Search
Close this search box.
ฝุ่น PM 2.5

วิธีดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5
มลพิษร้ายใกล้ตัวเรา
| Advertorial

เสมือนท้องฟ้าวิปริต แปรปรวนทันใด เดินทางออกไปไหน อันตรายไปทุกที่ ~ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจทราบดีอยู่แล้วว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ท้องฟ้าเปลี่ยนสี ดูเหมือนมีเมฆหมอกอยู่ตลอดเวลานั้นมาจากมลพิษ แต่รู้ไหมคะ? ว่า… หนึ่งในฝุ่นชนิดที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ ‘ฝุ่น PM2.5’ เจ้าฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว เมื่อสูดเข้าไปจะทำลายสุขภาพ ส่งผลโดยตรงกับปอด และระบบทางเดินหายใจ เป็นภัยใกล้ตัวที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะเมื่อลูกยังอยู่ในวัยเจริญเติบโต เพราะอันตรายจากฝุ่น PM2.5 นั้นส่งผลกระทบต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ วันนี้ Cotton Baby จึงจะมาบอกความร้ายกาจของฝุ่น PM2.5 และวิธีดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัยกัน

ฝุ่น PM2.5 ภัยร้ายในอากาศ ทำลายสุขภาพ และระบบทางเดินหายใจ

อันตรายจากฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วระดับไมครอน มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งขนาดที่เล็กมากจึงทำให้สามารถเดินทางเข้าสู่ปอดได้โดยตรง แถมยังรวมตัวกับสารอันตรายอื่น ๆ ได้อีก เช่น สารตะกั่ว สารก่อมะเร็ง หรือสารคาร์บอน ทำให้เจ้ามลพิษนี้ส่งผลร้ายต่อร่างกายมากกว่าแค่อันตรายจากฝุ่นเพียงอย่างเดียว

จากการรวบรวมข้อมูลค่าฝุ่นใน กทม. ช่วงปี พ.ศ. 2563 ของ Rocket Media Lab องค์กรด้านข้อมูลเพื่อสื่อสารมวลชน พบว่า ตลอดทั้งปีมีวันที่กรุงเทพฯ มี ‘ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ’ หรือที่คุ้นหูกันว่า AQI (Air Quality Index) อยู่ในเกณฑ์ดีเพียงแค่ 71 วันเท่านั้น ส่วนอีก 294 วันที่เหลือ คือการเผชิญกับสภาวะอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษ โดยข้อมูลจาก ThaiHealth WATCH 2022 ระบุว่า การสูดดมฝุ่น PM2.5 ในปริมาณมากจะส่งผลกระทบต่อ ‘อวัยวะภายใน’ และ ‘อวัยวะภายนอก’ ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษด้วย

ซึ่งเจ้าฝุ่น PM2.5 ก็มีสาเหตุมาจากทั้งพฤติกรรมของมนุษย์และสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยข้อมูลของ ThaiHealth WATCH 2023 เผยว่า ผู้คนบนโลกกว่า 99% หรือแทบทั้งโลกต้องสูดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ก็ติดอันดับโซนที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด

สามารถศึกษารายละเอียด ThaiHealth WATCH 2023 เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3VJt5Q0

และดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3PJZggW

คุณพ่อคุณแม่คงเห็นแล้วว่า ฝุ่น PM2.5 ทำร้ายสุขภาพเราแค่ไหน ยิ่งเจ้าตัวน้อยอยู่ในวัยเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ถ้าสูดดมฝุ่นนี้เข้าไป…จะเกิดอะไรขึ้นกับลูกบ้าง?

อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ต่อลูกน้อย

อันตรายจากฝุ่น PM2.5 ต่อร่างกายของลูกน้อย

  • มีผื่นคันขึ้นตามตัว เกิดการระคายเคือง
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม กระตุ้นอาการของโรคภูมิแพ้
  • แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ถ้าเป็นหวัดจะทำให้หายช้า
  • ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง เรียนรู้ได้ช้าลง เป็นโรคสมาธิสั้น

นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังส่งผลต่อครรภ์ของคุณแม่ด้วย หากในช่วงไหนที่มีการสัมผัสกับฝุ่นพิษในปริมาณมาก จะมีผลเสียต่อพัฒนาการของทารก และเพิ่มความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ ดังนั้นในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพื่อปกป้องทารกน้อยให้แข็งแรงสมบูรณ์นะคะ

แม้ว่าปัจจุบัน การหลีกเลี่ยงมลพิษจะเป็นไปได้ยาก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลและปกป้องลูกน้อยจากฝุ่น PM2.5 ได้นะ ว่าแต่…ต้องทำอะไรบ้าง? ตาม Cotton Baby มาได้เลยค่ะ

วิธีดูแลลูกจากฝุ่น PM 2.5

วิธีปกป้องลูกน้อยจากฝุ่น PM2.5

  • ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากฝุ่น

ประเทศไทยตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบต่อสุขภาพอยู่ที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าที่ องค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดถึง 1 เท่า! นั่นเป็นเพราะค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 โดยรวมทั้งประเทศค่อนข้างสูง ยิ่งอาศัยอยู่ในเขตเมือง เช่น กรุงเทพฯ เขตอุตสาหกรรม หรือเขตปริมณฑล ยิ่งควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน เมื่อมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานนะคะ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเช็กค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ได้ในแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Air4Thai, AirVisual หรือ Air Matters ได้เลยค่ะ

  • ใส่หน้ากาก N95 เพื่อป้องกันเชื้อโรคและฝุ่นเข้าสู่ปอด

หน้ากาก N95 ถือเป็นไอเทมสำคัญในการป้องกันอันตรายจากฝุ่น รวมถึงเชื้อโรคขนาดเล็ก เช่น วัณโรค และโควิด-19 สามารถกรองฝุ่นละอองได้ถึง 95% ซึ่งคุณพ่อแม่ควรสวมใส่ให้ถูกต้อง โดยการดึงสายรัดให้ตึง และกดขอบลวดด้านบนแนบกับดั้งจมูก เพื่อไม่ให้เจ้าฝุ่นรั่วไหลเข้าไปทำร้ายลูกน้อยได้

  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อล้างสิ่งสกปรก และช่วยให้ลูกหายใจได้ดีขึ้น

วิธีนี้นอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรกอื่น ๆ ที่ปะปนเข้ามาในจมูกของเจ้าตัวน้อยด้วย ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ก็หาได้ไม่ยากเลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมได้ดังนี้

  1. กระบอกฉีดยาพลาสติก (Syringe)
  2. น้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% NSS หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  3. ชามใส่น้ำเกลือ และกะละมังสำหรับรองรับน้ำเกลือจากจมูก

โดยวิธีการล้างจมูกก็ไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้ตามนี้เลยค่ะ

  1. เทน้ำเกลือลงในชามที่เตรียมไว้
  2. ใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือประมาณ 5 ซีซี ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับเด็ก
  3. ให้ลูกน้อยอยู่ในท่านั่ง หรือยืนแหงนหน้าเล็กน้อย ค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในโพรงจมูก
  4. ฉีดน้ำเกลือครั้งละ 0.5-1 ซีซี พร้อมให้ลูกบ้วนน้ำเกลือส่วนเกินออก
  5. สั่งน้ำมูกพร้อมกันทั้งสองข้าง
  6. ทำซ้ำจนกว่าจะไม่มีน้ำมูกตกค้างในโพรงจมูก

การล้างจมูกควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในช่วงตื่นนอน และก่อนเข้านอน หรือเมื่อลูกรู้สึกแน่นจมูก โดยควรทำในช่วงท้องว่าง เพราะลูกอาจจะอาเจียนได้เมื่อน้ำเกลือไหลเข้าคอค่ะ

  • ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันฝุ่นละอองจากภายนอก

ฝุ่น PM 2.5 มักเล็ดลอดเข้ามาตามช่องว่างต่าง ๆ ภายในบ้าน พ่อแม่จึงควรปิดประตู และหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละออง และเชื้อโรคร้ายแฝงตัวเข้ามาได้ค่ะ

  • หมั่นทำความสะอาดบ้าน กันสารพิษตกค้างในเฟอร์นิเจอร์

นอกจากฝุ่น PM 2.5 ที่ปะปนเข้ามาในอากาศแล้ว ภายในบ้านยังมีฝุ่น และสารพิษตกค้างอื่น ๆ ด้วยนะคะ พ่อแม่จึงควรทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ เพื่อความสะอาด ถูกสุขอนามัย ช่วยปกป้องเจ้าตัวน้อยให้ปลอดภัยจากมลพิษ และเชื้อโรคชนิดอื่นค่ะ

  • ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ หรือปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ ตัวช่วยกรองฝุ่น

เครื่องฟอกอากาศ สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 กำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ สารเคมี รวมถึงเชื้อราและแบคทีเรียได้ ช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับสบาย หายใจได้เต็มปอด นอกจากเครื่องฟอกอากาศแล้ว พ่อแม่ควรปลูกต้นไม้รอบบริเวณบ้าน เพื่อเป็นตัวช่วยกรองฝุ่นอีกหนึ่งชั้น เช่น ต้นลิ้นมังกร กวักมรกต หรือว่านหางจระเข้ ช่วยเพิ่มความร่มรื่นภายในบ้าน และกรองอากาศให้สดใสไปพร้อมกันเลย

  • เด็กที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและทานยาเป็นประจำ เพื่อป้องกันเมื่ออาการกำเริบ

สำหรับเด็ก ๆ ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด หรือภูมิแพ้ คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมยาประจำตัว และให้ลูกทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการป้องกันอย่างทันท่วงที เมื่อลูกน้อยมีอาการกำเริบจากฝุ่น PM 2.5 ค่ะ

ฝุ่น PM2.5 ปัญหากวนใจที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน

ในสภาวะที่โลกปกคลุมไปด้วยมลพิษ การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังไม่สามารถทำได้ทันที วิธีที่ดีที่สุดในการดูแลเจ้าตัวน้อย คือหมั่นสังเกตอาการลูกอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการเดินทางไปสถานที่เสี่ยง และดูแลบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรลดการสร้างมลภาวะ สอนให้เด็ก ๆ รู้จักรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่ออากาศที่สดใส และอนาคตในวันข้างหน้า

เจ้ามลพิษฝุ่น PM2.5 แม้จะมีขนาดจิ๋วแต่ส่งผลอันตรายร้ายแรงเลยทีเดียว รู้แบบนี้แล้ว… คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมใส่ใจดูแลชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ ให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 กันนะคะ

SHARE

RELATED POSTS

ชวนพ่อแม่ดูแลโภชนาการเด็กให้ดีสมวัย เลี่ยงภัยอ้วน-เบาหวาน | Advertorial…