Search
Close this search box.
สามีภรรยาควรวางตัวเรื่องเงินอย่างไร

สามีภรรยาควรวางตัวเรื่องเงินอย่างไร
ไม่ให้ ‘เงิน’ ทำลายความสัมพันธ์

เรื่องเงินเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สร้างรอยร้าวให้กับทุกความสัมพันธ์ได้ ไม่เว้นแม้แต่คู่รักที่ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ โดยผลสำรวจชี้ว่า ‘คู่รักที่ทะเลาะหรือมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องเงินสัปดาห์ละครั้ง มีโอกาสเลิกกันมากกว่าคู่ที่ทะเลาะกันเดือนละครั้ง’ เราจึงเห็นเคสความรักพังครืนเพราะปัญหานี้ผ่านตามาไม่น้อย อะไรคือสาเหตุ แล้วถ้าไม่อยากให้ชีวิตคู่ต้องเจอสถานการณ์แบบนี้ ‘สามีภรรยาควรวางตัวเรื่องเงินอย่างไร’

นอกจากเรื่องเงินแล้ว เรื่องอื่น ๆ ในชีวิตก็อาจทำลายความสัมพันธ์ได้เช่นกัน ดังนั้นทั้งสามี และภรรยาควรให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์ชีวิตคู่ด้วย เข้าไปอ่านเลย วิธีประครองชีวิตครอบครัว
ให้โปรโมชั่นชีวิตคู่ฟู่ฟ่าแม้มีเบบี๋

สาเหตุที่ทำให้คู่สมรสมีปัญหาเรื่องเงิน

สามีภรรยาควรวางตัวเรื่องเงินอย่างไร

มีพฤติกรรมการใช้เงินที่ต่างกัน

“สามีไม่ชอบภรรยาที่ฟุ่มเฟือย ส่วนภรรยาก็ไม่ชอบสามีที่มองว่าตัวเองฟุ่มเฟือย”

นี่คือพาร์ตหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง ‘พฤติกรรมการใช้จ่ายที่ส่งผลต่อความขัดแย้งของคู่สมรส’ ซึ่งเผยแพร่ลงใน Journal of Financial Planning วารสารและเว็บไซต์ที่เชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุน ของสหรัฐฯ ข้อความที่ยกมาสะท้อนว่า หากคู่รักต่างไม่เข้าใจไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายซึ่งกันและกัน เอาแต่จับผิดอีกฝ่าย ย่อมส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมา ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เงินของอีกฝ่าย (ซึ่งไม่ผิดแต่อาจไม่ถูกใจเรา) เป็นเรื่องยาก ทำไมเราไม่ลองเริ่มจากอะไรง่ายๆ อย่างการทำความเข้าใจ จับผิดนิสัยการใช้จ่ายของอีกฝ่ายให้น้อยลง แล้วหันมาถามตัวเองบ้างว่า…ฉันใช้เงินฟุ่มเฟือยหรือเปล่า? ถ้าใช่ ควรจะหาทางแก้ไขได้อย่างไรดี? จุดนี้ต้องห้ามใช้อารมณ์และห้ามเข้าข้างตัวเองมากเกินไป จะช่วยให้คุณมองเห็นทางสายกลางระหว่างนิสัยการใช้จ่ายที่ต่างกันสุดขั้วได้

สามีภรรยาควรวางตัวเรื่องเงินอย่างไร

ไม่พูดความจริงซึ่งกันและกัน

การไม่พูดความจริงเรื่องเงิน บางครั้งก็สะท้อนถึงการไม่ไว้ใจและไม่ให้เกียรติอีกฝ่าย รู้ไว้เถอะว่าการถือคติ White Lie และเก็บงำปัญหาทางการเงินเอาไว้คนเดียว อาจไม่เวิร์กกับความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาเสมอไป ในกรณีที่เกิดปัญหาควรปรึกษาหรือบอกให้อีกฝ่ายรับรู้ด้วยตั้งแต่แรก อย่าปล่อยให้เขารู้เรื่องจากคนอื่น หากปัญหานั้นส่งผลกระทบกับอีกฝ่ายด้วย จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลายตามมา ทางที่ดีควรบอกไปตามตรงเลยว่าไปซื้อ ไปลงทุน หรือไปใช้เงินกับอะไรมา อย่างน้อยก็ให้คู่ชีวิตนี่แหละเป็นเพื่อนคู่คิดอีกแรง

วางแผนเรื่องการเงินให้รัดกุม
ครอบคลุมทางสายกลางระหว่างคู่เรา

สามีภรรยาควรวางตัวเรื่องเงินอย่างไร

มีเงินกองกลาง

แน่นอนว่าสามีภรรยาหลายคู่ยังคงยึดติดกับคำว่า ‘เงินฉัน’ และ ‘เงินเธอ’ อยู่ เพราะอย่างน้อยก็ยังได้ใช้เงินตามสไตล์ของตัวเอง แต่อย่าลืมว่าเมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว ‘เงินเรา’ ก็มีความสำคัญ จึงควรตกลงกันตั้งแต่ต้นไปเลยว่าจะแบ่งรายได้กี่เปอร์เซ็นต์ของทุกเดือน ออกมาสมทบเงินกองกลางซึ่งเก็บไว้สำหรับรายจ่ายของทั้งสองคน เช่น ค่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเทอมลูก เงินส่วนนี้ไม่ตัวเลขที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางการเงินและภาระของแต่ละบ้าน แต่มีกฎว่าทั้งคู่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ใครจะนำเงินออกไปทำอะไร ควรแจ้งเหตุผลให้ทราบก่อน รวมถึงรับผิดชอบจ่ายเงินเข้ากองกลางอย่างสม่ำเสมอด้วย

