เลี้ยงลูกหลายคนอย่างไร
ไม่ให้เขารู้สึกว่า ‘พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน’
‘พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน’ เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสถาบันครอบครัวมานาน โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีลูกหลายคน ซึ่งในอดีตปัญหานี้เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในสังคมไทย เช่น ลูกคนโตมักถูกบังคับให้ช่วยทำงานหรือดูแลน้องคนอื่น ๆ ในขณะที่ลูกคนสุดท้องได้รับการเอาใจจากพ่อแม่เป็นพิเศษ หรือในบางจารีตลูกคนโตถูกยกให้เป็นคนสำคัญมากที่สุด ทำให้ลูกที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่เกิดความรู้สึกน้อยใจได้ตลอดเวลา
แต่ในปัจจุบันค่านิยมของสังคมและการเลี้ยงลูกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การดูแลลูกควรให้ความสำคัญและเอาใจใส่ลูกเท่า ๆ กัน ไม่เช่นนั้นความรู้สึกที่ถูกละเลยอาจสร้างแผลใจให้กับลูกคนใดคนหนึ่งได้ โดยพ่อแม่สามารถลบสิ่งนี้ออกไปจากใจของลูก และสร้างภูมิคุ้มกันให้พวกเขาได้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ดังนี้
เข้าใจตัวตนและความแตกต่างของลูก
ธรรมชาติของคนเรามีความแตกต่างกัน แม้กระทั่งในเด็ก สังเกตได้จากเด็กบางคนช่างพูดช่างเจรจา แต่บางคนกลับพูดน้อยและชอบนั่งทำกิจกรรมเงียบ ๆ พ่อแม่จึงควรทำความเข้าใจตัวตนของลูกตั้งแต่ยังเล็ก ว่าเขามีบุคลิกหรือนิสัยอย่างไร ผ่านมุมมองที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียงหรือพอใจกับใครคนหนึ่งมากเกินไป โดยนอกจากทำความเข้าใจแล้ว ยังควรปฏิบัติต่อเขาในแบบที่ไม่เป็นการบังคับหรือฝืนใจให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวตน เช่น พ่อแม่ชอบลูกที่ช่างคุย แต่มีลูกคนหนึ่งค่อนข้างเงียบ ก็ไม่ควรบังคับให้เขาเปลี่ยนตัวเอง หรือพูดจาเปรียบเทียบเขากับพี่น้องคนอื่นที่ร่าเริงกว่า เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกแปลกแยก ทางที่ดีควรเข้าใจและยอมรับตัวตนของเขามากกว่า
ส่งเสริมกิจกรรมของลูกทุกคน
กิจกรรมที่ลูกชอบเป็นสิ่งที่มีความแตกต่าง เหมือนกับตัวตนหรือบุคลิกของพวกเด็กแต่ละคน หากเป็นไปได้พ่อแม่ควรส่งเสริมในทุกกิจกรรมของลูกทุกคนอย่างเท่า ๆ กัน เช่น ลูกคนหนึ่งชอบเล่นกีฬาฟุตบอล แต่อีกคนชอบการเต้น ก็ควรส่งเสริมในทิศทางที่ลูกแต่ละคนสนใจ ไม่พยายามยัดเยียดความชอบ หรือบังคับให้ลูกที่ชอบเต้นไปเล่นฟุตบอล เพราะอาจทำให้เขาเกิดความรู้สึกน้อยใจ และรู้สึกว่าไม่ได้รับความรักอย่างเท่าเทียม แม้การสนับสนุนลูกสองทางพร้อมกันอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเวลามากกว่า แต่ก็สร้างผลดีกับลูกในระยะยาว
นอกจากการส่งเสริมในทุกกิจกรรมของลูกทุก ๆ คนแล้ว การให้กำลังใจลูกทุกคนก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แม้กิจกรรมนั้นไม่ใช่กิจกรรมที่เราชื่นชอบ เพราะสำหรับลูก กำลังใจจากพ่อแม่คืออาหารทางใจชั้นดี ที่จะนำพาเขาให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ชื่นชอบได้ในอนาคต
ให้คำปรึกษากับลูกทุกคนแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย
การให้คำปรึกษากับลูกไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะตอนมีปัญหาใหญ่ ๆ หรือทำเฉพาะกับลูกที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพียงอย่างเดียว แต่กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ควรใส่ใจและชวนลูกพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ แม้บางคำถามอาจไม่สำคัญ แต่พ่อแม่ก็ต้องพร้อมตอบคำถามด้วยความเต็มใจ และให้คำปรึกษากับลูกทุกคนโดยที่ไม่มองว่าสิ่งนั้นไร้สาระหรือเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะนัยหนึ่งมันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก และลดระยะห่างระหว่างวัยได้เป็นอย่างดี
เมื่อลูกทะเลาะกันต้องตัดสินด้วยเหตุผล
พร้อมฝึกให้เขามีความรักต่อกัน
เรื่องปกติที่เกิดกับครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน คือการเห็นลูกทะเลาะกัน แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ก็มีรายละเอียดที่พ่อแม่ควรใส่ใจ เพราะทุกครั้งที่ลูก ๆ ทะเลาะกันมักจะแฝงอะไรบางอย่างไว้เสมอ เช่น พี่อิจฉาน้องที่มีของเล่นแตกต่างจากตัวเอง ขณะที่บางคนต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่จึงใช้อารมณ์กับพี่หรือน้องแทน อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหาลักษณะนี้ พ่อแม่ควรตัดสินปัญหาอย่างมีเหตุผล ไม่ควรใช้ความรู้สึกเป็นตัวชี้นำหรือเข้าข้างใครเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้ลูกเกิดความรู้สึกแย่ ๆ จนคิดว่า ‘พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน’ ตามไปด้วย
ที่สำคัญเมื่อตัดสินหรือคลายปัญหาได้แล้ว พ่อแม่ก็ควรเสริมสร้างความรักซึ่งกันและกันในครอบครัวต่อ ด้วยการฝึกลูกให้เป็นคนที่มีมุมมองในเชิงบวก ให้เขาเรียนรู้ปัญหาในมุมมองใหม่ ๆ ไม่ยึดติดกับคำตัดสินเพียงอย่างเดียวว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด เพราะการยึดติดอาจทำให้เขาฝังใจ จนกลายเป็นคนที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อพี่น้องคนอื่นได้ตามไปด้วย อีกทั้งเรื่องบางเรื่องอาจทำให้ลูกรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลังได้ พ่อแม่จึงควรสอนให้เขารู้จักแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เสมอ
ประเด็นหลักในการแก้ปัญหานี้จะเห็นได้ว่า การดูแลและเอาใจใส่ลูกเท่า ๆ กัน เป็นสิ่งสำคัญที่แฝงอยู่ในทุกข้อที่กล่าวมา ซึ่งในส่วนวิธีการอาจปรับตามความเหมาะสมในแต่ละครอบครัวได้ แต่ที่ต้องมาก่อนคือหมั่นเติมเต็มและเรียนรู้ความรู้สึกของลูกทุกคนอย่างสม่ำเสมอ เพราะสิ่งที่ลูกรู้สึกในวันนี้คือส่วนหนึ่งของตัวตนเขาในอนาคต