Search
Close this search box.
อุ้มบ่อย ลูกติดมือ

จริงหรือไม่? ไขข้อสงสัยที่โบราณว่าไว้ ลูกติดมือเพราะอุ้มบ่อย

หลากหลายคำพูดของผู้ใหญ่ในครอบครัวที่ชอบเตือนว่า “อุ้มลูกบ่อย ๆ เดี๋ยวลูกติดมือเอาหรอก” หรือ “อุ้มบ่อย เด็กจะติดมือ ชอบร้องให้อุ้ม” คุณแม่มือใหม่ได้ยินแบบนี้คงเป็นกังวล ถ้าปล่อยลูกร้องงอแงไว้จะดีกว่าจริงหรือ? วันนี้ Cotton Baby มีคำตอบมาให้แล้วค่ะ ไปดูพร้อมกันเลย

จริงหรือไม่? อุ้มบ่อยทำให้ลูกติดมือ

อุ้มบ่อย ลูกติดมือ

คำตอบคือไม่จริงค่ะ จากผลวิจัยบอกว่าการอุ้มลูกช่วง 6 เดือนแรก เป็นการปลอบโยน มอบความรักและความอบอุ่นให้ลูกรู้สึกว่ามีคนคอยดูแลอยู่เคียงข้างเสมอ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก การอุ้มลูกบ่อย ๆ เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างคุณแม่กับลูกด้วย เวลาที่เข้าไปอุ้มตอนลูกร้องไห้จะช่วยในเรื่องการพัฒนาด้านอารมณ์ เป็นเด็กเลี้ยงง่าย เมื่อโตขึ้นการร้องไห้ก็จะค่อย ๆ ลดลง และไม่ทำให้ลูกร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจด้วยนะคะ

ซึ่งการร้องไห้ของทารกในช่วง 6 เดือนแรก เป็นวิธีเดียวที่จะสื่อสารกับพ่อแม่ได้ว่าต้องการอะไร หากเราปล่อยให้ลูกร้องไห้นานเกินไป อาจส่งผลต่อภาวะมั่นคงทางอารมณ์ได้ ทารกแรกเกิดจึงควรได้รับความอบอุ่นจากอ้อมกอดของพ่อแม่

ลูกติดมือ อุ้มจนหลับ แต่พอวางก็ร้องอีก ทำอย่างไรดี?

สำหรับในกรณีที่คุณแม่อุ้มลูกจนหลับคามือ พอเราวางเขาลงปุ๊บ ลูกก็ร้องขึ้นมาทันที หากครอบครัวที่มีคนช่วยเลี้ยง อาจให้สลับกันอุ้มได้ แต่ถ้าไม่มีคนคอยช่วยเลี้ยง ตอนวางลูกลงให้วางอย่างเบามือที่สุด แล้วใช้มือลูบหน้าอก หรือตบก้นลูกเบา ๆ ให้เขารู้สึกอุ่นใจว่ายังมีคนคอยอยู่ข้าง ๆ เสมอ

เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงอายุ 6 เดือน แล้วยังคงร้องให้คุณแม่อุ้มอยู่ คุณแม่ต้องพยายามอุ้มลูกให้น้อยลง อาจเบี่ยงเบนความสนใจลูกด้วยของเล่นที่แกว่งไปมา แถมยังช่วยเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ไปในตัวได้ด้วย แนะนำของเล่นเสริมพัฒนาการลูกน้อยวัยแรกเกิด – 12 เดือน

อุ้มยังไงไม่ให้ลูกติดมือ?

เมื่อเข้าสู่ช่วง 6 เดือน ควรลดการอุ้มลง เมื่อลูกงอแงให้ปล่อยไว้สักครู่หนึ่ง แล้วส่งเสียงบอกว่าเรากำลังทำอะไรอยู่แทนการเข้าไปอุ้มทันที เพื่อฝึกให้ลูกรู้จักรอคอย แล้วสังเกตดูว่าการที่ลูกร้องไห้นั้นอาจมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ร้องขอให้อุ้ม เช่น หิว หรือไม่สบายตัว เพียงเท่านี้ก็ป้องกันไม่ให้ลูกติดมือได้แล้วค่ะ

ถ้าอุ้มแล้วลูกก็ยังร้องอยู่ ควรทำอย่างไรดี?

ถ้าคุณแม่ทั้งอุ้ม และพูดปลอบแล้ว ลูกก็ยังร้องอยู่ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การร้องขอให้คุณแม่อุ้ม ให้สังเกตดูว่า ลูกไม่สบาย หรือมีอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือเปล่า หากเช็กแล้วไม่มีอาการผิดปกติอะไร ทั้งนี้ลูกอาจมีอาการร้องโคลิกก็ได้ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยกับเด็กแรกเกิด อายุตั้งแต่ 3 สัปดาห์ – 3 เดือน เด็กจะร้องมาก ร้องนาน ร้องแบบไม่มีเหตุผล และร้องแต่เวลาเดิม ๆ ทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเย็นและกลางคืน แต่อาการนี้จะหายไปเองเมื่อลูกอายุพ้น 3 – 5 เดือน ไปแล้ว

รู้แบบนี้คุณแม่ก็หมดกังวลเรื่องอุ้มลูกบ่อย ไม่ทำให้ลูกติดมือแล้วใช่ไหมคะ การอุ้มลูกบ่อยในช่วงวัยทารก ไม่ทำให้ลูกติดมือ และไม่ได้หมายความว่าเราตามใจจนเสียนิสัยด้วย แต่นั่นเป็นการเติมเต็มความรัก ให้ลูกเติบโตอย่างเหมาะสม ด้วยการอุ้มลูกอย่างพอดี หากใครที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ยังอุ้มลูกแบบไม่มั่นใจ เราได้ทำการ แนะนำ 6 ท่าอุ้มลูกที่เหมาะกับเด็กแรกเกิดถึง 4 เดือนขึ้นไป ไว้ให้แล้ว ตามไปอ่านกันได้เลยนะคะ

SHARE

RELATED POSTS

ชวนพ่อแม่ดูแลโภชนาการเด็กให้ดีสมวัย เลี่ยงภัยอ้วน-เบาหวาน | Advertorial…