Search
Close this search box.
เด็กแพ้อาหาร

ปัญหาเด็กแพ้อาหารไม่ใช่เรื่องเล็ก พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

เมื่อถึงเวลาที่ลูกน้อยต้องเริ่มทานอาหารอื่นนอกจากนมแม่ ในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะรู้สึกตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อได้ทราบว่าลูกตัวน้อยเป็นเด็กแพ้อาหาร ความกังวลก็กลับคืบคลานเข้ามาแทนที่ แต่ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็อาจจะคิดว่าเดี๋ยวโตอาการแพ้อาหารก็คงหายไป ทานนิดหน่อยคงไม่เป็นอะไรหรอกมั้ง จนกลายเป็นการมองข้ามความสำคัญของการแพ้อาหารที่สามารถนำไปสู่ผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของลูกน้อย

เด็กแพ้อาหาร คือ

อย่างไรก็ตาม ความคิดที่ว่าเด็กแพ้อาหารแล้วโตไปจะหายเอง ก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิดเสียทีเดียว เพราะโดยปกติเด็ก 50% แพ้นมจะหายแพ้เมื่ออายุ 5 ขวบ เด็กที่แพ้ไข่จะหายแพ้เมื่ออายุ 6 ขวบ และเด็กที่แพ้แป้งสาลีจะหายแพ้เมื่ออายุ 7 ขวบ แต่อาการแพ้ถั่วและอาหารทะเลมักจะไม่หายไปตามอายุ และอาจติดตัวลูกไปตลอดชีวิต โดยอาหารที่มักเป็นสาเหตุของอาการเด็กแพ้อาหาร ได้แก่ นม ไข่ ข้าวสาลี ถั่ว ปลา และอาหารทะเล

สาเหตุที่ทำให้เด็กแพ้อาหาร

โดยปกติการแพ้อาหารในเด็กมักพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งเกิดจากการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อโปรตีนในสารอาหารที่รับประทานเข้าไป เนื่องจากภูมิคุ้มกันไม่สามารถแยกแยะระหว่างอาหารที่ไม่เป็นอันตรายกับเชื้อโรค จึงสร้างแอนติบอดีอิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ขึ้นมา ทำให้เกิดอาการลมพิษ หอบหืด คันในปาก หายใจลำบาก ปวดท้อง อาเจียน หรือท้องเสีย นอกจากนี้ การที่เด็กแพ้อาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของอาหารที่ทานเข้าไป แม้ว่าจะทานเพียงแค่ชิ้นเล็ก ๆ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงได้เช่นกัน

เด็กแพ้อาหารมีอาการอย่างไร?

อาการเด็กแพ้อาหารเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญและสังเกตอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กแต่ละคนอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออาหารที่แพ้แตกต่างกันไป โดยทั่วไปอาการแพ้อาหารมักจะพบได้ทั้งในผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบหัวใจและหลอดเลือด บางครั้งอาการอาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากทานอาหารหรือบางคนอาจแสดงอาการในภายหลัง โดยทั่วไปแล้วอาการแพ้อาหารในเด็กจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ

อาการ เด็กแพ้อาหาร

1. แพ้อาหารแบบเฉียบพลันและรุนแรง

อาการของเด็กแพ้อาหารชนิดนี้จะแสดงอาการแพ้รุนแรงในทันที และอาจแสดงอาการหลายอย่างพร้อมกัน เช่น ผื่นบนผิวหนัง หอบ หายใจดัง หายใจแรง ไอ คันจมูก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง หรือช็อก หมดสติ เป็นลมในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงมาก ซึ่งเด็กที่มีอาการแพ้อาหารแบบรุนแรง และเฉียบพลันควรได้รับการดูแลจากแพทย์ในทันที หรือหากลูกเคยมีอาการดังกล่าวคุณพ่อคุณแม่ควรพกยาแก้แพ้ติดตัวไว้เสมอ

