รู้จักภาวะ ‘Parental Burnout’ เมื่อพ่อแม่เลี้ยงลูกจนหมดไฟ
ในยุคนี้อาการหมดไฟ (Burnout) คงเป็นคำคุ้นเคยของคนทำงาน แต่รู้ไหมคะว่า… พ่อแม่เองก็มีภาวะ ‘Parental Burnout’ หรือการเลี้ยงลูกจนหมดไฟได้เหมือนกัน เพราะในหนึ่งวันเรามีสิ่งที่ต้องทำมากมาย การจะบริหารเวลาให้ Work-life Balance พร้อมเลี้ยงลูกไปด้วยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพ่อแม่หมดไฟ ร่างกายก็หมดแรง ส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว วันนี้ Cotton Baby จึงเตรียมวิธีดูแลกายใจให้ไม่เหนื่อยล้า พร้อมเคล็ดลับบริหารเวลา เพื่อป้องกันภาวะพ่อแม่หมดไฟมาฝากกันค่ะ
ภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout) คืออะไร
การรู้สึกหมดไฟ (Burnout) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อร่างกายเกิดความเหนื่อยล้าสะสม ประสิทธิภาพในการทำงานก็ลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่นเดียวกับภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout) ซึ่งเป็นความเหน็ดเหนื่อยจากการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องการความใส่ใจตลอด 24 ชั่วโมง พ่อแม่จึงทุ่มเวลาให้ทั้งหมด จนลืมใส่ใจสุขภาพตัวเอง
ผลการวิจัยจากสำนักพิมพ์ Frontiers รายงานว่า ในพ่อแม่ผู้ร่วมการทดลอง 2,000 คน มีจำนวนแม่ราว 13% และพ่อจำนวน 11.6% เคยเกิดภาวะ ‘High Burnout’ หรืออาการหมดแรง อารมณ์ไม่คงที่ และมีประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งมาจากความรู้สึกกดดันเมื่อต้องการทำทุกอย่างให้เพอร์เฟ็กต์ พอสะสมนานวันเข้า ร่างกายก็เหนื่อยล้า เป็นที่มาของภาวะเลี้ยงลูกจนหมดไฟนั่นเองค่ะ
ความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหรือเลี้ยงลูกนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะใน 365 วัน ต้องมีสักวันที่เราอ่อนล้าหมดแรงกันบ้าง แต่อาการแบบไหนหล่ะที่จะบ่งบอกได้ว่าเป็นอาการเลี้ยงลูกจนหมดไฟ? ก่อนจะไปดูวิธีบริหารเวลาให้ลูกและเราแฮปปี Cotton Baby ขอชวนมาเช็กตัวเองก่อนว่า อาการไหนเข้าข่ายภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout) บ้างค่ะ
เช็กสัญญาณเตือน! อาการแบบไหนเข้าข่ายภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout)
รู้สึกไม่มีความสุข และเหนื่อยตลอดเวลา
เคยไหมคะ จู่ ๆ ก็รู้สึกว่าการเลี้ยงลูกเป็นงานที่ยากลำบาก เจ้าตัวน้อยที่เคยเจื้อยแจ้วน่ารัก กลับเป็นเด็กเอาแต่ใจที่ทำให้อารมณ์เสีย พาลให้การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีอีกต่อไป เป็นสาเหตุให้รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา จนอยากจะหนีให้พ้นจากสถานการณ์นี้
อารมณ์อ่อนไหวง่าย
อารมณ์สวิงไร้ทิศทาง รู้สึกอ่อนไหวง่าย เดี๋ยวหงุดหงิด ดีใจ เสียใจ ขาดการควบคุมตัวเอง อีกทั้งยังไวต่อสิ่งเร้ารอบตัว ไม่ว่าจะเป็นผู้คน หรือสถานที่แออัดก็ชวนให้รู้สึกไม่ชอบใจเลย
มีอาการย้ำคิดย้ำทำ
เช็กสิ่งเดิมซ้ำ ๆ จนเข้าขั้นวิตกกังวล เช่น ทำความสะอาดบ้านมากเกินไป ย้ำเตือนเรื่องเดิม ๆ กับคนในครอบครัว หรือรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ เป็นผลให้เกิดความเครียด และเสียสุขภาพจิตได้ค่ะ
รู้สึกเบลอ สับสน หลงลืมบ่อย
เมื่อพ่อแม่หมดไฟ ร่างกายก็เกิดความเครียด เป็นผลให้นอนหลับไม่สนิท มีอาการหลงลืม มึนงง และสับสนอยู่บ่อยครั้ง นับเป็นอาการอันตรายที่ผลต่อการทำงานของสมองค่ะ
ไม่อยากเป็นพ่อแม่หมดไฟต้องทำยังไง?
