Search
Close this search box.
Baby Led Weaning (BLW) วิธีฝึกลูกกินข้าวเองให้เป็น

Baby Led Weaning (BLW)
ฝึกลูกกินข้าวเอง ให้อิสระในการหยิบจับอาหาร

เมื่อถึงวัยที่ลูกเริ่มทานอาหารได้แล้ว เหล่าคุณแม่ก็จะเริ่มงัดกลยุทธ์ต่าง ๆ ขึ้นมาใช้เพื่อให้ลูกกินอาหารให้ครบตามโภชนาการที่ควรจะเป็น วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการฝึกลูกกินข้าวเองให้เป็นด้วยวิธี Baby Led Weaning (BLW) กันค่ะ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกเจริญอาหาร และมีความสุขในการกินได้อย่างเต็มที่

Baby Led Weaning (BLW) คืออะไร

Baby Led Weaning (BLW) คืออะไร

Baby Led Weaning (BLW) คือ วิธีฝึกลูกกินข้าวเอง มอบอิสระให้การกินของลูกด้วยการให้หยิบอาหารกินเองด้วยมือ โดยอาหารที่ให้กินนั้นจะเป็นอาหารคล้ายของผู้ใหญ่เลยค่ะ จะไม่บด ไม่ปั่น ไม่ใช้ช้อน และไม่ปรุงแต่งในเด็กขวบแรก ลูกจะได้สัมผัสพื้นผิว ลักษณะความแข็ง ความนุ่มของอาหาร เรียนรู้การเคี้ยว การกลืน และรับรู้ถึงความรู้สึกที่สามารถหยิบอาหารเข้าปากได้ด้วยตัวเอง

ประโยชน์ของการฝึกลูกกินข้าวเองด้วยวิธี Baby Led Weaning

ประโยชน์ของการฝึกลูกกินข้าวเองด้วยวิธี Baby Led Weaning
  • ลูกจะแฮปปี้ในการกินมากขึ้น เป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาหาร
  • BLW เป็นการฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง
  • ฝึกนิสัยการกินอาหารที่ดี ไม่กินไปเล่นไป
  • ลูกจะอยากกินอาหารเองและไม่เลือกกิน ไม่ว่าจะมีรูปร่างหรือเนื้อสัมผัสแบบไหนก็กินได้
  • ทดลองกินอาหารหลากหลายมากขึ้น
  • ลูกจะสามารถกินผัก ผลไม้ได้มากขึ้น
  • BLW ยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือผ่านการหยิบ จับ
  • ที่สำคัญคือ สบายคุณแม่ ไม่ต้องเหนื่อยป้อนค่ะ

Baby Led Weaning (BLW) สามารถฝึกได้เมื่อไหร่ ?

Baby Led Weaning (BLW) ฝึกตอนไหน

อายุที่เหมาะต่อการฝึก Baby Led Weaning คือตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เพราะระบบย่อยอาหารจะพร้อมมากที่สุด และต้องมีความพร้อมด้านร่างกายด้วย ดังนี้

  • ลูกต้องนั่งหลังตรงเพื่อป้องกันอาหารติดคอหรือสำลัก
  • รอให้ลูกสามารถหยิบสิ่งของด้วยมือให้ได้ก่อน จึงจะคว้า จับ หรือกำอาหารได้
  • ปฏิกิริยา Tongue Thrust Reflex หรือการดัน/ดุนลิ้น จะต้องหายไปก่อน ซึ่งจะค่อย ๆ หายไปเองในช่วงอายุ 4 – 6 เดือน
    วิธีเช็กว่าอาการนี้หายไปหรือยัง ให้คุณแม่เอานิ้วชี้ไปวางบนปากลูก คล้ายตอนทำท่าจุ๊ปาก
    ถ้าลูกยังเอาลิ้นดันนิ้วเราออกมา แสดงว่ายังไม่หาย แต่ถ้าลูกดูดนิ้วเรา ทำจุ๊บ ๆ จ๊วบ ๆ แสดงว่าหายไปแล้ว

