Search
Close this search box.
IVF

IVF อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคู่รัก
ที่พยายามเท่าไหร่ก็ไม่ท้องสักที

คู่รักบางคู่ที่พยายามเท่าไหร่ก็ไม่ท้องสักที ไม่ว่าจะลองทั้งวิธีทานอาหารที่ช่วยเพิ่มสเปิร์ม หรือนับวันตกไข่ แล้วก็ตาม อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะผู้มีบุตรยากอยู่ก็ได้ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุมาก ร่างกายไม่แข็งแรง แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีอย่าง การทำ IVF เด็กหลอดแก้ว เป็น วิธีที่จะช่วยให้คู่รักมีบุตรได้ตามที่ใจหวังเอาไว้ได้อย่างง่ายมากขึ้น

รู้จัก IVF การทำเด็กหลอดแก้ว

IVF (In-vitro Fertilization) หรือที่เรียกกันว่า การทำเด็กหลอดแก้ว คือ วิธีการรักษาโรคมีบุตรยากโดยผ่านการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย พูดง่ายๆ ก็คือ การนำไข่ของฝ่ายหญิง และอสุจิของฝ่ายชายมาผสมกัน ในหลอดทดลองที่มีลักษณะเป็นหลอดแก้ว นั่นเอง และหลังจากนั้นก็จะส่งกลับคืนเข้าสู่มดลูก เพื่อให้อยู่ในครรภ์ของฝ่ายหญิงตามปกติ

การทำ IVF เด็กหลอดแก้ว เหมาะสำหรับใครบ้าง ?

  • คุณผู้หญิงที่มีท่อนำไข่อุดตันหรือถูกทำลาย
  • คุณผู้ชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับเชื้ออสุจิ ได้แก่ มีจำนวนอสุจิน้อย อสุจิเคลื่อนที่ได้ไม่ดี
  • พยายามมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติมาแล้ว 3 ปี แต่ยังไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยาก
  • คู่รักที่ใช้วิธีกระตุ้นการตกไข่ และการผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (Intrauterine Insemination: IUI) มาแล้วแต่ยังไม่ได้ผล
IVF

ขั้นตอนในการทำ IVF เด็กหลอดแก้ว

1. คุณผู้หญิงจะต้องควบคุมประจำเดือนให้มาตามปกติ จากนั้นแพทย์จะฉีดยากระตุ้นไข่ให้ประมาณ 10 – 12 วัน อย่างต่อเนื่อง

2. แพทย์จะเลือกเก็บไข่ที่สมบูรณ์จากรังไข่ โดยใช้เข็มดูดผ่านทางช่องคลอด ใช้เวลาเก็บไข่ประมาณ 30 นาที หลังการเก็บไข่ คุณผู้หญิงจะได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนชนิดสอดช่องคลอดหรือฉีดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก

3. นำไข่ที่ได้มาผสมกับอสุจิ ในห้องปฏิบัติการ เลี้ยงและควบคุมคุณภาพตัวอ่อน คอยติดตามดูไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิใน 2 วันต่อมา

4. ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะกลายเป็นตัวอ่อน พร้อมย้ายเข้าโพรงมดลูก มักจะทำในวันที่ 3 – 5 หลังจากวันเก็บไข่ (ขั้นตอนของการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนมาโรงพยาบาล และไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที)

5. เมื่อคุณผู้หญิงได้รับตัวอ่อน เข้าไปฝังในโพรงมดลูกแล้ว จะต้องกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ภายใน 12 – 14 วัน และแพทย์จะยังให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ต่อไปอีก 8 – 10 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแท้ง

IVF

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำ IVF เด็กหลอดแก้ว

1. รังไข่บวม : เนื่องจากได้รับฮอร์โมนกระตุ้นมากเกินไป

2. ผลข้างเคียงจากยา : อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว และอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

3. ตั้งครรภ์นอกมดลูก : ไข่เข้าไปฝังตัวอยู่ในท่อนำไข่แทนที่จะเป็นมดลูก

4. ตั้งครรภ์ลูกแฝด : หากมีการถ่ายฝากตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว ตัวอ่อนทั้งหมด อาจฝังตัวที่ผนังมดลูก และตั้งครรภ์ลูกแฝดได้ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อคุณแม่ได้

5. คลอดก่อนกำหนด : ส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยมาก และอาจมีปัญหาเรื่องการหายใจตามมาได้

6. เสี่ยงภาวะแทรกซ้อน : อาจมีภาวะแทรกซ้อนในขั้นตอนการเก็บไข่ เช่น การติดเชื้อ

จะเห็นได้ว่าการทำ IVF เด็กหลอดแก้ว ถึงแม้จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ตั้งครรภ์ได้ตามปรารถนาแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการทำอยู่ด้วย ทั้งนี้ คู่รักจะต้องรู้ก่อนนะว่า… การทำเด็กหลอดแก้ว อาจจะไม่สำเร็จในครั้งแรกเลยซะทีเดียว แต่ สามารถทำเด็กหลอดแก้วได้อีกครั้ง ภายในระยะเวลา 1 – 2 เดือน อย่างไรก็ตาม คุณผู้หญิงและคุณผู้ชาย อย่าลืมดูแลร่างกาย จิตใจให้แข็งแรง พยายามไม่เครียดจนเกินไป รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้การทำ IVF เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ

SHARE

RELATED POSTS

เด็กหลอดแก้ว Reciprocal เติมเต็มความอบอุ่นให้ครอบครัว LGBTQ+…
รวบรวมเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้ชายได้เรียนรู้เมื่อต้องเป็นพ่อที่มีลูกสาว เพราะความแตกต่างของเพศนี่แหละที่จะทำให้พ่อเรียนรู้จากการมีลูกสาวจนทำให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อ…
ครอบครัวไหนที่กำลังอยากพาลูกเที่ยวต่างประเทศ มาดูกันก่อนดีกว่าว่า… ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทริปนี้สนุกได้แบบไม่มีสะดุด…