ลูกทะเลาะกัน

“ลูกทะเลาะกัน” 5 วิธีช่วยห้ามทัพศึกระหว่างพี่น้อง

ครอบครัวไหนที่มีลูกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะต้องเผชิญกับปัญหาพี่น้องทะเลาะกันอย่างแน่นอน คุณพ่อคุณแม่คงกุมขมับพากันกลุ้มใจกับปัญหาลูกทะเลาะกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เองก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการความขัดแย้งเหล่านี้ให้ลูกตั้งแต่ในวัยเด็ก ไม่ควรปล่อย หรือละเลยการมีปากเสียงกันเพียงเล็กน้อย เพราะ ถ้าหากได้รับการดูแลที่ไม่ถูกวิธี ศึกพี่น้องทะเลาะกันนี้ อาจกลายเป็นปมในใจของลูกไปจนโตเลยก็ได้

5 วิธีช่วยห้ามทัพศึก และคำแนะนำ
ในการเลี้ยงดู เมื่อลูกทะเลาะกัน

ลูกทะเลาะกัน

1.การเลี้ยงดู แม้เป็นพี่น้องกัน แต่มีความแตกต่าง

หนังสือ The Birth Order Book: Why You Are the Way You Are บอกไว้ว่า การเลี้ยงลูก ทั้งพี่และน้องแบบเหมือนกันทุกอย่าง ด้วยความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะ เด็กแต่ละคน ย่อมแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งอาจมาจากลำดับการเกิดด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรปรับการเลี้ยงดูให้เข้ากับนิสัยของลูกแต่ละคน ทั้งนี้ รวมไปถึงความชอบของพี่น้องด้วย เช่น ลูกชายคนโต ชอบดูการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ แต่ลูกสาวคนเล็ก ชอบดูการ์ตูนเจ้าหญิง ในความคิดของคุณพ่อคุณแม่ อาจคิดว่ามันก็คือการ์ตูนเหมือนกัน หากเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลูกจะคิดว่าลำเอียง อาจทำให้เกิดความน้อยใจได้ คำแนะนำคือ ควรให้ในสิ่งที่ลูกแต่ละคนต้องการ แบ่งเวลากัน เขาจะได้ในสิ่งที่ต้องการทั้งคู่ จะช่วยห้ามทัพไม่ให้พี่น้องทะเลาะกันได้

ลูกทะเลาะกัน

2.สอนให้รู้จักการแบ่งปัน พี่ไม่จำเป็นต้องเสียสละให้น้อง

‘เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง’ ประโยคยอดฮิตที่ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ เมื่อนำมาใช้เป็นวิธีเลี้ยงลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่คงจะต้องปรับกันสักหน่อย อาจปลูกฝังให้ลูกรู้จักการแบ่งปัน ทั้งการใช้สิ่งของร่วมกัน ทานขนมด้วยกัน เล่นด้วยกัน หรือผลัดกันเล่นของเล่น หากเกิดกรณีที่ ลูกคนโตกำลังเล่นของเล่นอยู่ แล้วลูกคนเล็กก็อยากเล่นชิ้นนั้นขึ้นมาพอดี ไม่ควรบอกให้พี่เสียสละให้น้อง แต่จงสอนให้พี่น้องแบ่งกันเล่น บอกถึงข้อดีของการเล่นด้วยกัน และที่สำคัญ อย่าลืมชมลูกทันที เมื่อเกิดการแบ่งปันกันเกิดขึ้น และต้องชมทุกครั้งที่เล่นด้วยกันอย่างสงบ จะช่วยให้เขาจดจำได้ว่าการแบ่งปันกันเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ยังช่วยลดไม่ให้ลูกทะเลาะกันได้อีกด้วย

ลูกทะเลาะกัน

3.เอาน้ำเย็นเข้าลูบ ฟังเหตุผล อย่าพึ่งดุลูก

เมื่อพี่น้องทะเลาะกัน คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น อย่าพึ่งดุลูกในทันที และไม่ควรฟังความข้างเดียว ต้องรับฟังเรื่องราวของทั้งสองฝ่าย หาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดการทะเลาะ แล้วหาทางออกร่วมกัน สอนให้เขาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รู้จักการเสียสละ อดทน ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ที่สำคัญคือ การสอนให้ลูกรู้จักยอมรับผิด สอนให้พูด ‘ขอโทษ’ ไม่ว่าน้องหรือพี่จะเป็นฝ่ายผิดก็ตาม และนอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องใจเย็นแล้ว ยังต้องระวังอย่าเป็นตัวจุดชนวน เพิ่มความขัดแย้งให้ระหว่างพี่น้องอีกด้วยล่ะ

ลูกทะเลาะกัน

4.ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การแข่งขัน

หากในครอบครัวมีลูกหลายคน เป็นเรื่องธรรมดาที่พี่น้องจะคิดว่ามีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา วิธีเลี้ยงลูก คือ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้พวกเขารักกัน ผ่านการทำกิจกรรม อย่างเช่น การเล่นเกมแล้วให้ลูกอยู่ทีมเดียวกัน เพื่อให้เขาได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหา และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งการร่วมมือระหว่างพี่น้องนี้ จะช่วยทำให้พี่น้องปรองดอง เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และสิ่งที่สำคัญ คือ ระวังคำพูด ไม่ควรพูดให้ลูกเปรียบเทียบกันเอง เช่น ‘ทำไมน้องถึงไม่เชื่อฟังคุณแม่ เหมือนพี่เขาล่ะ’ คำพูดพวกนี้นี่แหละที่อาจเป็นเหตุให้ลูกทะเลาะกันได้  

ลูกทะเลาะกัน

5.ความหิว ตัวการร้ายกาจที่ทำให้พี่น้องทะเลาะกัน

สำหรับเด็ก ๆ แล้ว เมื่อเขาเริ่มหิว คำพูดหรือการกระทำของพี่หรือน้อง คงทำให้ขัดใจ หรือขวางหูขวางตาไปซะหมด จนทำให้เกิดการทะเลาะกันเกิดขึ้น บางกรณี เล่นของเล่นกันอยู่ดี ๆ ก็ทะเลาะกันขึ้นมาเฉยเลย ดังนั้น เมื่อถึงเวลาทานอาหาร คุณพ่อคุณแม่ก็จะเริ่มได้ยินเสียงสัญญาณการตีกันระหว่างพี่น้อง วิธีเลี้ยงลูกของปัญหานี้ ให้ลองเรียกลูกมาทานข้าวดูสิ เชื่อว่าปัญหาลูกทะเลาะกัน จะถูกคลี่คลายไปได้ง่าย ๆ เลยล่ะ

ทั้ง 5 วิธีช่วยห้ามทัพศึก และคำแนะนำในการเลี้ยงดู เมื่อลูกทะเลาะกันนี้ คงช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ห้ามทัพศึกแห่งพี่น้องทะเลาะกันนี้ไปได้อย่างสบายใจแน่นอน แต่เรื่องสำคัญที่สุดเลย คือ อย่าลืมว่าเมื่อในครอบครัวมีลูกหลายคน การเลี้ยงดู หรือวิธีเลี้ยงลูก อบรมสั่งสอนลูกแต่ละคน ควรปรับให้เหมาะกับอุปนิสัย และความชอบของลูก เพราะเด็กแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน เพียงเท่านี้เราก็สามารถยุติปัญหาลูกทะเลาะกันไปได้อย่างสบายมือแล้ว

SHARE

RELATED POSTS

ป้องกันลูกขาดความมั่นใจ ด้วยการปลูกฝัง Self Esteem…