ทั้งนี้คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องฟันของลูกในการเริ่มต้น BLW นะคะ เพราะลูกสามารถใช้เหงือกบดอาหารได้ นอกจากนี้ ในเรื่อง “กินได้มากหรือน้อยแค่ไหน” ไม่สำคัญเท่ากับเข้าใจคอนเซ็ปต์ในการกิน เพราะในขวบปีแรก อาหารหลักของเด็กคือ นมแม่ หรือนมผง ส่วนอาหารเสริมเป็นสิ่งที่มาเสริมอาหารหลัก

อ้างอิง: https://www.nhs.uk/conditions/baby/weaning-and-feeding/babys-first-solid-foods/

กฎ BLW

การฝึกลูกกินข้าวเองด้วยวิธี Baby Led Weaning (BLW) มีกฎว่า…

  1. ช่วงเริ่มต้นในสัปดาห์แรก ควรไปอย่างช้า ๆ สบาย ๆ เน้นอาหารนิ่ม แต่ไม่เละ หั่นชิ้นพอดีคำ จับถนัดมือ เช่น พวกผักต้มสุก และผลไม้ประมาณ 3 – 4 อย่าง เมื่อลูกเริ่มชินแล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนให้เป็นอาหารแบบผู้ใหญ่มากขึ้น และที่สำคัญไม่ควรปรุงแต่งมากเกินไปนะคะ
  2. การทำ Baby Led Weaning ต้องให้ลูกนั่งกินเท่านั้นนะคะ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เก้าอี้กินข้าวสำหรับเด็ก (High Chair) ที่มีพนักพิงและปรับระดับความสูงให้เท่ากับโต๊ะอาหารในบ้านได้
  3. คุณพ่อและคุณแม่จะต้องไม่ป้อน ไม่เชียร์ และไม่บังคับ รอให้ลูกหยิบอาหารเข้าปากเอง เราเพียงแค่เสิร์ฟอาหารที่ถูกโภชนาการให้ก็พอค่ะ
  4. อยู่กับลูกตลอดเวลา ห้ามปล่อยลูกไว้คนเดียวเด็ดขาด คุณแม่หรือคนดูแลควรมีความรู้ในเรื่องการช่วยเหลือ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อป้องกันเวลาที่มีอาหารหลุดเข้าไปในคอแล้วไปกั้นทางเดินหายใจ

วิธีฝึกลูกกินข้าวเอง Baby Led Weaning (BLW)

วิธีฝึกลูกกินข้าวเอง Baby Led Weaning (BLW)
  1. เริ่มฝึกได้เมื่อลูกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป
  2. จับลูกนั่งเก้าอี้
  3. เตรียมวัตถุดิบ อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการเหมาะสมตามวัย เรามีวัตถุดิบที่สามารถนำมาทำเป็นอาหาร BLW มาแนะนำให้ด้วยค่ะ เช่น
  • อาหารแท่งพอดีคำ หรือ Finger Food คลิกอ่านเพิ่มเติม ฝึกลูกกินข้าวเองให้เป็น เสริมพัฒนาการด้วย Finger Food
    ต้องหั่นเป็นแท่ง พอดีคำ ไม่ใหญ่จนเกินไป ห้ามหั่นเต๋าเด็ดขาด
  • ฟักทอง หั่นเป็นชิ้น หรือเป็นแท่ง ความยาวเท่านิ้วชี้ ช่วยให้หยิบจับง่ายขึ้นสำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มฝึก
  • แคร์รอต หั่นเป็นแท่ง ขนาดประมาณนิ้ว
  • มะเขือเทศ หั่นเป็นซีก พอดีคำ ห้ามหั่นเป็นแว่น
  • บรอกโคลี ต้มหรือนึ่งให้สุก หั่นเป็นช่อ เหลือก้านให้เพื่อให้ลูกจับถนัด
  • เห็ดแชมปิญอง / เห็ดออรินจิ ต้มหรือนึ่งให้สุก หั่นเป็นชิ้นให้หนาเท่านิ้วมือ
  • ไข่ต้ม ต้มให้สุกแล้วหั่นเป็นซีก
  • เนื้อหมู หั่นเป็นแท่งตามความยาว
  • กุ้ง ผ่าหลังตามความยาว อาจแบ่งเป็น 2 – 3 ชิ้น สำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่ม ถ้าฝึกมาสักระยะแล้วสามารถใช้ทั้งตัวได้เลย
  • ผลไม้เนื้อแข็ง เช่น แอปเปิล ฝรั่ง สาลี่ หั่นซีกตามความยาว หรือหั่นเป็นเส้น
  • ผลไม้เนื้อนิ่ม เช่น สับปะรด สามารถหั่นได้ทั้งแบบเป็นแท่ง ชิ้นสามเหลี่ยม หรือชิ้นวงกลม