‘การเป็นพ่อแม่’ คืองานหินที่ต้องการความใส่ใจ และต้องใช้ความอดทนมหาศาล การหยุดพักเพื่อชาร์จพลังให้ตัวเองบ้างจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมที่ชอบจะทำให้สุขภาพกายใจดีขึ้น นอกจากนี้เมื่อลูกเห็นพ่อแม่ใส่ใจตัวเองแล้ว เด็กก็จะได้รับอิทธิพลในการดูแลตัวเองด้วย เป็นอีกหนทางที่ช่วยส่งต่อพลังบวก และเป็นต้นแบบที่ดีค่ะ
รู้แบบนี้… พ่อแม่ก็เริ่มชาร์จพลังกันได้แล้วนะคะ ไม่อย่างนั้นเราอาจจะหมดแรง เพราะเลี้ยงลูกจนหมดไฟได้ สำหรับใครที่อยากเลี่ยงภาวะ Parental Burnout ตาม Cotton Baby มาดูวิธีเยียวยากายใจ เพื่อไม่ให้เป็นพ่อแม่หมดไฟได้เลยค่ะ
How to ดูแลกายใจให้ห่างไกลภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout)
ใช้เวลาคนเดียวบ้าง
การให้ความรัก และดูแลลูกตลอดเวลาอาจเป็นสิ่งที่ดี แต่ในระหว่างนั้น พ่อแม่ก็ควรหาเวลาพักผ่อน เพื่ออยู่กับตัวเองบ้างนะคะ โดยอาจเป็นช่วงสั้น ๆ ตอนหัวค่ำ เมื่อเจ้าตัวเล็กผล็อยหลับไปแล้ว เราสามารถใช้เวลานี้ นอนแช่อ่างน้ำ อ่านหนังสือที่ชอบ หรือดูหนังกับคนรักได้ นอกจากจะช่วยผ่อนคลายแล้ว ยังได้ทำสิ่งที่อยากทำด้วยนะ
ทำกิจกรรมที่ชอบ
เมื่อมีเจ้าตัวน้อย เวลาในการทำสิ่งที่ชอบก็ลดลง ทำให้ขาดพลัง ไร้ความคิดสร้างสรรค์ จนแทบจะกลายร่างเป็นหุ่นยนต์คุณแม่ไปแล้ว! ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แทนที่จะคอยตามใจลูก ลองชักชวนให้เด็ก ๆ หันมาทำกิจกรรมที่เราชอบไปพร้อมกันสิคะ นอกจากจะช่วยให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่แล้ว ยังทำให้เราได้แชร์สิ่งที่ชอบกับลูกด้วยนะ
- ไม่เก็บปัญหาไว้ในใจ
เมื่อรู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจ ลองปรึกษาคนข้างกายดูสิคะ หากสิ่งที่ต้องจัดการมีเยอะเกินไป การมีคนมาช่วยแบ่งเบาก็เป็นเรื่องที่ดี เราจะมีเวลาเหลือได้ทำสิ่งที่สนใจ แล้วยังได้ระบายความรู้สึก ไม่อึดอัด และเป็นตัวกระชับความสัมพันธ์ชีวิตคู่ให้เข้าใจกันมากขึ้นด้วย
จัดมุมโปรดให้ลูก
หามุมปลอดภัยที่เจ้าตัวน้อยจะเพลิดเพลิน และเล่นสนุกคนเดียวได้อย่างสบายใจ โดยอาจใช้เป็นคอกเด็กเล็ก ๆ กั้นไว้พร้อมของเล่น หรือหนังสือเล่มโปรด ในระหว่างที่ลูกสนุกอยู่กับกิจกรรม เราก็ใช้เวลานี้ไปจัดการอย่างอื่นได้ ไม่ต้องคอยระแวงกับเสียงร้องงอแง หรือจดจ่อดูแลลูกจนเป็นพ่อแม่หมดไฟ
- นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ
การนอนคือยาชั้นดีสำหรับร่างกาย หากพักผ่อนน้อยกว่า 6-8 ชั่วโมงต่อวัน จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง รู้สึกหงุดหงิดง่าย น้ำหนักขึ้น และเสี่ยงปัญหาสุขภาพอีกมากมาย พ่อแม่จึงควรหาเวลานอนให้เหมาะสม หรือนอนเท่าที่จะมีเวลานอนได้ เพราะหากอดนอนนานเกินไป ภาวะพ่อแม่หมดไฟก็จะมาเยือนแน่นอน
เมื่อมีลูก พ่อแม่ก็อยากจะทุ่มเทความรัก ความเอาใจใส่ และให้เวลาแก่พวกเขาเต็มที่ แต่เมื่อถึงคราวที่ร่างกายไม่ไหว เริ่มส่งสัญญาณเตือนภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental Burnout) เราก็ควรจะหยุดพักเพื่อชาร์จพลัง พร้อมดูแลกายใจให้ผ่อนคลาย ปล่อยวางหน้าที่ลงบ้าง เพราะการกดดันตัวเองมากไป เราอาจเลี้ยงลูกจนหมดไฟโดยไม่รู้ตัวนะคะ