Search
Close this search box.
cover web

เช็กด่วน พฤติกรรมของพ่อแม่แบบไหนที่ทำครอบครัว Toxic

เมื่อบ้านไม่ใช่เซฟโซนของลูกอีกต่อไป ความสัมพันธ์ในครอบครัวเริ่มมีระยะห่าง สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณของ ‘ครอบครัว Toxic’ พฤติกรรมเป็นพิษที่พ่อแม่เผลอทำโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นตัวบ่อนทำลายสัมพันธภาพ ส่งผลให้ครอบครัวไม่มีความสุข กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและอาจร้ายแรงถึงขั้นสร้างบาดแผลทางใจ (Trauma) ให้กับลูกเลยทีเดียว! วันนี้ Cotton Baby จึงอยากชวนพ่อแม่มารีเช็ก 7 พฤติกรรมที่ทำให้ลูกช้ำใจ เพื่อแก้ปัญหาครอบครัว Toxic พร้อมบอกวิธีรักษาความสัมพันธ์ภายในบ้านให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นค่ะ

ครอบครัว Toxic คืออะไร?

ครอบครัว Toxic (Toxic Family) คือ ครอบครัวที่ขาดการสื่อสารและความเข้าใจที่ดีต่อกัน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกห่างเหิน มักเกิดการกระทบกระทั่ง ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือใช้ความรุนแรงทางกายและใจอยู่เป็นประจำ บ้านจึงไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย แต่เป็นสถานที่กักขังสำหรับลูกมากกว่า เมื่อความอดทนมาถึงขีดจำกัด ลูกอาจปิดกั้นตัวเองและตัดขาดจากครอบครัวได้

ครอบครัว Toxic เป็นพิษต่อลูกยังไง

พฤติกรรมเป็นพิษของครอบครัว Toxic อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากพ่อแม่สู่ลูกเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้จาก พ่อกับแม่, ญาติพี่น้อง หรือการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งปัญหาหลักมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม รวมถึงไม่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกได้ เช่น การมีปากเสียงกันของพ่อแม่ แม้จะไม่ได้ต่อว่าลูกโดยตรง แต่เมื่อเด็กได้เห็นภาพความรุนแรงก็จะเกิดการจดจำ เรียนรู้ และอาจถึงขั้นฝังใจจนกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบในอนาคตได้ค่ะ

ซึ่งการเติบโตมาในครอบครัว Toxic จะส่งผลโดยตรงต่อบุคลิกภาพ ความคิดและพฤติกรรมของเด็ก เช่น ความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง การยอมรับความสัมพันธ์ Toxic โดยไม่ขัดขืน หรือการระบายอารมณ์ด้วยความรุนแรง เป็นผลกระทบเชิงลบที่อาจติดค้างเป็นบาดแผลทางใจไปตลอดชีวิต นำไปสู่วงเวียนพฤติกรรมจนเกิดเป็น ‘ทายาทความรุนแรง’ จากรุ่นสู่รุ่น อ้างอิงจากงานวิจัยโดย โทมัส สกอร์ฟิลด์ (Thomas Schofield) ซึ่งเผยว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างที่พ่อแม่มีพฤติกรรมเป็นพิษ ส่วนใหญ่จะได้รับประสบการณ์ความรุนแรงจากรุ่นปู่ย่าเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ เด็กที่เติบโตในครอบครัว Toxic จะมีความเครียดมากกว่าเด็กวัยเดียวกัน หากลูกรู้สึกเครียดต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อการทำงานของสมอง ร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการทางอารมณ์ ทำให้เจ็บป่วยเป็นประจำ เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า มีพฤติกรรมถดถอย และปฏิเสธการเข้าสังคมได้

