Search
Close this search box.
พาลูกไปพบจิตแพทย์

สร้างภูมิคุ้มกันทางใจได้ง่ายๆ

ด้วยการพาลูกไปพบจิตแพทย์

เด็กที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนอายุน้อยที่สุดในโลกอย่างเจ้าหนูในยุค Gen Z กำลังถูกความหลากหลายในสังคมดึงดูดใจอย่างไร้ทิศทาง การรับมือกับสภาพจิตใจที่ไม่ค่อยมั่นคง จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ซึ่งต้องร่วมมือกันสร้างเกราะป้องกันที่แข็งแรงให้ลูก และนับเป็นเรื่องโชคดีที่ปัจจุบันผู้ปกครองมือใหม่มีตัวช่วยดีๆ อย่าง ‘จิตแพทย์เด็ก’ ผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยให้คำปรึกษาและไขปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรม ตลอดจนช่วยค้นหาตัวตนให้ลูก เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดี นี่จึงเป็นเหตุผลว่า…ทำไมพ่อแม่จึงควรใส่ใจ ‘พาลูกไปพบจิตแพทย์’

พาลูกไปพบจิตแพทย์

เรื่องจริงเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็ก

Hincks-Dellcrest Centre ศูนย์สุขภาพจิตสำหรับเด็ก ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เผยสถิติว่าในจำนวนเด็กทุกๆ 5 คน จะมี 1 คน ที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิต อันเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น ความรุนแรงในบ้าน, การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน ฯลฯ โดยสถานการณ์เหล่านี้ล้วนขัดขวางพัฒนาการของเด็กโดยตรง อย่างไรก็ตามแม้ตัวเลขของเด็กที่มีความผิดปกติทางจิตใจจะเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาเหล่านี้มักไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและเปิดเผย เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่กลัวคนอื่นๆ จะมองไม่ดี จึงไม่กล้าพาลูกไปพบจิตแพทย์ กระทั่งอาการป่วยบานปลาย ทั้งที่ในความเป็นจริงพ่อแม่สามารถจูงมือเจ้าตัวเล็กไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ ตั้งแต่ตอนที่พวกเขายังไม่แสดงพฤติกรรมผิดปกติอะไรเลย

พาลูกไปพบจิตแพทย์

เมื่อไรที่ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์

หากนึกไม่ออกว่าจะพาลูกไปพบจิตแพทย์ด้วยเหตุผลอะไร พ่อแม่ลองเริ่มต้นจากการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูก ผ่านการทำกิจวัตรประจำวันของพวกเขา หรือปรึกษาครูประจำชั้นที่โรงเรียนดู ว่าลูกมีความผิดปกติทางอารมณ์หรือเข้าสังคมได้ดีหรือไม่ โดยส่วนใหญ่พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปมีดังนี้

พาลูกไปพบจิตแพทย์

ลูกเครียดและซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าเกิดได้กับคนทั่วไปไม่เว้นแม้กับเด็กและวัยรุ่น โดยในช่วงปีที่ผ่านมาวัยรุ่นไทยที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าถึงร้อยละ 44 สาเหตุหลักไม่เพียงมาจากการปรับตัวของฮอร์โมนเท่านั้น แต่สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กก็มีผลกระทบโดยตรง เช่น เด็กที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากการที่พ่อแม่แยกทางกัน หรือเด็กที่ต้องย้ายโรงเรียนกลางเทอม ส่วนสัญญาณที่บ่งบอกว่าหนูๆ กำลังเสี่ยงกับภาวะนี้ ได้แก่ อาการเศร้าซึม, เหม่อลอย, เบื่อหน่ายกิจกรรมเดิมๆ ทั้งที่เคยชื่นชอบ, นอนหลับไม่สนิทเวลากลางคืน และบางครั้งชอบโทษตัวเองเสมอแม้เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้อาการเครียดและซึมเศร้ายังอาจเกิดจากการมีปัญหาในใจแต่ไม่กล้าพูดกับพ่อแม่

