Search
Close this search box.
การแจ้งเกิดลูก

พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้ “การแจ้งเกิดลูก” ต้องทำอะไรบ้าง

หลังจากคลอดลูกแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำก็คือ การแจ้งเกิดลูก แม้ว่าปัจจุบันนี้หลายโรงพยาบาลจะมีบริการแจ้งเกิดให้ก็ตาม แต่บางครั้งเราอาจไม่สะดวก หรืออาจไม่ได้คลอดที่โรงพยาบาล เราจึงต้องดำเนินการแจ้งเกิดลูกด้วยตัวเองค่ะ วันนี้ Cotton Baby จึงได้รวบรวมข้อมูลมาบอกว่าจะต้องเตรียมเอกสารในแต่ละกรณีอย่างไรบ้าง พร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ

การแจ้งเกิดลูก กรณีเกิดที่โรงพยาบาล

1. แจ้งเกิดลูก กรณีเกิดที่โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือสถานีอนามัย

พ่อแม่ต้องทำเรื่องแจ้งเกิดให้เบบี๋ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกเกิด โดยใช้เอกสารดังนี้

เอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งเกิดลูก

  • หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ที่ออกโดยสถานพยาบาล
  • บัตรประจำตัวประชาชนของคุณพ่อและคุณแม่
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มาแจ้งเกิด หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจมาดำเนินเรื่องแทน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเพิ่มชื่อของลูกเข้าไป

สถานที่แจ้งเกิดลูก

  • ถ้าสถานที่ที่เด็กเกิดตั้งอยู่ในเขตเทศบาล สามารถแจ้งเกิดได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่เด็กเกิด
  • ถ้าสถานที่ที่เด็กเกิดตั้งอยู่นอกเขต สามารถแจ้งเกิดได้ที่สำนักทะเบียน ที่ว่าการอำเภอ ที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่นั้น
การแจ้งเกิดลูก กรณีเกิดที่บ้าน

2. แจ้งเกิดลูก กรณีเกิดที่บ้าน

หากลูกของเราเกิดที่บ้าน ต้องแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกเกิด โดยใช้เอกสาร ดังนี้

เอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งเกิดลูก

  • ใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร ๑ ตอนหน้า)
  • บัตรประจำตัวประชาชนของคุณพ่อและคุณแม่
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มาแจ้งเกิด เป็นผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบ้านที่ลูกเกิด
  • สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเพิ่มชื่อของลูกเข้าไป
  • พยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของเด็ก

สถานที่แจ้งเกิดลูก

  • ถ้าอยู่ในเขตท้องที่ของที่ว่าการอำเภอ ให้แจ้งผู้ใหญ่บ้าน ประจำหมู่บ้านที่เด็กเกิด ผู้ใหญ่บ้านจะต้องรับแจ้งและออกเอกสารเป็นใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร ๑ ตอนหน้า) ให้ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน
  • นำหลักฐานมาแจ้งต่อนายอำเภอ ที่ว่าการอำเภออีกครั้ง เพื่อออกใบสูติบัตร

หากสะดวกเดินทางไปแจ้งเกิดที่ว่าการอำเภอโดยตรง สามารถมาแจ้งโดยตรง ไม่ต้องผ่านผู้ใหญ่บ้านก็ได้

การแจ้งเกิดลูก กรณีเกิดนอกบ้าน

3. แจ้งเกิดลูก กรณีเกิดนอกบ้าน

หากลูกของเราเกิดนอกบ้าน เช่น บนรถ หรือสถานที่อื่น ต้องแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกเกิด และสามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 30 วัน หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถแจ้งภายในเวลาได้ โดยใช้เอกสาร ดังนี้

เอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งเกิดลูก

  • บัตรประจำตัวประชาชนของคุณพ่อคุณแม่ ผู้มีหน้าที่แจ้งเกิด
  • สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเพิ่มชื่อของลูกเข้าไป
  • พยานบุคคล
  • เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี)

สถานที่แจ้งเกิดลูก

  • ถ้าลูกเกิดในเขตท้องที่ของเทศบาล ให้แจ้งเกิดที่งานทะเบียนในเขตเทศบาล
  • ถ้าลูกน้อยเกิดนอกเขตเทศบาล ให้แจ้งเกิดที่งานทะเบียนในอำเภอท้องที่
การแจ้งเกิดลูก กรณีเกิดที่ต่างประเทศ

4. แจ้งเกิดลูก กรณีเกิดที่ต่างประเทศ

เอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งเกิดลูก

  • ใบเกิด ออกโดยโรงพยาบาลที่ทำคลอด
  • บัตรประจำตัวประชาชนของคุณพ่อและคุณแม่ พร้อมสำเนา
  • ทะเบียนบ้านฉบับจริง พร้อมสำเนา
  • หนังสือเดินทาง พร้อมสำเนา
  • รูปถ่ายเด็ก 1 รูป
  • สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี)