ส่อง 7 พฤติกรรมครอบครัว Toxic บ้านเป็นพิษจนลูกเหนื่อยใจ

การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตจนสมบูรณ์ นับเป็นภารกิจที่ท้าทายที่สุดของพ่อแม่ แม้จะอยากดูแลลูกด้วยความใส่ใจ คัดสรรสิ่งดี ๆ ให้เสมอ แต่พอลูกลิงออกอาการดื้อ การจะปรับอารมณ์ให้ใจเย็นลงก็ทำได้ยาก บางครั้งจึงเผลอทำพฤติกรรมเป็นพิษ จนครอบครัว Toxic โดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับลูกแย่ลง เกิดเป็นรอยร้าวภายในครอบครัว มาเช็กกันหน่อยว่า… พ่อแม่แบบไหนที่เป็นพิษกับลูกบ้าง? ตาม Cotton Baby มาส่อง 7 พฤติกรรมพ่อแม่ที่ทำลูกหน่ายได้กันค่ะ

1. ครอบครัว Toxic อาจมาจากพ่อแม่จอมบงการ

หากมีความคิดว่า “ลูกคือความหวังของพ่อแม่” ให้ปัดทิ้งไปได้เลย เพราะการบังคับลูกมากไป อาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี เด็กจะรู้สึกถูกควบคุมอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอิสระ ไม่สามารถจัดการตารางชีวิตตัวเองได้ ส่งผลให้เป็นคนไม่มั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจ และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกเพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสม พร้อมปล่อยให้เด็กได้เลือกกิจกรรมที่ชื่นชอบบ้าง นอกจากจะช่วยลดความกดดันแล้ว ยังทำให้ลูกได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาด้วยตัวเองค่ะ

2. ปิดกั้นความคิดลูก จุดเริ่มต้นของครอบครัว Toxic

การไม่สื่อสารกันด้วยความเข้าใจ เป็นบ่อเกิดของปัญหาครอบครัว Toxic ส่งผลให้ลูกไม่กล้าปรึกษา หรือเล่าปัญหาให้ที่บ้านฟัง

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวจึงแย่ลงตามไปด้วย เพราะไม่ว่าจะแสดงความคิดเห็นอะไร ก็ไม่เคยถูกยกมาพิจารณาอย่างจริงจัง ดังนั้นพ่อแม่จึงควรรับฟังและให้คำแนะนำด้วยความเข้าใจค่ะ

3. ชอบเปรียบเทียบ สัญญาณครอบครัว Toxic

พ่อแม่อาจมีความคิดว่า การยกตัวอย่างเปรียบเทียบจะทำให้ลูกมีแรงฮึดเพื่อพัฒนาตัวเอง แต่ความเป็นจริงแล้ว การพูดข้อดีของคนอื่นบ่อย ๆ กลับเป็นการบั่นทอนกำลังใจ ทำให้ลูกเลี่ยงที่จะคุยด้วย เพราะไม่ต้องการฟังคำพูดเชิงลบหรือตำหนิข้อเสียของตัวเอง พ่อแม่จึงควรชื่นชม และให้รางวัลเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดีบ้าง นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นใจแล้ว ยังเป็นการเสริมแรงทางบวกให้ลูกอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ

4. ครอบครัว Toxic มักจะชอบตัดสิน

พฤติกรรมของเด็กบางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ ยิ่งในวัยที่ไม่สามารถสื่อสารได้ครบถ้วน พ่อแม่ยิ่งควรใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ในการพูดคุย หากด่วนตัดสินไป อาจสร้างบาดแผลในใจจนลูกไม่กล้าคุยด้วย ซึ่งการเปิดใจรับฟัง ถกถามถึงเหตุผลของการกระทำเป็นเรื่องที่ควรทำที่สุด หลังจากนั้นค่อยแนะนำและตักเตือนก็ยังได้ ถ้าไม่อยากให้ครอบครัว Toxic อย่าเพิ่งรีบตัดสินให้ลูกรู้สึกแย่นะคะ

