Search
Close this search box.
อาการแพ้ท้อง

เช็กอาการแพ้ท้องของแม่ตั้งครรภ์ที่ควรรู้ พร้อมวิธีรับมือ

คุณแม่ที่กำลังวางแผนมีเจ้าตัวเล็กอยู่คงกำลังคอยสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณบอกว่าตั้งครรภ์กันอยู่ใช่ไหมคะ ซึ่ง “อาการแพ้ท้อง” (Morning sickness) ก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นของคุณแม่ตั้งครรภ์กว่า 80% เลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คือ 2- 8 สัปดาห์ หรือ 1 – 3 เดือน ของการตั้งครรภ์ เรามาดูกันค่ะว่าอาการแพ้ท้องนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือเอาไว้ได้

เข้าใจ “อาการแพ้ท้อง” ที่ไม่ได้มีเหมือนกันทุกคน

อาการแพ้ท้อง

สาเหตุหลักของอาการแพ้ท้อง เกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) ที่รกสร้างสูงขึ้น ทำให้ไปกระตุ้นอาการคลื่นไส้จนอยากอาเจียน นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง ส่งผลให้รับกลิ่นหรือรสชาติผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งเป็นกลไกอัตโนมัติของร่างกายในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ช่วยป้องกันให้เรากินอาหารอย่างระมัดระวังมากขึ้น คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะคะ และนอกจากนี้ ภาวะเครียด ความอ่อนไหวทางอารมณ์ หรือความวิตกกังวลต่าง ๆ ก็ส่งผลให้อาการแพ้ท้องมีมากกว่า ทั้งนี้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก หรืออายุน้อยกว่า 20 ปี รวมถึงมีน้ำหนักตัวมาก ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ท้องมากขึ้นอีกด้วยค่ะ

อาการแพ้ท้องของแม่ตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง ?

อาการแพ้ท้องของแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนมากมักจะแสดงอาการตอนเช้าหลังตื่นนอน ทางการแพทย์จึงเรียกกันว่า Morning Sickness ถึงแม้ว่าความจริงแล้วมันจะสามารถเป็นได้ทั้งวันก็ตามค่ะ ดังนั้น เรามาดูอาการแพ้ท้องที่มักพบได้บ่อยกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

  • คลื่นไส้ อาเจียน หลังดื่มน้ำหรือกินอาหาร – อาจรู้สึกอึดอัดที่หน้าอกหรือท้อง จนอยากจะอาเจียน
  • มีความรู้สึกไวต่อกลิ่น – เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้ไวต่อการรับกลิ่น โดยเฉพาะกลิ่นของอาหาร เมื่อได้รับกลิ่นก็เป็นตัวกระตุ้นทำให้อยากอาเจียนได้ด้วยค่ะ บางบ้านก็แพ้ท้องด้วยกลิ่นตัวคุณพ่อก็มีนะคะ
  • ความชอบที่จะกินอาหารเปลี่ยนไป – เช่น อยากอาหารรสเปรี้ยว หรือไม่สามารถกินอาหารที่เคยชอบได้ รวมถึงอาจจะอยากกินของที่ไม่เคยชอบก็ได้ เป็นผลมาจากมีรสชาติเฝื่อนขมภายในปาก จากการที่อาหารไม่ย่อย ทำให้กินอะไรก็อร่อยไม่เหมือนเดิม
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย – เกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนอน ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว มีการเผาไหม้ของอาหารเพื่อทารกในครรภ์มากขึ้น จึงสูญเสียพลังงานมาก ทำให้คุณแม่เพลียได้ง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ – การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงแรกของการตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยได้ จะคล้ายกับช่วงก่อนประจำเดือนมา ทำให้อาจรู้สึกว่าเสื้อผ้าแน่นมากขึ้น
  • ปวดแสบลิ้นปี่ และทรวงอก – ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว กล้ามเนื้อหูรูดก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย จึงมีน้ำย่อยไหลย้อนออกมา ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกปวดแสบลิ้นปี่และทรวงอก
  • ปวดปัสสาวะบ่อย – เมื่อฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยน ทำให้อัตราการไหลของเลือดเพิ่มขึ้นและไหลผ่านไปยังไตมากขึ้นเช่นกัน กระเพาะปัสสาวะจึงรับน้ำได้มากตามไปด้วย จึงทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
    สาเหตุนี้ต่างจากการปัสสาวะบ่อยในระยะหลัง ซึ่งมาจากขนาดมดลูกใหญ่ขึ้นแล้วไปกดเบียดกับกระเพาะปัสสาวะ
  • อารมณ์แปรปรวน – ระดับของฮอร์โมนเปลี่ยนไป ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย ซึ่งการแสดงออกทางอารมณ์ของคุณแม่แต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนควบคุมอารมณ์ได้ หรือไม่ได้ก็มีค่ะ
  • รู้สึกง่วงนอนบ่อยกว่าปกติ – อาการแพ้ท้องหลาย ๆ อาการที่เราบอกมาอาจทำให้คุณแม่รู้สึกได้ว่าเพลีย และต้องการพักผ่อน จึงรู้สึกง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา

3 ระดับของอาการแพ้ท้อง

ระดับอาการแพ้ท้อง
  1. อาการแพ้ท้อง “เล็กน้อย”

คลื่นไส้ เวียนศีรษะเล็กน้อย ยังพอกินอาหารได้อยู่ แต่น้อยลง

บรรเทาได้ง่าย ๆ เพียงแค่คุณพ่อหรือคนรอบข้าง ตามใจคุณแม่หน่อยค่ะ เดี๋ยวอาการก็จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเอง

  1. อาการแพ้ท้อง “ปานกลาง”

มีอาการอาเจียนเป็นครั้งคราว กินอาหารได้น้อยลง หรือบางช่วงก็กินไม่ได้เลย มีปัสสาวะสีเหลือง เนื่องจากร่างกายขาดน้ำ

หากเป็นในกรณีแบบนี้ อาจต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแล รวมถึงปรับวิธีกินอาหารให้เหมาะสมค่ะ

  1. อาการแพ้ท้อง “รุนแรง”

ขั้นนี้คุณแม่อาจกินอะไรไม่ได้เลย รวมถึงอาเจียนหนัก น้ำหนักลง ร่างกายขาดน้ำและอาหาร ทำให้โทรมลงอย่างชัดเจน หากรุนแรงถึงขั้นหลอดอาหารทะลุจากการอาเจียน ไตวาย และจอตาอักเสบ ในกรณีนี้มีความจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรักษานะคะ

วิธีรับมือเบื้องต้นของอาการแพ้ท้อง

อาการแพ้ท้อง
  • ดื่มน้ำอุ่น นมอุ่น หรือน้ำขิง ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด อาการคลื่นไส้ และช่วยไล่ลม ลดอาการท้องอืดเฟ้อได้อีกด้วย
  • กินอาหารย่อยง่าย แบ่งกินเป็นมื้อย่อย ๆ เพื่อลดอาการแน่นท้อง และลดการทำงานหนักของกระเพาะ
  • ทานผลไม้ที่ช่วยลดอาการแพ้ท้อง เช่น สับปะรด หรือกล้วย
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเล่น หรือเล่นโยคะฉบับคนตั้งครรภ์ บริหารร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง
    หรือเตรียมร่างกายให้พร้อมด้วย 5 ท่าออกกำลังกายคนท้อง ช่วยคุณแม่ให้คลอดง่าย ร่างกายฟื้นตัวไว
  • บรรเทาความเครียดด้วยกลิ่มหอมจากธรรมชาติ เช่น กลิ่นเปปเปอร์มิ้นต์ หรือกลิ่นที่คุณแม่ชอบ ดมแล้วผ่อนคลายเป็นพิเศษ
  • พกลูกอมติดตัวเอาไว้กินตอนที่เกิดอาการเวียนหัว เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ ที่สำคัญอย่าเพิ่งนอนทันทีหลังกินอาหารเสร็จ
  • ปรึกษาแพทย์ตามนัดหมายของการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสังเกตอาการแพ้ท้อง และรับคำแนะนำการปฎิบัติตัวอย่างถูกต้อง

นอกจากอาการแพ้ท้องจะเป็นสัญญาณเตือนตั้งครรภ์แล้ว แต่การขาดรอบเดือน คลื่นไส้ อาเจียน ก็ไม่ได้หมายความว่าตั้งครรภ์เสมอไป คุณแม่มือใหม่ต้องรู้! วิธีตรวจการตั้งครรภ์ที่ถูกต้องทำอย่างไร หรือ เช็กอาการคนท้อง 1 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง หลังจากมั่นใจแล้วว่าตั้งครรภ์แม่ ๆ ยังต้องรู้ วิธีการนับอายุครรภ์เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลครรภ์อีกด้วยนะคะ

SHARE

RELATED POSTS

7 เคล็ด(ไม่)ลับ รับมืออารมณ์คนท้องแปรปรวน ทำตามนี้ได้ผลดีแน่นอน…
เผยวิธีห่อตัวทารกอย่างไรให้ลูกปลอดภัย สบายตัว พร้อมรับโลกใบใหม่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังข้องใจเกี่ยวกับวิธีห่อตัวทารกว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงให้ถูกต้องและปลอดภัย…
พ่อแม่ควรรู้ ปรอทวัดไข้สำหรับเด็กแบบไหนให้ผลลัพธ์แม่นยำสุด อุปกรณ์สำคัญที่พ่อแม่ควรมีติดบ้านเอาไว้อย่าง ปรอทวัดไข้…