สถานที่แจ้งเกิดลูก

  • ลูกที่เกิดจากคุณพ่อคุณแม่ที่มีสัญชาติไทย แต่ไปเกิดในต่างประเทศ สามารถแจ้งเกิดได้ที่สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย ที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น
  • หากเดินทางกลับประเทศไทย ให้คุณพ่อคุณแม่นำสูติบัตรที่ทางเจ้าหน้าที่กงสุลออกให้ พร้อมหนังสือเดินทางของลูกที่มีตราประทับเข้าประเทศ ไปติดต่อกับนายทะเบียนที่อำเภอ หรือสำนักงานเขตที่เรามีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อเพิ่มชื่อของลูกเข้าไป
การแจ้งเกิดลูก กรณีเป็นลูกครึ่ง

5. แจ้งเกิดลูก กรณีเป็นลูกครึ่ง

เอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งเกิดลูก กรณีที่ 1 เกิดในประเทศไทย

  • หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ที่ออกโดยสถานพยาบาล
  • บัตรประจำตัวประชาชนของคุณพ่อและคุณแม่
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มาแจ้งเกิด หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจมาดำเนินเรื่องแทน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเพิ่มชื่อของลูกเข้าไป

ลูกจะได้สัญชาติไทย เมื่อ…

  • คุณพ่อหรือคุณแม่มีสัญชาติไทย และได้จดทะเบียนสมรสกัน
  • คุณแม่มีสัญชาติไทย จดหรือไม่ได้จดทะเบียนสมรส
  • คุณพ่อมีสัญชาติไทย คุณแม่ถือสัญชาติอื่น และจดทะเบียนสมรส

เอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งเกิดลูก กรณีที่ 2 เกิดที่ต่างประเทศ เข้าทะเบียนบ้านไทย

ขั้นตอนเหมือนกับข้อที่ 4 หรือการแจ้งเกิดลูก กรณีเกิดที่ต่างประเทศนะคะ

สถานที่แจ้งเกิดลูก

  • หากเกิดในประเทศไทย แจ้งเกิดที่สำนักงานเขต / เทศบาล / อำเภอ ในพื้นที่ที่ลูกเกิด
  • หากเกิดที่ต่างประเทศ แจ้งเกิดที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุล
การแจ้งเกิดลูก กรณีถูกทอดทิ้ง

6. แจ้งเกิดลูก กรณีถูกทอดทิ้ง

ผู้ที่พบเห็นเด็กทารก หรือเด็กเล็กอายุไม่เกิน 7 ขวบ ถูกทอดทิ้งจะต้องแจ้งการพบเด็ก พร้อมนำตัวเด็กไปส่งต่อพนักงานฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์ เพื่อทำหลักฐานรับตัวเด็ก และดำเนินการแจ้งเกิดตามกฎหมาย

หากแจ้งเกิดลูกช้า เกินกำหนดแล้ว ต้องทำอย่างไร?

การแจ้งเกิดเกินกำหนด แจ้งช้าเกินกว่า 15 วัน นับตั้งแต่วันเกิด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้

  • หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)
  • บัตรประจำตัวประชาชนของคุณพ่อและคุณแม่
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มาแจ้งเกิด หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจมาดำเนินเรื่องแทน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเพิ่มชื่อของลูกเข้าไป
  • พยานบุคคลที่ให้การรับรอง และบัตรประจำตัวประชาชน
  • ต้องนำพยานบุคคลที่รับรองมาด้วย อาจเป็น ผู้ทำคลอด ผู้เห็นการเกิด ผู้มีฐานะมั่นคง ซึ่งมีภูมิลำเนาในท้องที่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือข้าราชการชั้นสัญญาบัตร อย่างน้อย 2 คน
  • หากเด็กมีอายุเกิน 7 ปี ต้องใช้ภาพถ่ายของเด็ก 1 รูป

การแจ้งเกิดเป็นสิ่งแรกที่ทำให้ลูกมีเอกสารยืนยันตัวตน มีตัวตนทางกฎหมาย และส่งผลต่อสัญชาติของลูกด้วย ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก หลังคลอดแล้วสิ่งสำคัญต่อไปที่คุณพ่อคุณแม่ห้ามลืมก็คือ อัปเดต ตารางวัคซีน 2564 นะคะ เพราะทารกยังมีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรงมากพอ จึงควรได้รับวัคซีนพื้นฐานไปจนถึงอายุ 12 ปี เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

SHARE

RELATED POSTS

7 เคล็ด(ไม่)ลับ รับมืออารมณ์คนท้องแปรปรวน ทำตามนี้ได้ผลดีแน่นอน…
เผยวิธีห่อตัวทารกอย่างไรให้ลูกปลอดภัย สบายตัว พร้อมรับโลกใบใหม่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังข้องใจเกี่ยวกับวิธีห่อตัวทารกว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงให้ถูกต้องและปลอดภัย…
พ่อแม่ควรรู้ ปรอทวัดไข้สำหรับเด็กแบบไหนให้ผลลัพธ์แม่นยำสุด อุปกรณ์สำคัญที่พ่อแม่ควรมีติดบ้านเอาไว้อย่าง ปรอทวัดไข้…