Search
Close this search box.
ฮิคิโคโมริ (Hikikomori)

‘ฮิคิโคโมริ (Hikikomori)’
อาการของลูกที่ชอบเก็บตัว ไม่เข้าสังคม

ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) ไม่ทำอะไร ไม่ไปไหน ไม่อยากพบใคร… หากลูกมีความคิดหรือพฤติกรรมแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเอะใจกันบ้างแล้วล่ะว่าทำไมช่วงนี้ลูกเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เขาต้องการ เช่น เล่นเกม ดูการ์ตูน เล่นอินเทอร์เน็ตแบบเกินพอดี ไม่อยากไปโรงเรียน รวมถึงไม่อยากเจอผู้คนแม้กระทั่งกับคนในครอบครัวเองก็ด้วย เขาจะยอมลงมาเจอหรือพูดคุยแค่เรื่องจำเป็นเท่านั้น แล้วก็จะกลับขึ้นห้องไปพร้อมกับเอาข้าวปลาอาหารขึ้นไปกินด้วย

พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกเรากำลังมีอาการของฮิคิโคโมริ ซินโดรม แม้จะไม่ใช่โรคร้ายทางด้านร่างกาย แต่ส่งผลโดยตรงถึงด้านจิตใจ แล้วคุณพ่อคุณแม่อย่างเราควรเลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างไกลจากฮิคิโคโมริ ทาง Cotton Baby มีคำตอบมาให้ค่ะ

ทำความเข้าใจกับอาการ ฮิคิโคโมริ

อาการ ฮิคิโคโมริ คืออะไร

อาการฮิคิโคโมริ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ฮิกกี้ คือ ชื่อเรียกกลุ่มคนที่ปลีกตัวเองออกจากสังคมโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องการมีสังคมหรือพูดคุยกับใคร มักเก็บตัวเงียบอยู่ในห้อง และหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจได้เป็นวัน ๆ ภายในห้องส่วนตัวด้วยระยะเวลาที่อยู่จะต้อง เกิน 6 เดือนขึ้นไป ถึงจะเข้าข่ายอาการฮิคิโคโมริ นอกจากนี้ยังหลีกเลี่ยงการพบเจอกับคนในบ้าน หรือเจอให้ได้น้อยที่สุดเพราะ เขาไม่ต้องการที่จะพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งในปัจจุบัน จำนวนของคนที่มีอาการฮิคิโคโมริในประเทศแถบเอเชียมีถึงหลักแสนคน และคิดว่าอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกได้ ทั้งนี้คงเป็นเพราะความกดดันและการแข่งขันในสังคมด้วย

สาเหตุของอาการฮิคิโคโมริ

อาการของฮิคิโคโมริ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เริ่มตั้งแต่เด็กวัยเรียน ไปจนถึงวัยทำงาน ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลของฮิคิโคโมริก็คือ เมื่อเกิดอาการขึ้นมาแล้วจะทำให้กลับไปอยู่ในสังคมได้ยากกว่าเดิม ด้วยเหตุผลหลายปัจจัยที่อาจทำให้อาการกำเริบได้ โดยสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเกิดอาการฮิคิโคโมริ มีดังนี้

  • เด็กถูกกดดันมากไป ทำให้รู้สึกเครียดเมื่อถูกคาดหวังจากครอบครัว เช่น เรื่องการเรียน
  • พบกับความผิดหวัง ไม่ว่าจะทั้งผิดหวังในตัวเอง หรือจากสังคมภายนอก
  • เด็กถูกรังแกหรือทำให้กลายเป็นตัวประหลาดจากคนรอบข้าง ทำให้สูญเสียความมั่นใจ จนไม่กล้าออกไปพบเจอผู้คน
  • เจอปัญหาในครอบครัวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึก ทำให้ไม่ไว้ใจใคร ยากที่จะเปิดใจ
  • เป็นเด็กขี้อาย ไม่กล้าเข้าสังคม อาจเกิดจากเหตุผลบางอย่าง เช่น ถูกเปรียบเทียบกับคนในครอบครัวเสมอ

เช็กลิสต์อาการของฮิคิโคโมริ

เช็กลิสต์อาการของฮิคิโคโมริ
  • ไม่ยอมออกจากบ้าน แม้ไปเพียงสถานที่ใกล้ ๆ เป็นระยะเวลาเกิน 6 เดือน
  • เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร
  • หลีกเลี่ยงการพบเจอผู้คน รวมถึงคนในครอบครัว ไม่ต้องการให้ใครมาถามไถ่
  • ไม่ให้ใครเข้าห้องส่วนตัว และสามารถอยู่ในห้องได้ทั้งวัน เป็นเดือน ๆ
  • หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่สนใจ เช่น อ่านหนังสือการ์ตูน, เล่นเกม, ใช้อินเทอร์เน็ต
  • เมื่อพยายามบังคับหรือพาออกมาจากโลกที่เขาคิดว่าสงบสุข บางครั้งอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือต่อต้านอย่างรุนแรง

