พูดกับลูกดี ไม่ได้แปลว่าส่งผลดีเสมอไป
9 คำพูดที่ไม่ควรพูดกับลูก
คุณแม่ทุกคนมักมีวิธีพูดกับลูกเพื่อให้เขารู้สึกดี และบางคำพูดก็ Positive สุด ๆ แฝงไปด้วยความห่วงใยและน้ำเสียงอ่อนโยน แต่หารู้ไม่ว่า…นั่นเป็นคำพูดที่ไม่ควรพูดกับลูก เพราะคำพูดนั้นอาจจะไปขัดขวางการรับรู้เรื่องอารมณ์และการนับถือตนเองของเด็ก รวมถึงตัดสินใจและคิดเองไม่ได้ แม้ว่าแม่อย่างเราจะพูดดี ๆ แล้วก็ตาม มาดูกันว่ามีคำพูดไหนบ้างที่เราไม่ควรพูดกับลูก
1. “ระวังนะลูก”
ในความรู้สึกของพ่อแม่เวลาเห็นลูกวิ่งเล่นหรือปีนป่ายก็มักจะเป็นห่วง และบอกให้ลูกระวังอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับทำให้ลูกของเราเสี่ยงล้มมากกว่า เพราะไปเบี่ยงเบนความสนใจ ทำให้เขาหลุดโฟกัสหรือเสียสมาธิกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ทางที่ดีคุณแม่ควรขยับเข้าไปใกล้ ๆ ในช่วงที่กำลังปั่นป่วนวุ่นวายและนิ่งเงียบให้มากที่สุด เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นจะได้ช่วยทันเวลา
2. “ให้ช่วยไหม”
ในความรู้สึกของแม่เวลาคุณเห็นลูกกำลังสร้างตัวต่อเป็นหอสูง ๆ หรือไขปริศนาบางอย่าง ก็อยากจะเข้าไปช่วยลูกให้เขาทำได้ด้วยการถามว่า “ให้ช่วยไหม” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการถามแบบนี้กลับทำร้ายลูกเสียมากกว่า เพราะนั่นอาจเป็นการทำลายอิสระของลูก ซึ่งเขามองหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นตลอดเวลาอยู่แล้ว ลองเปลี่ยนเป็นการใช้คำถามชี้นำ เช่น “หนูคิดว่าชิ้นใหญ่กับชิ้นเล็กอันไหนควรจะอยู่ข้างบน / ทำไมถึงคิดแบบนั้น / มาลองดูกัน” การทำแบบนี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้จากการทดลองด้วยตัวเอง และในอนาคตเมื่อเจอกับปัญหา เขาจะใช้วิธีนี้
3. “ไม่เป็นไรลูก ไม่เป็นไร”
ความรู้สึกของแม่เวลาที่เห็นลูกล้มจนเป็นแผลก็มักจะบอกลูกว่า “ไม่เป็นไรนะลูก” แต่รู้ไหมว่าความเป็นจริงคำพูดนี้กลับทำให้เขารู้สึกแย่ลง เพราะเขาจะรู้สึกว่าถ้าไม่เป็นไรจริง ๆ ทำไมถึงร้องไห้ ดังนั้น สิ่งที่คุณแม่ควรทำคือการยอมรับความรู้สึกเจ็บของลูก ด้วยการพูดว่า “มันน่ากลัวมากเลย” จากนั้นค่อยถามต่อว่า “หนูต้องการผ้าพันแผลหรือจุ๊บ” ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้เขาเข้าใจการจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น
4. “อย่าคุยกับคนแปลกหน้านะ”
ในความรู้สึกของแม่มักกลัวว่าลูกจะได้รับอันตรายจากคนแปลกหน้า เลยสอนลูกว่าอย่าคุยกับคนแปลกหน้าเด็ดขาด ซึ่งความเป็นจริงแล้ววิธีการสอนแบบนี้เป็นวิธีที่ผิด เพราะการสอนลูกว่าห้ามคุยกับคนแปลกหน้าอาจทำให้เขาต่อต้านความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือนักดับเพลิงที่พวกเขาไม่รู้จัก วิธีที่ถูกต้องคือคุณแม่ควรแนะนำสถานการณ์ขึ้นมา เช่น “หนูจะทำยังไงถ้าคนที่ไม่รู้จักมาให้ขนมหรือชวนกลับบ้าน” ให้ลูกอธิบายสิ่งที่เขาทำแล้วแนะนำให้ถูกวิธี หรืออาจบอกเขาว่า “ถ้าใครทำให้หนูรู้สึกกลัวหรือสับสนให้บอกแม่หรือคุณครูนะ”
5. “หนูเก่งที่สุดเลย”