5. ครอบครัว Toxic ใช้ความกลัวเพื่อให้ลูกเชื่อฟัง

“ถ้าไม่เงียบจะโดนตี ถ้าไม่ฟังจะไม่รัก ถ้าไม่รีบนอนระวังโดนผีหลอก!” สารพัดคำขู่เพื่อให้ลูกเชื่อฟัง อาจได้ผลทันที แต่…ก็เพียงแค่ชั่วคราว เพราะเมื่อพ้นสายตาพ่อแม่ไป ลูกอาจทำพฤติกรรมเดิมแต่เลือกที่จะปิดบัง เพราะไม่อยากโดนลงโทษหรือรับฟังคำพูดเชิงลบ นอกจากนี้ยังทำให้ลูกขาดการคิดด้วยเหตุผล มีอาการวิตกกังวล เกิดความเครียดและไม่กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ พ่อแม่จึงควรตักเตือนด้วยเหตุผล สอนให้ลูกเรียนรู้จากประสบการณ์จริงแทนที่จะเชื่อ ‘ความกลัว’ ที่สร้างขึ้นมาจะดีกว่าค่ะ

6. รุกล้ำความเป็นส่วนตัว หนึ่งในพฤติกรรมครอบครัว Toxic

ไม่ว่าจะเด็กแค่ไหน มนุษย์ก็ยังต้องการพื้นที่ส่วนตัวเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นที่เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ พ่อแม่ยิ่งควรเข้าใจ และเปิดพื้นที่ให้ค้นหาตัวตนได้เต็มที่ แม้บางครั้งจะรู้สึกกังวลเพราะได้รับรู้เรื่องราวของลูกน้อยลง แต่การปล่อยให้เขาได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองบ้าง ก็ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ชีวิตที่ดีค่ะ

7. ปกป้องลูกมากเกินไป ก็ส่งผลให้ครอบครัว Toxic เช่นกัน

การรักลูกมากไป อาจทำให้เป็นครอบครัว Toxic ได้เช่นกัน ตามตำรา ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ ทะนุถนอมดั่งไข่ในหิน ยิ่งปกป้องมาก ไม่อนุญาตให้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ยิ่งส่งผลให้เด็กขาดภูมิคุ้มกัน เมื่อประสบปัญหาจะไม่รู้วิธีแก้ไข นอกจากนี้กฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป ยังทำให้รู้สึกต่อต้าน และสร้างความแปลกแยกจากเพื่อนวัยเดียวกัน พ่อแม่จึงควรปล่อยให้ลูกได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ล้มบ้าง เจ็บบ้าง เรียนรู้จากความเจ็บปวดและลองเยียวยาตัวเอง เพราะต้นอ่อนจะเติบโตอย่างงดงามได้ ก็ต้องมีวัชพืชกวนใจมาก่อนค่ะ

บาดแผลทางกายและใจจากพฤติกรรมเป็นพิษในครอบครัว Toxic อาจจะแก้ยาก แต่ใช่ว่าแก้ไม่ได้ แม้จะใช้เวลานานสักหน่อย แต่ถ้าค่อย ๆ ปรับจูนเข้าหากันไป ยังไงก็ส่งผลดีแน่นอนค่ะ พ่อแม่ที่กำลังประสบปัญหาหนักใจ หรืออยากสร้างบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เลื่อนลงไปอ่านวิธีเปลี่ยนบ้านให้เป็น Safe Zone ที่ Cotton Baby เตรียมมาข้างล่างได้เลย!

5 วิธีเปลี่ยนครอบครัว Toxic ให้เป็น Safe Zone

1. แสดงความรักกับลูก

การบอกรักและทำให้ลูกรู้สึกว่า ‘ถูกรัก’ เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ยังช่วยให้ลูกอุ่นใจ และรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีครอบครัวอยู่ใกล้ ๆ โดยอาจเริ่มต้นจากการพูดคุย ถามสารทุกข์สุขดิบ จับมือ กอด หรือแสดงความห่วงใย พร้อมเป็นที่พึ่งพาให้ลูกได้ค่ะ

