้องดื่มนมขณะที่ยังเย็นชื่นใจอยู่ก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นอันตรายแต่อย่างใด และหากเทใส่ขวดแล้วน้องดื่มไม่หมด สามารถนำนมขวดนมนั้นปิดฝาให้สนิท แช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาต่ออีก 3-4 ชั่วโมง แล้วนำออกมาให้น้องดื่มในมื้อต่อไปได้ แต่ไม่แนะนำให้เทใส่ถุงเก็บน้ำนมแล้วนำกลับไปแช่ช่องฟรีซใหม่อีกครั้ง เพราะเชื้อจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตต่อนั่นเอง

ไม่ยากเลยใช่ไหมสำหรับการใช้งานถุงเก็บน้ำนม หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่มือใหม่ และขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการสต็อกนมสดใหม่ สะอาด และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าให้เจ้าตัวเล็กกันทุกๆ วัน

SHARE

RELATED POSTS

รวม 9 ข้อห้ามขณะให้นมลูก เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งแม่และลูกน้อย…
เช็กอาการแพ้ท้องของแม่ตั้งครรภ์ที่ควรรู้ พร้อมวิธีรับมือ คุณแม่ที่กำลังวางแผนมีเจ้าตัวเล็กอยู่คงกำลังคอยสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณบอกว่าตั้งครรภ์กันอยู่ใช่ไหมคะ ซึ่ง…
แม่มือใหม่ต้องรู้! เทคนิคให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าอย่างถูกต้อง นมแม่เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับลูกน้อย ซึ่งการให้ลูกได้ดูดนมแม่จากเต้าอย่างถูกวิธี…
ถ้าเด็กแพ้นมวัว กินนมควายแทนได้ไหม? แน่นอนว่าน้ำนมแม่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย แต่ถ้าคุณแม่มีเหตุบางประการที่ไม่สามารถให้นมลูกเองได้…