Search
Close this search box.
ทำไมเด็กตัวเหลือง

ชวนพ่อแม่มือใหม่รู้ ทำไมเด็กแรกเกิดถึงมีภาวะตัวเหลือง ?

วันนี้ Cotton Baby จะพาพ่อแม่มือใหม่ไปรู้จักกับ ‘ภาวะตัวเหลือง’ (Neonatal Jaundice) ภาวะปกติที่พบได้ทั่วไปในทารกแรกเกิด โดยเฉพาะในช่วง 2-3 วันหลังคลอด แม้การที่เด็กตัวเหลืองจะไม่เป็นอันตราย หายเองได้ตามเวลาที่ควรจะเป็นก็ตาม แต่จะดีกว่านะคะถ้าเรารู้จักสังเกตอาการของเด็กตัวเหลืองว่าแบบไหนที่เข้าขั้นน่าเป็นห่วงจะได้ทำการรักษาได้ทันเวลาค่ะ

ภาวะตัวเหลือง คืออะไร?

ภาวะตัวเหลือง คืออะไร

ภาวะตัวเหลือง เป็นภาวะที่ร่างกายมีสารสีเหลือง หรือบิลิรูบินในเลือดสูง (Hyperbilirubinemia) มากกว่าปกติ ทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ของเด็กทารกมีสีเหลืองขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วภาวะตัวเหลืองจะแสดงอาการในช่วงวันที่ 2 – 3 วันหลังคลอด สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากมีความเข้มข้นของบิลิรูบินในเลือดมากกว่า 5 มก./ดล.

*โดยทารกคลอดครบกำหนด สามารถพบได้ร้อยละ 60 และทารกคลอดก่อนกำหนดพบได้ร้อยละ 80
ซึ่งระดับบิลิรูบินชนิดไม่ละลายในน้ำ (
Unconjugated Bilirubin) ที่สูงมาก จะเข้าสู่สมองและทำลายเซลล์สมอง ทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างถาวรได้

เด็กตัวเหลืองเกิดจากอะไร?

  1. เนื่องจากสารเหลืองเกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง และโดยปกติแล้วทารกจะมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ทารกแรกเกิดมีปริมาณสารเหลืองมากกว่าปกติ เกินการกำจัดของร่างกาย
  2. ตับของทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดการสะสมของสารบิลิรูบินขึ้นในร่างกาย ซึ่งสารเหลืองจะขับออกทางลำไส้พร้อมกับอุจจาระ สังเกตได้จากมีสีเหลืองเข้ม

*ภาวะตัวเหลือง ทั้ง 2 ข้อที่ว่ามานี้ถือเป็นภาวะตัวเหลืองปกติ (Physiologic Jaundice) หากทารกไม่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วยสามารถหายได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์

  1. ภาวะตัวเหลืองผิดปกติ มีพยาธิสภาพ (Pathologic Jaundice) อาจเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
  • ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน มักพบในคู่แม่มีหมู่เลือดโอกับลูกมีหมู่เลือดเอหรือบี หรือคู่แม่มีหมู่เลือด Rh ลบ และลูกมี Rh บวก
  • ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ
  • ทารกมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะทารกที่คลอดจากครรภ์แม่ที่เป็นเบาหวาน
  • เด็กตัวเหลืองเกี่ยวข้องกับการกินนมแม่ มักพบในเด็กที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะหากได้รับนมไม่เพียงพอ เนื่องจากท่าอุ้มให้นมไม่ถูกต้อง หรือลูกเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย หรือมีภาวะลิ้นติด ทำให้ดูดนมแม่ได้ไม่ดี
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะตับอักเสบ โรคท่อน้ำดีตีบ ซึ่งจะมีอาการเด็กตัวเหลือง ร่วมกับอุจจาระสีซีด ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน การติดเชื้อในกระแสเลือด