2. รับฟังอย่างเข้าใจ

รับฟังเรื่องราวของลูกอย่างตั้งใจ ไม่ใช่การฟังผ่าน ๆ แบบขอไปที เพราะลูกอาจรู้สึกถูกมองข้าม ไม่ได้รับความสำคัญ นำไปสู่การเลือกที่จะไม่เล่าปัญหาให้ฟังอีกเลย พ่อแม่จึงควรใส่ใจ ใช้เวลาเรียนรู้ความคิดและทัศนคติของลูก ในระหว่างนี้ยังสามารถแทรกเรื่องราวสนุก ๆ ของตัวเอง หรือเล่าข้อผิดพลาดในชีวิตเพื่อเป็นบทเรียนให้ลูกได้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ได้ดีเลยค่ะ

3. ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน

การใช้เวลาทำกิจกรรมภายในครอบครัว เป็นการสร้างความทรงจำร่วมกัน และช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี พ่อแม่ควรแบ่งเวลาทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบกับลูก โดยอาจตั้งเป็นธรรมเนียมเล็ก ๆ ประจำครอบครัว เช่น การทานอาหารนอกบ้านทุกวันศุกร์ หรือตารางดูหนังเรื่องโปรดของแต่ละคน วิธีนี้จะช่วยสร้างจุดเชื่อมโยงภายในครอบครัว และลดช่องว่างระหว่างวัยได้ค่ะ

4. ไม่กดดันลูกมากเกินไป

ไม่ว่าใครก็อยากให้ลูกเป็นคนพิเศษหรือเก่งในทุกด้าน แต่การตั้งความหวังเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกกดดันและไม่สามารถแสดงตัวตนได้เต็มที่ พ่อแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจ ไม่รีบตัดสิน รับฟังปัญหาอย่างจริงใจ และหาทางออกร่วมกันด้วยเหตุผลค่ะ

5. สนับสนุนให้ลูกได้เป็นตัวเอง

ลองจินตนาการถึงเวลาที่เราได้ปลดปล่อยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกเดินทาง ทำกิจกรรมที่ชอบ หรือนอนขลุกอยู่ในบ้านทั้งวัน สิ่งเหล่านี้คือความสุขที่ลูกต้องการเช่นกัน ก่อนหน้านี้พ่อแม่อาจคาดหวังให้ลูกทำอาชีพที่ใฝ่ฝัน เช่น หมอ วิศวกร หรือตำรวจ แต่อย่าลืมว่า ลูกไม่ใช่คนสานความฝันของพ่อแม่ เด็กทุกคนมีเส้นทางที่ต้องการเลือกเดิน การตามรอยเท้าพ่อแม่อาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดสำหรับเขา ดังนั้นจึงควรสนับสนุน และส่งเสริมให้ลูกได้เป็นตัวเอง เพื่อความสุขที่ยั่งยืนในระยะยาวจะดีกว่าค่ะ

การจะสร้าง Safe Zone ที่ดีให้ลูกได้ พ่อแม่ควรเปิดใจและใช้เวลาอย่างใจเย็น แม้บางครั้งจะเผลอทำสิ่งใน 7 พฤติกรรมเป็นพิษ จนกลายเป็นครอบครัว Toxic โดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าปรับความเข้าใจ สื่อสารด้วยเหตุผล รอยร้าวที่เกิดขึ้นก็สามารถสมานกันได้ พ่อแม่เองก็เป็นมนุษย์ธรรมดา หากผิดพลาดก็แก้ไข ค่อย ๆ เรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกัน เพื่อก่อร่างวางโครง ‘บ้าน’ ให้สมบูรณ์

SHARE

RELATED POSTS

ธุจ้า เทคนิคฝึกเด็กไหว้อย่างไรให้เข้าใจและได้ผล ทำตามไม่ยาก การยกมือไหว้…
รวมไอเดียให้สำหรับคุณแม่ที่อยากถ่ายรูปตอนท้อง เก็บไว้เป็นที่ระลึก บันทึกเป็นความทรงจำ โมเมนต์ครั้งหนึ่งได้เป็นคุณแม่ของหนูน้อย…
เมื่อครอบครัวต้องเจอกับปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลง มาใช้โอกาสนี้ให้ลูกเรียนรู้เติบโตขึ้น เปิดใจคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวกับลูกกันเถอะ…