Search
Close this search box.
Mama Blue

ทำไมกอดลูก แล้วไม่มีความสุขเลย ? มารู้จักอาการ Mama Blue กันเถอะ

คุณแม่ลูกอ่อนอาจกำลังวาดฝันภาพครอบครัวสุดอบอุ่นอยู่ใช่ไหมล่ะ ? แต่ในความจริงคงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะอาการ ‘Mama Blue’ หรือ ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ช่วงเวลาที่กอดลูกแล้วควรจะมีความสุข แต่กลับกลายเป็นความเศร้า ความกังวล รวมไปถึงความเครียด

หากคุณแม่กำลังเผชิญกับความรู้สึกแบบนี้อยู่ นี่แหละค่ะอาการของ Mama Blue ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรู้จักกับเจ้าอาการนี้ พร้อมเตรียมตัวรับมือและผ่านมันไปให้ได้กันค่ะ

Mama Blue คืออะไร

อาการ Mama Blue คืออะไร ?

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำเหล่าว่า ‘Mama Blue’ ‘Baby Blue’ ‘Postpartum Blue’ หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด’ ซึ่งทั้งหมดนี้มีความหมายเดียวกัน คือ ความรู้สึกเศร้าที่เกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอด แทนที่จะมีความสุขและตื่นเต้นไปกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้

จากผลสำรวจทั่วไป พบว่าอาการ Mama Blue จะเกิดขึ้นกับคุณแม่แรกคลอดมากถึง 4 ใน 5 (หรือ 80% จากทั้งหมด) ดังนั้นหากมีความรู้สึกซึมเศร้าหลังคลอดลูกเพราะอาการ Mama Blue ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก คุณแม่ไม่ได้ทำอะไรผิดหรอกค่ะ มันเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป

อาการ Mama Blue นี้จะเกิดขึ้นประมาณ 2-3 วันแรก และลากยาวไปถึง 2 สัปดาห์หลังจากคลอดลูกเลย โดยปกติแล้วหลังจากช่วงเวลาที่กล่าวไปนี้ อาการ Mama Blue จะเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ และหายไปเองโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดรักษาแต่อย่างใด

แต่หากคุณแม่รู้สึกว่าความเศร้าจากอาการ Mama Blue นี้กัดกินความสุขมากเกินไปและลากยาวเกิน 2 สัปดาห์ จนอาจจะทำให้เกิดอันตรายไปมากกว่านี้ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือ ภาวะเครียด คุณแม่ควรตัดสินใจเข้าปรึกษาแพทย์ทันทีนะคะ

อาการของ Mama Blue

สาเหตุและชนวนของอาการ Mama Blue

สาเหตุ : ฮอร์โมนที่ลดลง

ด้วยฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเฉียบพลัน เป็นสาเหตุหลักในการทำให้ความคิด พฤติกรรม และอารมณ์ของคุณแม่สวิงไปมาอย่างรวดเร็ว โดยหลังจากคลอดลูกแล้ว ปริมาณฮอร์โมนอีสโทรเจน (Estrogen Hormone) และฮอร์โมนโพสเจสเทอโรน (Progesterone Hormone) ของคุณแม่จะลดลงอย่างกะทันหัน มีผลทำให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ รู้สึกหดหู่ เครียด เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ และไม่อยากอาหาร

ชนวน : ความเครียดเดิม

ลูกต้องนอนท่าไหน ? ถ้าลูกแพ้นมแม่จะทำอย่างไรดี ? ตนเองจะเป็นแม่ได้ดีไหม ? แล้วจะทำอย่างไรต่อไปดี ? คำถามมากมายเหล่านี้ที่ทำให้ประสิทธิภาพของความเป็นแม่ค่อย ๆ ลดลง คือ ความกังวลในการเลี้ยงดูลูก กลายมาเป็นชนวนที่ทำให้อาการ Mama Blue ปะทุหนักขึ้น โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่ประหม่าในการเลี้ยงทารกแรกเกิด

ไม่ว่าจะเป็นความเครียดในการเลี้ยงลูก ความไม่มั่นใจในตัวเอง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม หน้าที่ และความรับผิดชอบ ทั้งหมดนี้สามารถทำให้คุณแม่รู้สึกเป็นกังวลได้ และก่อให้เกิดอาการ Mama Blue ได้

นอกจากนี้ สำหรับคุณแม่ที่เคยมีประวัติทางสุขภาพจิตมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพล่า หรือภาวะเครียดก็ตาม ควรระวัง ใส่ใจ และคอยตรวจสอบสภาพอารมณ์ของตนเองให้ดี เพราะจะมีโอกาสเกิดอาการ Mama Blue ได้มากกว่า

ผู้ชายก็ Mama Blue ได้นะ

ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วอาการ Mama Blue จะเป็นคุณแม่ฝ่ายเดียวที่เผชิญกับอาการนี้ แต่ในความจริงแล้ว คุณพ่อก็สามารถมีอาการ Mama Blue ได้เช่นกัน โดยมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 10% และจะเกิดในช่วงที่ลูกมีอายุประมาณ 3-6 เดือนไปแล้ว

ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศชายที่อาจมีลดลงบ้าง และฮอร์โมนอีสโทรเจนเพิ่มขึ้น รวมทั้งฮอร์โมนตัวอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลง และความกังวลในการเลี้ยงดู ทำให้เกิดอาการ Mama Blue ได้เช่นกัน

เช็กลิสต์อาการ Mama Blue

เช็กว่าคุณอยู่ในอาการ Mama Blue หรือไม่ ?