เด็กตัวเหลืองแบบไหน…ที่น่าเป็นห่วง

เด็กตัวเหลืองแบบไหน…ที่น่าเป็นห่วง

อย่างที่ได้บอกไปว่าภาวะตัวเหลืองเป็นภาวะปกติที่พบได้ทั่วไปในทารกแรกเกิด ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กที่คลอดครบกำหนด สุขภาพแข็งแรงดีจะมีภาวะตัวเหลืองจาง ๆ ได้ เมื่ออายุ 3-4 วัน และจะหายได้เอง แต่สำหรับอาการเด็กตัวเหลืองที่ผิดสังเกตไป แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย และพบได้น้อยกว่า 1% ที่มีระดับสารสีเหลืองสูงกว่าปกติ แต่คนเป็นพ่อแม่ก็รู้ข้อสังเกตอาการ เพื่อระวังไว้ก็จะดีกว่านะคะ หากมีอาการแบบนี้ น่าเป็นห่วงแล้ว

  • เด็กตัวเหลืองไวกว่าปกติ เห็นว่าตัวเหลืองภายในอายุ 1-2 วันแรก
  • เด็กตัวเหลืองจัด มีสีเหลืองเข้ม โดยเฉพาะที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า
  • มีอาการตัวเหลืองนานกว่าปกติ เด็กมีอายุเกิน 7 วันแล้ว ก็ยังมีภาวะตัวเหลืองอยู่
  • อุจจาระมีสีซีด และปัสสาวะมีสีเข้มกว่าปกติ
  • มีอาการอื่น ๆ ร่วมกับตัวเหลือง เช่น มีไข้ ซึม อาเจียน ถ่ายเหลว

รู้แบบนี้แล้วหากพบว่าลูกมีภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติไปตามข้อสังเกตดังกล่าว ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจและทำการรักษานะคะ เพราะการมีปริมาณสารสีเหลืองมากเกินไป จะส่งผลต่อความผิดปกติทางสมองของเด็กได้หากรักษาไม่ทันเวลา

รักษาอาการเด็กตัวเหลืองได้อย่างไร

รักษาอาการเด็กตัวเหลืองได้อย่างไร

อาการเด็กตัวเหลืองในทุกรายจะต้องได้รับการตรวจวัดระดับปริมาณของสารสีเหลืองเป็นระยะไป เพื่อประกอบการรักษา หากมีปริมาณไม่สูงมาก ร่างกายของทารกจะสามารถขับสารสีเหลืองออกมาได้เอง ไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ด้วยนะคะ ซึ่งวิธีรักษาภาวะตัวเหลืองมีดังนี้ค่ะ

  • ป้อนนมให้ลูกบ่อย ๆ อย่างน้อยวันละ 8-12 มื้อนม เพื่อเร่งให้ขับถ่ายสารเหลืองออกมากับอุจจาระ แนะนำเป็นนมแม่จะดีที่สุด เพราะมีสารที่กระตุ้นให้ถ่ายบ่อย
  • การส่องไฟ (Phototherapy) เป็นคลื่นแสงที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยแสงสีฟ้าจะไปเปลี่ยนรูปร่างของสารสีเหลืองในร่างกาย ให้สามารถละลายน้ำและถูกขับออกมาได้
  • เปลี่ยนถ่ายเลือด (Exchange transfusion) เป็นการเอาเลือดที่มีสารสีเหลืองสูงออกจากตัวเด็ก โดยเปลี่ยนถ่ายเลือดของทารกกับเลือดของผู้ใหญ่ จะทำในเฉพาะกรณีที่ปริมาณสารสีเหลืองมากจนเริ่มมีอาการทางสมอง รวมถึงแพทย์อาจจะพิจารณาทำวิธีนี้ก็ต่อเมื่อทำการส่องไฟแล้วร่างกายเด็กไม่ตอบสนอง

ข้อควรระวัง ที่แพทย์ไม่แนะนำให้ทำเพื่อรักษาภาวะตัวเหลือง

– ไม่ควรพาทารกไปตากแดด เพื่อรักษาภาวะตัวเหลือง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ทารกมีไข้ได้ด้วย

– ไม่จําเป็นต้องให้เด็กตัวเหลืองดื่มน้ำมาก ๆ เพราะน้ำไม่ได้มีส่วนช่วยในการกำจัดสารสีเหลือง และอาจมีผลเสียตามมาได้ คือ ทารกจะดื่มนมน้อยลง ทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต

SHARE

RELATED POSTS

สังเกตให้ทันก่อนสาย ลูกน้อยเข้าข่ายเป็นโรคตาขี้เกียจหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินถึง ‘โรคตาขี้เกียจ’…