คุณแม่มือใหม่เช็กเลย สิทธิประกันสังคมฝากครรภ์ มีอะไรปรับบ้าง
คุณแม่มือใหม่ที่กำลังตั้งครรภ์แล้วยังไม่เคยตรวจสอบสิทธิประกันสังคมมาก่อน รู้หรือเปล่าคะว่าเราสามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้กับสิทธิประกันสังคมฝากครรภ์ เพราะฉะนั้นเรามาเช็กสิทธิกันหน่อยดีกว่าค่ะว่าปัจจุบัน (อัปเดตปี 2564) มีปรับเพิ่มอะไร และเท่าไหร่บ้าง
สิทธิประกันสังคมฝากครรภ์ – ค่าตรวจและฝากครรภ์
- ตรวจเช็กสิทธิประกันสังคม บนเว็บไซต์ SSO E-Service
- เช็กข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิที่คุณแม่ได้รับ
สิ่งที่ประกันสังคมปรับเพิ่มสิทธิ
ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าตรวจและฝากครรภ์โดยปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์เป็น 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,500 บาท จากเดิม 3 ครั้ง 1,000 บาท ดังนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
โดยการเบิกฝากครรภ์ประกันสังคม จะใช้สิทธิของคุณแม่หรือคุณพ่อก็ได้ สามารถเบิกที่สำนักงานประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้าง) หรือ มาตรา 39 (ส่งเอง) หรือ เป็นบุคคลตามมาตรา 38 (2) หรือมาตรา 41 (3), (4), (5) ที่นำส่งเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนที่ใช้สิทธิ
เอกสารที่ต้องใช้ในการเบิกฝากครรภ์ สิทธิประกันสังคมฝากครรภ์
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม สปส. 2-01 (คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร)
- ใบเสร็จรับเงินการเข้ารับบริการฝากครรภ์
- ใบรับรองแพทย์ หรืออนุโลมให้ใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ที่มีชื่อแม่ผู้ตั้งครรภ์และรายละเอียดการบันทึกตามแต่ละช่วงอายุครรภ์แทนได้
- ถ้าคุณพ่อเบิก ให้นำสำเนาทะเบียนสมรส หรือ หนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส (คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร) มาด้วย แต่ถ้าคุณแม่มาเบิกต้องใส่เลขบัตรประชาชนของคุณพ่อเพื่อป้องกันการใช้สิทธิซ้ำ
สิทธิประกันสังคมฝากครรภ์ – ค่าคลอดบุตร
- สิทธิประกันสังคมฝากครรภ์ ยังสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ โดยเป็นการเบิกในอัตราเหมาจ่าย ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าทำคลอด ค่ายา ค่าห้อง ค่ารถพยาบาล หรือค่าบริการอื่นๆ
- สามารถคลอดบุตรที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ โดยสำรองจ่ายไปก่อนแล้วนำมาเบิกภายหลัง
สิ่งที่ประกันสังคมปรับเพิ่มสิทธิ
มีการปรับเพิ่มค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายเป็น 15,000 บาท จากเดิม 13,000 บาท โดยผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
นอกจากนี้ยังมีเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน (ไม่เกิน 2 ครั้ง) สำหรับผู้ประกันตนชายที่มีภริยาจดทะเบียนสมรสหรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยา แต่มิได้จดทะเบียนสมรสจะได้รับเฉพาะเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย จำนวน 15,000 บาท ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้แล้ว ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
เงื่อนไขสิทธิประกันสังคมฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร
เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้าง) หรือ 39 (ส่งเอง)
ส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร
เอกสารที่ต้องใช้ในการเบิกค่าคลอดบุตร สิทธิประกันสังคมฝากครรภ์
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม สปส. 2-01 (คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร)
- สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (ถ้าเป็นบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
- สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคาร (ออมทรัพย์) ให้เห็นชื่อและเลขที่บัญชีชัดเจน โดยธนาคารที่สามารถทำรายการได้มีดังนี้ กรุงเทพ, กสิกร, ไทยพาณิชย์, กรุงไทย, กรุงศรีฯ, ธนชาต, ธ.อิสลามฯ, CIMB, ออมสิน และ ธ.ก.ส.
- คุณพ่อหรือคุณแม่จะเป็นผู้มาเบิกก็ได้ ดังนั้นหากคุณพ่อเป็นคนเบิก ให้แนบสำเนาทะเบียนสมรสมาด้วย แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนก็แนบ หนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส (คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร)
นอกจากสิทธิประกันสังคมฝากครรภ์ สำหรับค่าตรวจ ฝาก และคลอดบุตร ยังมีค่าชดเชยกรณีแท้งบุตรให้อีกด้วย โดยสามารถรับสิทธิประกันสังคมได้ตามที่กำหนด ถือว่าเป็นกรณีคลอดบุตรเช่นกัน ได้สิทธิค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย และสิทธิหยุดงานลาคลอด มีข้อกำหนดคือ จ่ายเงินค่าประกันสังคมแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนแท้งบุตร และมีอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ หรือ 7 เดือนขึ้นไป
เช็กสิทธิประกันสังคมฝากครรภ์กันไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่าลืม เช็กเงินอุดหนุนบุตร เงื่อนไขและขั้นตอนลงทะเบียนมีอะไรบ้าง ด้วยนะคะ เพื่อเป็นประโยชน์ที่เราควรได้รับค่ะ