ผู้หญิงมักจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์บ่อยครั้งจากฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีประจำเดือน ช่วงตั้งท้องแรก ๆ หรือจะเป็นหลังคลอดลูกนี้

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต รายงานว่า อาการนี้จะเห็นได้ชัดเจน หากคุณแม่มีปัญหา 2 ประเภทหลักคือ ปัญหาด้านอารมณ์ และปัญหาด้านพฤติกรรม ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นโรคร้ายแรงได้ในอนาคต

  • ปัญหาด้านอารมณ์

1. รู้สึกโกรธ เศร้า และร้องไห้หนักมาก

2. เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวเครียด เดี๋ยวกังวล

3. คิดลบกับตัวเองอยู่เสมอ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า

4. ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ

5. มีความคิดที่อยากฆ่าตัวตาย

  • ปัญหาด้านพฤติกรรม

6. ง่วงนอนตลอดเวลา แต่ก็นอนไม่หลับ

7. กินไม่ได้ เบื่ออาหาร

8. เคลื่อนไหวช้าลง

9. ไม่อย่าทำอะไรทั้งสิ้น

กรมสุขภาพจิตระบุเพิ่มเติมว่า หากคุณแม่มีอาการอย่างน้อย 5 ข้อจากทั้งหมด 9 ข้อ โดยมีข้อ 1 และ 2 ร่วมด้วย นั่นแปลว่า อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนคุณแม่ว่า Mama Blue อาจจะเกิดขึ้น ควรรับมืออย่างมีสติกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

จะรับมือกับ Mama Blue อย่างไรดี ?

อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นนะคะ ว่าอาการ Mama Blue สามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาหรือบำบัดเลย แต่อย่างไรก็ตาม นี่คือวิธีการเตรียมรับมือ และรักษาอาการเบื้องต้นเพื่อให้คุณพ่อและคุณแม่รู้สึกดีขึ้น

  • นอนให้มากขึ้น ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ แต่ก็ควรดูแลสุขภาพของตนเอง หาเวลาพักผ่อนบ้างก็จะช่วยบรรเทาความเครียดได้เช่นกันค่ะ
  • ใช้เวลาส่วนตัวบ้าง โดยการขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เช่น ฝากคุณยายดูแลก่อน ตอนที่คุณแม่ต้องอาบน้ำ หรือ ขอให้เพื่อนมาหาบ้างเป็นบางครั้ง
  • รับแสงแดด เดินเล่นข้างนอก วิ่งรอบหมู่บ้าน ไม่อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม ออกมาสัมผัสอากาศบริสุทธิ์บ้าง ก็จะช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น
  • คิดบวกอยู่เสมอ เข้าใจตนเองว่ากำลังเผชิญกับโรคที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
  • คุยกับผู้ที่ประสบปัญหาเดียวกัน ในปัจจุบันมีพื้นที่บนโลกโซเชียลที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ เข้าหากันได้มากขึ้น เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ แก้ไขปัญหาที่พบเจอ
  • งดดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด เพราะจะมีผลต่ออารมณ์และทำให้คุณรู้สึกแย่ลง จนไม่มีอารมณ์เลี้ยงดูลูกน้อยอีกต่อไป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พร้อมกับการออกกำลังกายไปด้วย เพื่อลดความเครียดลง

มากไปกว่านั้น คนที่สามารถช่วยให้คุณแม่สามารถก้าวผ่านอุปสรรคที่สัมผัสไม่ได้ และแสนอันโหดร้ายนี้ไปได้ ไม่ใช่ใครที่ไหนเลยค่ะ คือ ‘คุณพ่อ’ นั่นเอง ขอแค่คุณพ่ออยู่ใกล้ ๆ คุณแม่เสมอ เข้าใจรับฟังอารมณ์ เป็นกำลังใจให้เสมอ และไม่เพิ่มเชื้อเพลิงลงไป เพียงเท่านี้คุณแม่ก็พอใจแล้วค่ะ

เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก อาการ Mama Blue ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น จนกระทั่งฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่กลับสู่สภาวะปกติ และอาการนี้ก็จะหายไปเอง

สำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานไปด้วยและเลี้ยงลูกน้อยไปด้วย ยิ่งเปิดโอกาสให้เกิดอาการ Mama Blue ได้ง่ายกว่าคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียว เพราะไหนจะต้องกังวลเรื่องลูก แล้วไหนจะกังวลเรื่องงานอีก ความเครียดสะสมมากมาย สามารถคลิกบทความ วิธีรับมอกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ฉบับคุณแม่ Working Mom’ เพื่อรับรู้และป้องกันภาวะซึมเศร้านี้ได้อย่างตรงจุด

อาการ Mama Blue ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหากคุณแม่และคุณพ่อเข้าใจอาการนี้ และสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ได้ ขอแค่คอยอยู่ด้วยกัน เข้าใจกัน และเติมความรักให้กันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร โรคอะไร ก็ย่อมแพ้ให้กับ ความรัก ที่คอยเติมให้กันและกัน

SHARE

RELATED POSTS

5 เคล็ดลับช่วยดูแล ฟื้นฟู “ผมร่วงหลังคลอด”…
กันไว้ดีกว่าแก้ กับท่าออกกำลังกายป้องกันอาการมดลูกต่ำ หลังจากคลอดลูก คุณแม่หลายคนมักจะเจอปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพต่าง…
ไขสารพันความข้องใจเกี่ยวกับ น้ำคาวปลา ที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ คุณแม่มือใหม่ที่ตั้งครรภ์และคลอดเป็นครั้งแรกในชีวิต…
จริงหรือไม่? ไขข้อสงสัยที่โบราณว่าไว้ ลูกติดมือเพราะอุ้มบ่อย หลากหลายคำพูดของผู้ใหญ่ในครอบครัวที่ชอบเตือนว่า…