โดยหลักแล้วการหั่นอาหารแบบ Baby Led Weaning (BLW) ควรหั่นเป็นแท่งยาว เพื่อให้ลูกหยิบจับได้ถนัดมือ ความยาวเท่านิ้วชี้ ความหนาเท่านิ้วก้อย แล้วแบ่งเป็น 2 – 4 ส่วน ทั้งนี้ลูกจะได้เรียนรู้ทั้งการกัด การเคี้ยวที่ถูกต้องก่อนกลืน เพราะถ้าเราหั่นอาหารชิ้นเล็ก ลูกอาจจะกลืนไปเลย ทำให้ไม่ได้ฝึกการกัดและเคี้ยว

  1. กำหนดเวลากินอาหาร เพียง 15 – 45 นาทีเท่านั้น
    ส่วนเรื่องการฝึกดื่มน้ำ แนะนำให้ใช้แก้วหัดดื่ม (sippy cup) ใส่น้ำปริมาณน้อย ๆ ก่อนในช่วงแรกเริ่ม หากกังวลว่าจะหกเลอะเทอะ หรือลูกไม่มีแรงยกถ้าใส่น้ำเยอะไป เมื่อเด็กเริ่มชินแล้ว ค่อยเทน้ำเกินครึ่งแก้วได้ เมื่อลูกยกแก้วเข้าปากจะง่ายกว่าแก้วที่มีน้ำน้อย ก่อนขวบให้ดื่มน้ำประมาณ 4o z/วันก็พอค่ะ ยังไม่ควรให้เด็กดื่มน้ำผัก ผลไม้ เพราะไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการต่อเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ
  2. ห้ามช่วยลูกด้วยการป้อนเด็ดขาด
  3. ไม่เชียร์ ไม่บังคับ รอให้ลูกหยิบอาการกินเองตามความต้องการ
  4. พ่อแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยลูกฝึก BLW ตามลำพัง

ในช่วงแรกที่ฝึกลูกกินข้าวเองให้เป็นด้วยวิธี Baby Led Weaning อาจจะขัดใจคุณแม่ไปบ้าง มีหก เลอะเทอะ กินหมด/ไม่หมดบ้าง หรืออยากป้อนใจจะขาด แต่เราต้องใจแข็งนิดนึงนะคะ เพื่อฝึกลูกให้หยิบอาหารเข้าปากเองได้ เราเพียงอยู่ดูแลลูกระหว่างกินให้มีความปลอดภัย ลูกก็จะเรียนรู้และกินอาหารได้หลากหลายมากขึ้นแล้วล่ะค่ะ

SHARE

RELATED POSTS

เตรียมเลย! เข้าครัวทำอาหารต้านหวัด เสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย อาหารต้านหวัด…
ปัญหาเด็กแพ้อาหารไม่ใช่เรื่องเล็ก พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม เมื่อถึงเวลาที่ลูกน้อยต้องเริ่มทานอาหารอื่นนอกจากนมแม่ ในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะรู้สึกตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลง…
รวมเคล็ดลับการให้อาหารมื้อแรกของลูกที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้! การเริ่มต้นให้อาหารมื้อแรกของลูกน้อยนับเป็นก้าวสำคัญในการช่วยส่งเสริมโภชนาการและพัฒนาการของเจ้าตัวเล็ก พ่อแม่มือใหม่มือใหม่หลายคนอาจเป็นกังวลและมีคำถามมากมายเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมที่และข้อควรคำนึงเพื่อเตรียมอาหารมื้อแรกของลูกอย่างเหมาะสม เราจึงได้รวบรวมทุกข้อควรรู้และเคล็ดลับการเริ่มต้นให้อาหารมื้อแรกของลูกมาฝากเหล่าพ่อแม่มือใหม่กัน…