Search
Close this search box.
การเปลี่ยนแปลง ครอบครัว คุยกับลูก

6 เคล็ดลับเปิดใจคุยกับลูก

เรื่องการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว

Cotton Baby อยากชวนคุณพ่อคุณแม่เปิดใจให้กว้างขึ้น เมื่อมีปัญหาต่าง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว ลองพูดคุยกับลูกน้อยอย่างจริงใจ เพื่อให้เขาได้รับรู้ถึงสถานการณ์ตอนนี้ที่ครอบครัวเป็นอยู่ ใช้โอกาสนี้เพื่อฝึกให้ลูกได้เรียนรู้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ได้รับผลกระทบการจากระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในเรื่องรายรับรายจ่าย พ่อแม่บางคนต้องตกงาน หรือปัญหาอื่นก็ตาม เพื่อให้ลูกได้มีบทบาทช่วยเหลือครอบครัวมากขึ้น ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นคุยแบบไหนให้ถูกวิธี มาลองทำตามวิธีเหล่านี้ที่เราจะแนะนำได้เลย

‘การปรับตัว’ คือสิ่งสำคัญอันดับแรก ซึ่งทำได้ด้วยการพูดคุยสื่อสารกัน ไม่ใช่แค่พ่อแม่ แต่รวมถึงเจ้าตัวเล็กด้วย

อย่าปิดกั้นลูกจากปัญหา

การเปลี่ยนแปลง ครอบครัว คุยกับลูก

พ่อแม่มักคิดว่าปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในครอบครัวเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องหาทางออก ไม่ควรให้เด็กมารับรู้ปัญหาที่เจอ แค่ให้เขาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดก็เพียงพอแล้ว อย่าคิดว่าเด็กก็คือเด็ก ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก! คิดแบบนี้ขอบอกว่าผิดมากเลยนะ เพราะเด็ก ๆ สามารถรับรู้ถึงความเครียดของพ่อแม่ได้ดี และเร็วมากด้วย

มัวแต่หงุดหงิดใส่ลูก ปิดกั้นลูกจากปัญหา ไม่ยอมบอกความจริงจะทำให้ลูกเกิดคำถามในใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงต้องโมโห หงุดหงิดตลอดเวลา? จะทำให้ลูกคิดลบกับตัวเองว่าเขาทำอะไรผิดไปหรือเปล่า? เป็นเด็กไม่ดีในสายตาพ่อแม่ไหมนะ..

แชร์ความสุขและทุกข์ร่วมกัน

การเปลี่ยนแปลง ครอบครัว คุยกับลูก

รู้ไหมว่าการที่เด็ก ๆ สามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวได้เร็วนั้นมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น การพูดคุยกันของพ่อแม่ที่แสดงถึงความเครียดวิตกกังวล ข่าวสารในทีวี หรือการคุยกับเพื่อน ๆ ในสิ่งที่ได้ยินมาจากพ่อแม่

ทางที่ดีควรบอกความจริงให้ลูกรู้สึกว่าเขามีบทบาท หรือมีส่วนร่วมกับครอบครัวมากขึ้น แชร์ทั้งความสุข และความทุกข์ร่วมกัน เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น รู้จักคิด และแก้ไขปัญหาที่ต้องเจอ เพื่อให้เขารู้ว่าตัวเองจะช่วยเหลือครอบครัวได้อย่างไรบ้าง

ไม่ดุด่า โยนความผิด หรือสั่งให้ลูกทำ

การเปลี่ยนแปลง ครอบครัว คุยกับลูก

การจะเปิดใจคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวกับลูก พ่อแม่ต้องไม่ใช้อารมณ์ในพูดคุย รวมไปถึงการดุด่า โยนความผิด หรือสั่งให้ลูกต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกแย่ และไม่อยากทำเพราะโดนดุ แต่ให้ลองพูดคุยด้วยเหตุผล ช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไปในแต่ละเหตุการณ์ด้วยข้อมูลที่เป็นความจริงว่าตอนนี้บ้านเรามีปัญหาอะไรบ้าง

เช่น “จากปัญหานี้ทำให้พ่อแม่อาจจะต้องตกงาน หรือโดนลดเงินเดือนชั่วคราวนะ” พร้อมกับบอกว่า “แต่ไม่เป็นไร เราจะผ่านมันไปได้แน่นอน” เพื่อให้เขารู้ว่าเมื่อเจอปัญหาเราต้องสู้ และรับมือให้ได้ และเมื่อลูกเข้าใจว่าตอนนี้บ้านเรากำลังมีปัญหาควรพูดต่อว่า “ตอนนี้แม่ขอให้หนูช่วยกันประหยัดเงินมากขึ้นนะ อะไรที่ไม่จำเป็นก็ยังไม่ต้องซื้อเนอะ” จะเป็นการบอกความต้องการที่อยากให้เขามีส่วนช่วยเหลือครอบครัว

การพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างตรงไปตรงมาจะทำให้ลูกสามารถรับรู้บทบาทของตัวเองในฐานะคนที่ช่วยเหลือครอบครัวได้ ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้ ซึ่งมันจะส่งผลดีกับตัวเด็กเอง และยังทำให้เขาได้รู้จักกับคำว่า ‘การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น’ อีกด้วย ถือเป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับเด็กไปในตัว

ความจริงที่อาจแย่ แต่ยังรู้สึกมั่นคงปลอดภัย

การเปลี่ยนแปลง ครอบครัว คุยกับลูก

ทั้งหมดทั้งมวลของความจริงที่บอกไปจะต้องมาพร้อมกับการสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้ลูกรับรู้ด้วยนะ เพราะมันจะส่งผลต่อการเติบโตทางจิตใจของเด็ก ๆ ได้ในอนาคต ซึ่งลูกจะสามารถเอามันไปใช้รับมือกับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตที่จะได้เจอ ซึ่งก่อนจะเปิดใจคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวกับลูก พ่อแม่จะต้องคุยกันก่อนว่ามีวิธีแก้ปัญหากับวิกฤตนี้อย่างไร

วิธีคิดของพ่อแม่จะทำให้ลูกเรียนรู้ว่าช่วงเวลาที่เขาเจอปัญหาเด็กจะรับมืออย่างไร ระหว่างร้องไห้ โวยวาย รู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ หรือ ระบายความรู้สึกแล้วตั้งสติแก้ไขปัญหา

‘พูดด้วยอารมณ์’ คือการทำร้ายความรู้สึกลูก

การเปลี่ยนแปลง ครอบครัว คุยกับลูก

ถ้าพ่อแม่พูดคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงกับลูกด้วยอารมณ์ มันอาจกลายเป็นการทำร้ายความรู้สึกลูกได้ เด็กจะรู้สึกกังวลและคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โต ซึ่งความกังวลของลูกไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของพ่อแม่ขณะที่สื่อสาร เช่น ถ้าพูดกับลูกว่า “ช่วงนี้ช่วยกันประหยัดหน่อยนะลูก” อาจไม่ได้ทำให้เขารู้สึกแย่เท่ากับประโยคที่ว่า “ทำไมฟุ่มเฟือยแบบนี้”

ส่วนอีกเรื่องที่ต้องระวังคือการตีความผิด ๆ ของพ่อแม่ เช่น “ทำไมไม่รู้จักประหยัด” หรือ “ทำไมเป็นคนเห็นแก่ตัวแบบนี้” เพียงเพราะมีเจตนาแค่อยากให้ลูกประหยัด นี่อาจเป็นคำพูดที่ทำร้ายลูกได้อย่างแรงเชียวล่ะ

ให้อภัยตัวเองบ้าง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบหรอกนะ

การเปลี่ยนแปลง ครอบครัว คุยกับลูก

อ่านมาถึงตรงนี้พ่อแม่หลายคนคงคิดอยู่ใช่ไหมว่านี่ฉันเคยพูดอะไรไม่ดีกับลูกไปมากขนาดไหนแล้วนะ อย่าลืมว่าสุดท้ายเราก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง มีอารมณ์ มีความรู้สึกเหมือนกัน บางครั้งอาจมีเผลอผิดไปบ้าง เมื่อคิดได้ก็ควรตั้งสติให้ดีก่อนจะพูด หรือทำอะไรลงไปให้ลูกเห็น

การเปิดใจคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวกับลูกเป็นสิ่งสำคัญนะ อย่าคิดว่าเขาไม่ควรรับรู้ ถ้าปล่อยให้ลูกอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยตลอดไป เขาอาจจะไม่มีวันรับมือกับปัญหาเมื่อต้องเจอมันจริง ๆ ได้

SHARE

RELATED POSTS

เช็กด่วน พฤติกรรมของพ่อแม่แบบไหนที่ทำครอบครัว Toxic เมื่อบ้านไม่ใช่เซฟโซนของลูกอีกต่อไป…
รวมไอเดียให้สำหรับคุณแม่ที่อยากถ่ายรูปตอนท้อง เก็บไว้เป็นที่ระลึก บันทึกเป็นความทรงจำ โมเมนต์ครั้งหนึ่งได้เป็นคุณแม่ของหนูน้อย…