ไขสารพันความข้องใจเกี่ยวกับ น้ำคาวปลา
ที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้
คุณแม่มือใหม่ที่ตั้งครรภ์และคลอดเป็นครั้งแรกในชีวิต ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยค่ะที่เราจะมีความกังวล หรือพบว่ามีเรื่องอีกมากที่เรายังไม่รู้ รวมถึง “น้ำคาวปลา” ซึ่งเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดที่คุณแม่ทุกคนต้องเจอ วันนี้ Cotton Baby จะพาไปทำความรู้จัก พร้อมไขข้อสงสัยต่าง ๆ นา ๆ เกี่ยวกับน้ำคาวปลากันค่ะ
น้ำคาวปลา คืออะไร?
น้ำคาวปลา คือ ของเหลวที่ถูกขับออกมาจากทางช่องคลอด หลังจากที่คุณแม่คลอดลูกแล้ว โดยในช่วง 2 -3 วันหลังคลอด เยื่อบุโพรงมดลูกที่เกาะตัวหนาขึ้นในขณะตั้งครรภ์จะเริ่มแยกออกเป็น 2 ชั้น ซึ่งชั้นบนจะหลุดออกมาเป็น “น้ำคาวปลา” ส่วนชั้นล่างจะยังยึดติดกับชั้นกล้ามเนื้อมดลูก เพื่อที่จะสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกชั้นใหม่ สำหรับการมีรอบประจำเดือนต่อไป
ลักษณะของน้ำคาวปลาเป็นแบบไหน?
น้ำคาวปลามีลักษณะโดยรวมคล้ายกับประจำเดือน
- อาจมีกลิ่นเหม็นอับ
- น้ำคาวปลา ประกอบด้วย เลือด น้ำเหลือง น้ำคร่ำหรือขี้เถ้า น้ำหล่อลื่น เศษเนื้อเยื่อหรือเยื่อบุโพรงมดลูก เศษรก เศษไขที่ติดตามเนื้อตัวของลูก เม็ดเลือดขาว และไขมันที่ยังหลงเหลืออยู่ภายในตัวของคุณแม่
- ลักษณะและสีของน้ำคาวปลา อาจแตกต่างกันไปตามระยะของช่วงวันหลังคลอด
ชวนสังเกตน้ำคาวปลาแบบไหนผิดปกติ
- มีกลิ่นเหม็นเน่า
- ปวดมดลูกมาก อาจมีไข้ร่วมด้วย แสดงถึงการติดเชื้อ
- น้ำคาวปลามีปริมาณมาก ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยเกือบทุก 1 ชั่วโมง
- น้ำคาวปลาที่จางไปแล้วในตอนแรก กลับมามีสีแดงสดอีกครั้งตลอด 4 วันหลังคลอด หรือนานกว่านั้น และอาการไม่ดีขึ้นแม้จะพักผ่อนแล้ว
- หัวใจเต้นผิดปกติ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย
3 ระยะของน้ำคาวปลา
- น้ำคาวปลาแดง (Lochia rubra) ช่วง 1 – 3 วันหลังคลอด มีลักษณะคล้ายลิ่มเลือดขนาดเล็ก มีขนาดใหญ่ไม่เกินผลลูกพลัม
- น้ำคาวปลาเหลืองใส (Lochia serosa) ช่วง 4 – 10 วันหลังคลอด มีสีแดงที่จางลงจากช่วงแรก ลักษณะเริ่มเหลวมากขึ้น สีค่อนไปทางสีชมพู หรือสีน้ำตาล หรือจางลงจนมีสีเหลืองใส
- น้ำคาวปลาขาว (Lochia alba) ช่วง 10 – 15 วันหลังคลอด มีลักษณะคล้ายครีม สีค่อนไปทางสีเหลือง หรือขาวขุ่น
โดยส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ที่ผ่าคลอด น้ำคาวปลาจะหมดเร็วกว่าคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ เนื่องจากคุณหมอจะทำความสะอาดมดลูกหลังผ่าคลอด ทำให้มีปริมาณน้ำคาวปลาน้อยกว่าวิธีคลอดธรรมชาติ
น้ำคาวปลาจะหมดตอนไหน เมื่อไหร่?
น้ำคาวปลาจะเริ่มค่อย ๆ จางลง และหมดไป ภายในระยะเวลาประมาณ 3 – 4 สัปดาห์หลังคลอด แต่ก็ยังสามารถพบได้ในคุณแม่บางรายที่อาจมีน้ำคาวปลานานถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด
กรณีที่ น้ำคาวปลาหมดแล้ว แต่เมื่อผ่านไป 3 – 4 วัน สามารถพบได้ว่ามีน้ำคาวปลากลับมาอีก จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลูกดูดนมได้ดีมาก เป็นเพราะขณะที่ลูกดูดนม บริเวณหัวนมจะเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารตัวหนึ่งที่ส่งผลกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัว ทำให้รู้สึกปวดท้องคล้ายเวลาที่ปวดท้องประจำเดือน และบีบให้มีน้ำคาวปลาออกมาได้อีกเป็นครั้งคราว ถือเป็นเรื่องปกตินะคะ ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร
วิธีดูแลตัวเอง เมื่อมีน้ำคาวปลา
- รักษาความสะอาด อาบน้ำได้ตามปกติ โดยใช้ฝักบัวอาบน้ำ ไม่ควรแช่น้ำ ขณะที่ยังมีน้ำคาวปลาอยู่
- ดูแลอวัยวะเพศให้สะอาด ไม่จำเป็นต้องฟอกสบู่ และไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะเพิ่มการติดเชื้อในโพรงมดลูก
- คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ บริเวณแผลฝีเย็บ ควรดูแลบริเวณนี้เป็นพิเศษ สามารถใช้สบู่อ่อน ๆ ทำความสะอาด เพื่อป้องกัน อาการระคายเคือง และการติดเชื้อ ควรซับทำความสะอาดให้แห้ง
- ก่อนเปลี่ยนผ้าอนามัย ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
- เปลี่ยนผ้าอนามัยตามความเหมาะสม เพื่อลดการหมักหมม อับชื้น
- ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือถ้วยอนามัย เพราะช่องคลอดและมดลูกอาจยังไม่ฟื้นตัว อาจเสี่ยงติดเชื้อได้
ไม่เพียงแค่เรื่องของน้ำคาวปลานะคะที่คุณแม่หลังคลอดจะต้องเตรียมตัวรับมือ แต่หลังจากนี้เจ้าตัวเล็กจะเป็นทุกอย่างในชีวิตเลยล่ะค่ะ ฉะนั้นคุณแม่จะต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงให้ได้มากที่สุด และหนึ่งในอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่าง ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เราได้เตรียม วิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มาฝากแล้วค่ะ