พาลูกไปพบจิตแพทย์

ลูกทำร้ายตัวเอง

พฤติกรรมทำร้ายตัวเองอาจเกิดจากความอึดอัดและความหงุดหงิด ที่ไม่สามารถทำสิ่งที่ต้องการได้สำเร็จ พบมากในกลุ่มเด็กที่กำลังอยู่ในวัยชอบเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใหญ่ หรือเด็กช่วงวัยอนุบาลถึงประถมศึกษา เมื่อไม่สามารถทำบางสิ่งให้สำเร็จตามความคาดหวังได้ เช่น ผูกเชือกรองเท้า สวมใส่เสื้อผ้าเอง เด็กกลุ่มเสี่ยงจะเริ่มแสดงอาการไม่พอใจในตัวเอง และทำร้ายร่างเพื่อระบายอารมณ์ บางคนทุบหัวตัวเอง บางคนอาละวาดแล้วตีอกชกตัว พฤติกรรมเหล่าเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ถึงเวลาที่พ่อแม่ต้องหาที่ปรึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการอารมณ์ของลูก

พาลูกไปพบจิตแพทย์

ลูกวิตกกังวล

ความวิตกกังวลอาจพัฒนาเป็นอาการทางจิตและพฤติกรรมไฮเปอร์ตอนโตได้ หากละเลยไม่รีบแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยง โดยความวิตกกังวลเกิดจากความไม่มั่นใจในตัวเอง กลัวการตัดสินจากคนรอบข้าง อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ปลีกตัวจากสังคม เข้ากับเพื่อนที่โรงเรียนหรือคนอื่นในสังคมได้ยาก ความผิดปกตินี้พ่อแม่สามารถจับสังเกตได้จากพฤติกรรมที่ลูกชอบทำซ้ำๆ หลายรอบ เช่น ชอบถามคำถามเดิมๆ เพื่อความมั่นใจ, ชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคต (ถ้า… / สมมุติว่า…), มองโลกในแง่ลบก่อนเสมอ, ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ รวมถึงกลัวการพูดคุยกับคนแปลกหน้า

พาลูกไปพบจิตแพทย์

ลูกสมาธิสั้น

สมาธิสั้นเกิดจากสมองส่วนหน้าซึ่งคอยควบคุมการใช้สมาธิและการยับยั้งชั่งใจทำงานผิดปกติ ทำให้เด็กๆ อยู่ไม่สุข ไม่สามารถทำกิจกรรมอะไรได้นาน มักพูดหรือทำทันทีโดยไม่คิดจนดูเหมือนขัดจังหวะผู้อื่น รวมถึงจับใจความจากคู่สนทนาไม่ค่อยได้ เมื่อไม่เข้าใจเด็กจึงเลือกที่จะไม่ใส่ใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จนบางครั้งดูเหมือนเป็นเด็กไม่มีความรับผิดชอบ หากมีโอกาสได้พูดคุย และทำกิจกรรมปรับทัศนคติกับจิตแพทย์ รวมถึงทานยาเพื่อปรับสารเคมีในสมอง จะช่วยให้อาการของเด็กๆ ดีขึ้นได้ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ดียิ่งขึ้น  

พาลูกไปพบจิตแพทย์

ทำไมเด็ก ‘ปกติ’ จึงควรไปพบจิตแพทย์

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น…ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอาการผิดปกติเสมอไป เด็กธรรมดาที่ไม่แสดงพฤติกรรมเสี่ยงเลยก็สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ เพราะไม่เพียงแค่การรักษา แต่จิตแพทย์ยังช่วยแนะนำวิธีการเลี้ยงดูลูกในคุณพ่อคุณแม่ได้ ทั้งยังมีเทคนิคที่สร้างสรรค์ในการพูดคุยเพื่อค้นหาตัวตนและความชื่นชอบในตัวพวกเขาได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด ซึ่งเป็นทริคที่ช่วยเสริมสร้างกระบวนการทาง เติมเต็มจินตนาการ ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะปรับมุมมองตัวเอง พร้อมเป็นผู้ใหญ่ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ยิ่งขึ้น

เริ่มต้นปรับมุมมองเกี่ยวกับการพาลูกไปพบจิตแพทย์ตั้งแต่วันนี้ แล้วสร้างเกราะป้องกันที่แข็งแรงให้ลูกก่อนสายเกินไป

ที่มา:

https://www.todaysparent.com

https://www.mentalhealth.org.uk

SHARE

RELATED POSTS

ลูกแค่ซนหรือโรคสมาธิสั้น 3 วิธีสังเกตพร้อมทริคดูแลที่เหมาะสม โรคสมาธิสั้น…
5 โรงเรียนสอนทำอาหารสำหรับเด็ก เสริมทักษะให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี เชื่อว่าเด็กน้อยทุกคนมักมีสัญญาณบ่งบอกว่าตัวเองชอบอะไร…