คุณแม่หลายคนก็อยากจะชมลูก ๆ เวลาที่เขาทำอะไรสำเร็จได้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ว่าตัวเองทำได้ ดูเหมือนว่าเป็นวิธีที่ดีนะ แต่ความเป็นจริงเมื่อไรที่เราใช้มากเกินไปมันจะทำให้เขาคิดว่าไม่ต้องทำอะไรหนัก ๆ ก็ได้คำชมอยู่แล้ว และในอนาคตเขาก็จะเริ่มเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ เพราะกังวลเกี่ยวกับการถูกมองว่าไม่ฉลาด ดังนั้น เพื่อให้เด็กหลุดออกจากกรอบความคิดนี้ ควรบอกว่า “แม่รู้ว่าหนูทำได้ถ้าหนูพยายามต่อไป”
6. “ถ้าไม่ไป งั้นแม่ไปละนะ”
ในความรู้สึกของแม่ไม่ได้อยากทิ้งลูกเอาไว้คนเดียว แต่การใช้วิธีล่อลวงแบบนี้ก็เป็นวิธียอดฮิตที่ได้ผลเสมอเวลาที่ลูกไม่ยอมออกจากบ้านหรือสนามเด็กเล่น ซึ่งในความจริงแล้วคุณแม่รู้ไหมว่าการล่อลวงเขาด้วยการพูดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย เพราะมันคือการทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยน้อยลง และเชื่อว่าคุณแม่ไม่อาจอยู่ที่นี่เพื่อปกป้องเขาได้ ซึ่งเด็กจะกลัวมาก ๆ กับความคิดที่ว่าแม่อาจทิ้งเขาไว้คนเดียว ทางที่ดีควรพูดว่า “แม่ต้องรีบไปแล้ว หนูจะไปกับแม่ไหม”
7. “ไม่ต้องร้องไห้”
ในความรู้สึกของแม่คงไม่อยากเห็นลูกร้องไห้ ไม่ว่าลูกจะทำผิดหรือเสียใจอะไรมา แต่การบอกว่า “ไม่ต้องร้องไห้” อาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เพราะในความเป็นจริงแล้วเขาจำเป็นต้องรู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกมีความสุข เศร้า โกรธ แต่ก็ใช่ว่าจะปล่อยให้เขาร้องไห้อยู่อย่างนั้น ควรบอกเขาว่า “แม่รู้ว่าลูกไม่พอใจแค่ไหน แต่แม่ก็รักหนูนะ” เพราะนี่เป็นวิธีการยอมรับความรู้สึกของลูก ในขณะเดียวกันก็แสดงว่ายังรักเขาอยู่ไม่ว่าเขาจะเป็นยังไงก็ตาม
8. “ถ้ากินแล้วจะอ้วนนะ”
ในความรู้สึกของแม่ก็อยากให้ลูกได้กินอาหารดี ๆ มีประโยชน์ เลยไม่อยากให้ลูกกินขนมหวานหรือลูกอม “ถ้ากินแล้วจะอ้วน” ในความเป็นจริงมันกลับทำให้เด็กกังวลและสูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง เพราะได้รับรู้ความเห็นเรื่องน้ำหนักในเชิงลบ ทำให้คิดว่าน้ำหนักเยอะเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่อยากกินอะไรเพราะว่ากลัวอ้วน ซึ่งอาจทำให้ขาดสารอาหารได้ ลองเปลี่ยนไปเน้นที่ประโยชน์และรสชาติที่อร่อยของอาหารเพื่อสุขภาพเช่นผักและผลไม้จะดีกว่า
9. “ซื้อไม่ได้นะลูก”
ในความคิดของแม่เวลาที่ไปเดินห้างแล้วลูกอยากได้ของเล่นก็มักจะไม่อยากซื้อของเล่นให้ เพราะเห็นว่ามีเยอะแล้ว จึงบอกกับลูกว่า “ซื้อไม่ได้นะลูก” ซึ่งความเป็นจริงแล้วนี่คือวิธีสื่อสารที่ผิด เพราะมันบ่งบอกว่าเราไม่สามารถจัดการกับการเงินได้ และเมื่อไรที่คุณแม่ไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่แพงกว่า พวกเขาจะเรียกร้องว่าทำไมคุณแม่ถึงซื้อได้ ดังนั้น ควรพูดกับเขาว่า “เราจะไม่ซื้อเพราะต้องประหยัดเงินไว้สำหรับสิ่งที่สำคัญกว่า” ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นที่จะสอนให้ลูกเรารู้จักจัดการเงิน
ได้รู้ว่าคำพูดไหนที่ไม่ควรพูดกับลูกแล้ว อยากให้คุณแม่ทุกคนลองปรับวิธีการสื่อสารกับลูกใหม่ เพราะการรู้คิดและความรู้สึกของลูกในวัยเด็กเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับตัวในอนาคต การให้ลูกคิดเอง เรียนรู้เอง จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีและฉลาดอีกด้วย