5 วิธีป้องกัน อาการลูกแหวะนมที่พ่อแม่ต้องเจอในเด็กแรกเกิด
อาการลูกแหวะนม เป็นอาการปกติที่พ่อแม่สามารถพบได้ในเด็กทารกแรกเกิดโดยเฉพาะช่วง 4 เดือนแรก หลังจากนั้นอาการลูกแหวะนมจะเริ่มดีขึ้นและหายได้เองในช่วงอายุ 12-18 เดือน แต่ระหว่างนี้ถ้าลูกแหวะนมบ่อยมากเกินไปจนผิดสังเกต พ่อแม่ไม่ควรปล่อยเอาไว้นะคะ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพของลูกก็ได้ เรามาทำความเข้าใจอาการลูกแหวะนมกันก่อนดีกว่าว่ามันเกิดขึ้นจากอะไรแล้วมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง
รู้จักอาการลูกแหวะนม
ลูกแหวะนม คือ อาการที่ลูกบ้วนนมออกมาในระหว่างหรือหลังดูดนม สาเหตุที่ลูกแหวะนมเกิดจากลูกดูดนมในปริมาณมาก กระเพาะที่ยังเล็กจึงไม่มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำนม และกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารก็ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ทำให้ลูกแหวะนมนั่นเองค่ะ
อย่างที่เราได้บอกไว้ตอนต้นว่าอาการลูกแหวะนมจะหายไปได้เองเมื่อลูกโตขึ้น แต่ระหว่างนั้นถ้าลูกแหวะนมบ่อยขึ้นร่วมกับแสดงอาการที่ผิดปกติก็มีโอกาสเป็นภาวะโรค GERD หรือกรดไหลย้อนได้ ซึ่งเป็นอาการของเหลวในกระเพราะไหลย้อนมายังหลอดอาหาร และอาจเป็นไปได้ว่าอาการเหล่านี้จะกลายเป็นภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ หรือ ระบบทางเดินอาหาร
*อาการลูกแหวะนมอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่กรดไหลย้อน บางทีอาจเกิดจากลูกแพ้นมวัว หรือร่างกายย่อยน้ำตาลแลกโตส (Lactose) ได้ไม่ดี ซึ่งจะแสดงอาการที่ต่างออกไป เช่น ผื่นขึ้น ผิวหนังอักเสบ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก หรือถ่ายเหลว ถ่ายปนเลือด ถ้ามีอาการเหล่านี้เพิ่มเข้ามาก็มีโอกาสที่ลูกจะแพ้นมวัวได้ ควรพาน้องไปตรวจหาสาเหตุเพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะดีกว่านะคะ
วิธีสังเกตอาการลูกแหวะนมปกติ กับ โรค GERD
- ลูกแหวะนมปกติ – ของเหลวที่ออกมาจะมีลักษณะสีขาวคล้ายลิ่มเต้าหู้ ไม่ปนเลือดหรือน้ำดีออกมาด้วย
ลูกแหวะนมในภาวะโรค GERD – จะมีเลือดหรือน้ำดีปนมาด้วย และจะอาเจียนพุ่งมากกว่าปกติ - ลูกแหวะนมปกติ – หลังลูกแหวะนมจะยังดูดนมต่อได้ ไม่งอแง
ลูกแหวะนมในภาวะโรค GERD – ร้องงอแง แสดงอาการไม่สบายตัว และปฎิเสธการดูดนมหรือหยุดดูดนมกลางคัน - ลูกแหวะนมปกติ – น้ำหนักตัวขึ้นอย่างน้อย 20-50 กรัมต่อวัน
ลูกแหวะนมในภาวะโรค GERD – น้ำหนักตัวไม่ขึ้น หรือขึ้นน้อยกว่า 20 กรัมต่อวัน - กรณีลูกแหวะนมในภาวะโรค GERD อาจมีอาการสำลัก หายใจหอบและไอ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้
5 วิธีป้องกันไม่ให้ลูกแหวะนม
1. ลดปริมาณการให้นมลูก และอย่าปล่อยให้หิวจัด เพราะความหิวจะทำให้ลูกรีบกินในปริมาณมากเกินไป ทำให้ลูกแหวะนมได้
2. ลูกแหวะนมจากการกินนมขวด ต้องตรวจเช็กก่อนว่า ขนาดขวดนมและจุกนมไม่ใหญ่เกินไป เพราะลมจากขวดจะเข้าไปในกระเพาะ แนะนำให้ลูกกินนมทีละครึ่ง แล้วจับให้เขาเรอออกก่อนแล้วค่อยให้กินนมต่อจนหมด แล้วจับเรออีกครั้ง
3. ลูกแหวะนมจากการกินนมจากเต้า แนะนำให้จับลูกเรอระหว่างที่กำลังจะเปลี่ยนฝั่งเต้านม
4. ป้องกันลูกแหวะนม หลังจากกินนมเสร็จแล้ว ให้จับลูกเรอด้วยท่าอุ้มเรอที่ถูกต้อง
- ท่าอุ้มพาดบ่า ตัวลูกจะแนบกับอกแม่ ส่วนคางลูกจะพาดที่บ่า ใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะลูก อีกมือลูบหลังเบา ๆ
- ท่าพาดตัก ให้ลูกนอนคว่ำ โดยพาดอยู่ที่ตักของแม่ ใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะลูกขึ้นเล็กน้อย (ให้สูงกว่าลำตัว) ส่วนอีกมือก็ลูบหลังลูก
- ท่านั่งตักแม่ อุ้มให้ลูกนั่งตักเรา โดยใช้มือข้างซ้ายประคองคางลูก (จะอยู่ในตำแหน่งหน้าอกลูกพอดี) ให้คางลูกอยู่ระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วโป้ง แล้วจับตัวลูกให้ตรงเอนมาข้างหน้าเล็กน้อย ใช้มือข้างขวาลูบหรือตบหลังลูกเบา ๆ
หากทำท่าอุ้มลูกตามนี้แล้วลูกยังไม่เรอก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะคะ ถึงแม้เขาจะไม่เรอ แต่การอุ้มลูกหลังกินนมเสร็จจะช่วยให้นมไหลลงสู่กระเพาะอาหารได้ดี ลูกสบายตัว หลับง่าย สามารถอ่านท่าอุ้มลูกที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัย เพิ่มเติมได้ที่ แนะนำ 6 ท่าอุ้มลูกที่เหมาะกับเด็กแรกเกิดถึง 4 เดือนขึ้นไป
5. หลังจากกินนมเสร็จแล้ว หากไม่สะดวกอุ้มลูกเรอ ให้จับลูกนอนหัวสูง ตั้งศีรษะให้ตรง 30-45 องศา ตะแคงไปด้านซ้าย ซึ่งเป็นด้านเดียวกับกระเพาะอาหาร ประมาณ 30 นาที นมจะไม่ไหลย้อนขึ้นจนทำให้ลูกแหวะนมค่ะ
แม้ว่าอาการลูกแหวะนมจะเป็นภาวะปกติที่พ่อแม่ต้องเจอ แต่ถ้าเราเข้าใจถึงที่มาที่ไปของอาการก็จะช่วยให้เรารู้ว่าจะต้องป้องกันหรือดูแลลูกอย่างไรให้ดีที่สุด หากเกิดอาการผิดปกติขึ้นมาก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาอย่างถูกต้อง อย่าชะล่าใจไปนะคะ