2. แพ้อาหารแบบเฉียบพลัน แต่ไม่รุนแรง

อาการของเด็กแพ้อาหารชนิดเฉียบพลันจะแสดงออกอย่างรวดเร็วหลังรับประทานอาหารเช่นกัน เพียงแต่อาการจะปรากฏเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น ผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม อาเจียน หรือถ่ายเหลว ซึ่งสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยการทานยาแก้แพ้ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป

3. แพ้อาหารแบบไม่เฉียบพลัน

สำหรับเด็กแพ้อาหารแบบไม่เฉียบพลัน จะมีอาการไม่รุนแรง แต่เรื้อรัง โดยมักปรากฏเป็นผื่นค่อย ๆ ขึ้นบริเวณแก้ม แขน ขา หรือข้อพับ ผิวแห้ง บางคนอาจมีน้ำมูกเรื้อรัง กรน หรือมีเสมหะตลอดเวลา ถึงแม้ว่าอาการจะไม่รุนแรง แต่ก็อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว ทางที่ดีควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่อาจเป็นสาเหตุของการแพ้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กแพ้อาหาร

การตรวจ เด็กแพ้อาหาร

การตรวจสอบว่าเด็กแพ้อาหารอะไรเป็นขั้นตอนที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพื่อที่จะสามารถจัดการกับอาการแพ้อาหารในเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีการที่ใช้ในการตรวจหาว่าเด็กแพ้อาหารหรือไม่ ซึ่งแต่ละวิธีก็มีความเหมาะสมและประสิทธิภาพแตกต่างกันไป โดยวิธีที่นิยมใช้ ได้แก่

1. การทดสอบการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge)

วิธีการทดสอบนี้จะเป็นการตรวจสอบว่าเด็กแพ้อาหารหรือไม่ ด้วยการให้เด็กรับประทานอาหารที่สงสัยว่าทำให้เกิดอาการแพ้ทางปาก โดยจะให้เริ่มทานจากปริมาณน้อย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ เพื่อสังเกตอาการว่ามีปฏิกิริยาแพ้อาหารหรือไม่ ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการทดสอบที่เห็นผลได้ชัดเจน แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรง ดังนั้น จึงควรดำเนินการและเฝ้าระวังโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

2. การทดสอบภูมิแพ้ โดยการสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test หรือ SPT)

การตรวจว่าเป็นเด็กแพ้อาหารหรือไม่ โดยการสะกิดผิวหนัง เป็นการตรวจหาว่าแอนติบอดี IgE ทำปฏิกิริยากับอาหารชนิดใดโดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์จะทำการหยดสารเจือจางลงบนผิวหนังและใช้อุปกรณ์จิ้ม หากมีอาการแพ้ผิวหนังในบริเวณที่หยดสารจะเกิดตุ่มนูนภายในเวลา 15 นาที การทดสอบภูมิแพ้ชนิดนี้จะสามารถตรวจสอบสารได้พร้อมกันหลายชนิดและสามารถทราบผลได้ในทันที รวมถึงมีความปลอดภัยสูง แต่มักมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับการตรวจภูมิแพ้แบบอื่น ๆ

3. การตรวจเลือด (Blood Test)

การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยว่าเด็กแพ้อาหารหรือไม่ เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีความแม่นยำ เนื่องจากแพทย์จะประเมินระดับแอนติบอดี IgE ต่อสารก่อภูมิแพ้เฉพาะ โดยวิธีการตรวจแบบ RAST (Radioallergosorbent Test) มักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจผิวหนังได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การตรวจ Component Resolved Diagnostics (CRD) เพื่อระบุการแพ้อาหารต่อโปรตีนร่วมด้วยเพื่อความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. การตรวจ Basophil Activation Test

การตรวจ Basophil Activation Test (BAT) เป็นวิธีการตรวจว่าเด็กแพ้อาหารหรือไม่ ที่มีความแม่นยำสูงกว่าวิธีการตรวจแบบอื่น ๆ ที่จะตรวจเพียงแต่การตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้เท่านั้น โดยวิธีการนี้จะตรวจสอบการตอบสนองของเซลล์เบโซฟิลต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งมีความแม่นยำถึง 92% แต่วิธีการตรวจ Basophil Activation Test ยังมีข้อจำกัดที่ต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการเท่านั้น และยังต้องการการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีก

ป้องกันและรักษาอย่างไรเมื่อเด็กแพ้อาหาร

การป้องกันอาการเด็กแพ้อาหารเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจ ซึ่งอาจช่วยปกป้องลูกที่รักได้โดยวิธีการ ดังนี้

วิธีป้องกัน รักษา เด็กแพ้อาหาร
  • ทานอาหารให้สมดุลขณะตั้งครรภ์

ขั้นตอนแรกในการป้องกันไม่ให้เด็กแพ้อาหารควรเริ่มตั้งแต่ช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ควรทานอาหารตามปกติ ให้สมดุล และควรให้ลูกได้ทานอาหารอย่างเหมาะสมตามวัย เพื่อสังเกตอาการแพ้อาหารในเด็ก

  • ปรึกษาแพทย์ทันทีที่สังเกตพบอาการเด็กแพ้อาหาร

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกเป็นเด็กแพ้อาหาร ควรพาลูกเข้าปรึกษาแพทย์และรับการรักษาเพิ่มเติมในทันที เพื่อเรียนรู้วิธีการดูแลลูกอย่างเหมาะสม

  • อ่านฉลากอย่างรอบคอบก่อนให้ลูกทาน

ก่อนให้ลูกทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงเอง ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าในอาหารเหล่านั้นไม่มีส่วนประกอบที่จะทำให้เด็กแพ้อาหาร โดยเฉพาะการทานอาหารสำเร็จรูปหรือทานอาหารนอกบ้าน

  • สื่อสารกับโรงเรียนให้แน่ชัด

การที่ลูกไปโรงเรียนอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ควบคุมอาหารที่ลูกทานได้ลำบาก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรแจ้งกับคุณครูและเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนให้แน่ชัดว่าเด็กแพ้อาหารอะไรบ้าง รวมถึงอาการเบื้องต้น เพื่อให้ทางโรงเรียนช่วยดูแลลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาอาการเด็กแพ้อาหารได้อย่างถาวร ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรมีแนวทางในการลดอาการและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้

การหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกทานอาหารที่แพ้เป็นวิธีการเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเด็กแพ้อาหาร

  • การทานยา

สำหรับเด็กที่มีอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรง อาจต้องมีอุปกรณ์ฉีดยา อะดรีนาลิน หรือยาแก้แพ้ติดตัวไว้เสมอ เพื่อช่วยควบคุมและบรรเทาอาการเมื่อลูกสัมผัสกับอาหารที่แพ้ ทั้งนี้ การใช้ยาจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เพื่อการใช้งานที่ถูกต้องและเหมาะสม

ปัญหาเด็กแพ้อาหารไม่ใช่เรื่องเล็กที่พ่อแม่ควรมองข้าม เพราะอาหารคือกุญแจสำคัญสู่การเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อย หากกำลังสงสัยว่าลูกมีอาการแพ้อาหาร ควรลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำและการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกที่คุณรักเติบโตอย่างแข็งแรงและมีความสุข

SHARE

RELATED POSTS

เตรียมเลย! เข้าครัวทำอาหารต้านหวัด เสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย อาหารต้านหวัด…
รวมเคล็ดลับการให้อาหารมื้อแรกของลูกที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้! การเริ่มต้นให้อาหารมื้อแรกของลูกน้อยนับเป็นก้าวสำคัญในการช่วยส่งเสริมโภชนาการและพัฒนาการของเจ้าตัวเล็ก พ่อแม่มือใหม่มือใหม่หลายคนอาจเป็นกังวลและมีคำถามมากมายเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมที่และข้อควรคำนึงเพื่อเตรียมอาหารมื้อแรกของลูกอย่างเหมาะสม เราจึงได้รวบรวมทุกข้อควรรู้และเคล็ดลับการเริ่มต้นให้อาหารมื้อแรกของลูกมาฝากเหล่าพ่อแม่มือใหม่กัน…