4 วิธีดูแลลูก ให้ห่างไกลฮิคิโคโมริ

วิธีดูแลลูก ให้ห่างไกลฮิคิโคโมริ

1. ป้องกันฮิคิโคโมริ ต้องใช้เวลากับลูกด้วยความรัก

คุณพ่อคุณแม่อาจมีภารกิจมากมายที่ต้องจัดการในแต่ละวัน หากเมื่อไหร่ที่มีเวลาได้อยู่กับลูก ควรใช้เวลาเหล่านั้นให้มีประโยชน์และได้คุณภาพมากที่สุด ลองพูดคุย แสดงความรัก มอบความอบอุ่นให้ลูก เติมเต็มเสมอเพื่อไม่ให้เขารู้สึกขาด

2. เป็นผู้ฟังที่ดี เพราะบางทีลูกก็ต้องการแค่นั้น

ป้องกันไม่ให้ฮิคิโคโมริเข้าใกล้ลูกเรา คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมเมื่ออยู่กับลูก ลองพูดให้น้อยลง แล้วรับฟังสิ่งที่ลูกพูดให้มากขึ้น โดยอย่าเพิ่งขัด หรือแทรก ฟังให้จบก่อน เพราะบางทีลูกก็ต้องการแค่อยากระบายให้ฟังเท่านั้น

3. สร้างกำลังใจให้เขาเชื่อมั่นในตัวเอง ช่วยปกป้องลูกจากฮิคิโคโมริ

เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่จะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องลูก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเจอกับปัญหา อย่าเพิ่งรีบเข้าไปแก้ไขให้ เพราะจะทำให้เขาแก้ไขปัญหาเองไม่เป็น ไม่มีความอดทนต่อปัญหา ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ดีในระยะยาวของลูกแน่นอน เราควรไว้ใจ เชื่อใจ และคอยสร้างกำลังใจให้เขาเชื่อมั่นในตัวเองว่า เขาทำได้ ให้เขากล้าที่จะก้าวด้วยตัวเอง

4. ไม่กดดัน หรือเคร่งเรื่องเรียนมากไป ปล่อยให้ลูกทำสิ่งที่ชอบบ้าง

หนึ่งในปัญหาที่อาจพาให้ลูกเข้าใกล้อาการฮิคิโคโมริ ทำให้ลูกรู้สึกกดดัน และเครียดเมื่อถูกคาดหวังจากครอบครัวก็คือ เรื่องเรียน เชื่อเถอะว่าคงไม่เป็นผลดีกับลูกสักเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังเป็นการปิดโอกาสให้เขาค้นหาตัวเองว่าความจริงแล้วเขาอยากทำอะไร ลองปล่อยให้เขาได้ใช้ชีวิตวัยเด็กที่สดใส ตามหา passion ของตัวเอง โดยมีพ่อแม่เป็นคนคอย support จะดีกว่า

อาการฮิคิโคโมริ หากปล่อยไว้อาจส่งผลในระยะยาวเมื่อลูกโตได้ ลองคิดดูสิว่า หากมีกรณีที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ลูกเราที่มีทักษะการสื่อสารกับโลกภายนอกน้อยมาก ๆ และสิ่งที่เคยมีมาตลอดอย่างการช่วยเหลือจากพ่อแม่ก็กำลังจะหายไป แล้วต่อจากนี้ชีวิตจะต้องทำอย่างไร จากที่ไม่เคยเข้าสังคมมาก่อน ไม่ได้ทำงาน จะให้ลูกเริ่มชีวิตใหม่ตอนนี้ก็คงยาก ฉะนั้นเรามีอีกหนึ่งทางเพื่อป้องกันไว้ก่อน คลิกอ่านเลย สร้างภูมิคุ้มกันทางใจด้วยการพาลูกไปพบจิตแพทย์

SHARE

RELATED POSTS

ลูกแค่ซนหรือโรคสมาธิสั้น 3 วิธีสังเกตพร้อมทริคดูแลที่เหมาะสม โรคสมาธิสั้น…
พ่อแม่ยุคใหม่สร้างเกราะป้องกันหัวใจให้ลูกน้อยได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพียงหมั่นสังเกตพฤติกรรม และใส่ใจ ‘พาลูกไปพบจิตแพทย์’…