ปรึกษากันเรื่องลงทุน

คู่รักจำนวนไม่น้อยตัดสินใจที่จะลงทุนร่วมกัน เพราะเล็งเห็นว่าสามารถไว้ใจและคุยกันเข้าใจมากกว่า แต่ถ้าความราบรื่นแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคู่ล่ะ? อย่าลืมนะว่าแต่ละคนสามารถรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน สังเกตง่ายๆ จากสามีภรรยาที่มีฐานเงินเดือนต่างกัน การลงทุน 20% ของเงินเดือนสามีและภรรยา ย่อมได้ผลเป็นเม็ดเงินที่ต่างกัน ทางสายกลางของคู่ที่ไม่อยากลงทุนใครลงทุนมันคือ ทำความเข้าใจกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของอีกฝ่าย มองหาเป้าหมายในการลงทุนให้เป็นภาพเดียวกัน ที่สำคัญเมื่อเกิดข้อผิดพลาด ต้องไม่โทษว่าเป็นความผิดของอีกฝ่าย แต่ควรปรึกษาและหาทางออกร่วมกัน    

ตกลงเรื่องทรัพย์สินที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส

ทรัพย์สินส่วนที่สร้างความเข้าใจผิด และสร้างรอยร้าวฉานในความสัมพันธ์ได้อยู่บ่อยๆ คือทรัพย์สินที่สามีและภรรยาต่างมีกรรมสิทธิอยู่แล้ว ก่อนทั้งคู่จะมาจดทะเบียนสมรสกัน โดยทรัพย์สินส่วนนี้ไม่ถือว่าเป็นสินสมรส ทั้งคู่ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของอีกฝ่ายตามกฎหมาย และไม่สามารถนำมาหารสองตอนหย่าร้างได้ คนที่เป็นเจ้าของจึงสามารถนำไปต่อยอดหรือลงทุนอะไรก็ได้ แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสามีภรรยา เรื่องกฎหมายและความสัมพันธ์อาจเป็นแค่เส้นขนานกัน เพื่อรักษาน้ำใจของอีกฝ่าย ควรเคลียร์ใจกันตั้งแต่ต้นเกี่ยวกับทรัพย์สินในส่วนนี้ ว่าจะมอบเป็นมรดกให้ใคร เขียนพินัยกรรมให้ใคร หรือนำไปลงทุนกับอะไร อีกฝ่ายจะได้ไม่รู้สึกคาใจภายหลัง ทำนองที่ว่าฉันเป็นสามี / ภรรยา แต่ทำไมไม่ได้รับทรัพย์สินส่วนนั้น เป็นต้น

สามีภรรยาควรวางตัวเรื่องเงินอย่างไร

วางแผนเรื่องเงินสำรอง

เงินสำรองมีบทบาทสำคัญมากในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ตรวจพบโรคร้าย เกิดอุบัติเหตุ หรือลูกต้องใช้เงินกะทันหัน หากสามีภรรยาไม่กันเงินส่วนนี้ไว้บ้าง อาจสร้างความลำบาก ทำให้เกิดความเครียดและความกดดันที่ต้องหาเงินให้ได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว หากเกิดกรณีนี้ขึ้นแล้วต่างคนต่างไม่หนักแน่นหรือเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจ ย่อมกระทบต่อความสัมพันธ์อย่างแน่นอน ถ้าไม่รีบวางแผนแก้ไข อาจรุนแรงถึงขั้นนำไปสู่การแยกทางกัน

รับผิดชอบหนี้ร่วมกัน

เมื่อก่อหนี้ร่วมกัน ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกัน ก็ควรรับผิดชอบหนี้นั้นๆ ร่วมกันด้วย เป็นการจัดสรรความสัมพันธ์ที่ลงตัวที่สุด ไม่ควรปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดูแลหนี้อยู่เพียงลำพัง เพราะนั่นไม่ต่างจากการผลักภาระไปให้คนอื่น สุดท้ายเรื่องนี้อาจกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวที่เผลอหยิบขึ้นมาพูดเมื่อใด ก็เสี่ยงเกิดเป็นความขัดแย้งทุกที เว้นเสียแต่ว่าจะมีการตกลงไว้ว่าใครอาสารับผิดชอบหนี้มากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือดูแลหนี้ทั้งหมด โดยข้อตกลงนี้ทั้งสามีและภรรยาต้องยอมรับให้ได้จริงๆ

 

การจัดสรรเรื่องเงิน ไม่ง่ายเลยสำหรับบางคู่ แต่เชื่อว่าหากเปิดอกพูดคุยกันอย่างมีสติ รับรู้ และเข้าใจตัวตนของกันและกัน ปัญหาเรื่องนี้จะไม่สามารถทำร้ายความสัมพันธ์ของคู่คุณได้เลย

SHARE

RELATED POSTS

เช็กด่วน พฤติกรรมของพ่อแม่แบบไหนที่ทำครอบครัว Toxic เมื่อบ้านไม่ใช่เซฟโซนของลูกอีกต่อไป…
หลากหลายปัญหาที่ต้องเจอเมื่อเป็นคู่ผัวเมียทำงานที่เดียวกัน 5 เรื่องต้องระวังเป็นพิเศษเพื่อบาลานซ์ความสัมพันธ์พร้อมวิธี Keep…