รู้จักการทำ ICSI (อิ๊กซี่)
เทคนิคพิเศษสำหรับคู่รักที่มีลูกยาก
ปัจจุบันเทคโนโลยีการทำ ICSI (อิ๊กซี่) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่เข้าข่ายภาวะมีลูกยาก วันนี้ Cotton Baby เลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักเกี่ยวกับการทำ ICSI ว่าคืออะไร แตกต่างกับการทำ IVF เด็กหลอดแก้ว อย่างไร และสิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนทำ ICSI ค่ะ
รู้จักการทำ ICSI (อิ๊กซี่) คือ
ICSI : Intracytoplasmic Sperm Injection (อิ๊กซี่) คือ วิธีการปฏิสนธินอกร่างกาย โดยจะคัดเชื้อสเปิร์มตัวที่สมบูรณ์แข็งแรงมากที่สุดผ่านการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จำนวนเพียง 1 ตัว เพื่อฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบให้ผสมกัน โดยนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เมื่อเจริญเป็นตัวอ่อนและอยู่ในระยะที่เหมาะสมแล้วจะถูกนำกลับเข้าไปไว้ในโพรงมดลูก เพื่อให้มีการตั้งครรภ์ในฝ่ายหญิงต่อไป
การทำ ICSI เหมาะกับใครบ้าง?
- เมื่อมีอายุ 35 ปี ขึ้นไป หรือเข้าข่ายภาวะมีลูกยาก
มีแนวโน้มสูงที่ลูกจะมีความผิดปกติทางพันธุกรรม - ผู้ที่ทำการแช่แข็งไข่ (Frozen eggs) หรือฝากสเปิร์มเอาไว้
ทำความรู้จัก ฝากสเปิร์ม ทางเลือกสำหรับพ่อแม่มีลูกยากหรือวางแผนมีลูกในอนาคต คลิก - ฝ่ายชายมีปริมาณสเปิร์มค่อนข้างน้อย หรือไม่สมบูรณ์ ไม่แข็งแรง
- ผู้ที่มีประวัติตั้งครรภ์แล้วพบความผิดปกติทางพันธุกรรมมาก่อน
หรือมีประวัติแท้งลูกติดต่อกัน 3 ครั้ง ขึ้นไป - ผู้ที่ทำ IVF แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ 3 ครั้ง ขึ้นไป
- คู่สมรสที่มีพาหะของโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้
- ฝ่ายชายเป็นหมัน หรือทำหมันแล้วแต่อยากมีลูกอีก (สามารถนำเสปิร์มออกมาได้โดยการผ่าตัด)
ขั้นตอนการทำ ICSI
อันดับแรกก่อนทำ ICSI เราต้องเข้าพบแพทย์เพื่อฟังข้อมูลที่ควรรู้ และตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมความพร้อม
ฝ่ายหญิง ตรวจการทำงานของรังไข่ คัดกรองภาวะติดเชื้อ ส่วนฝ่ายชาย ตรวจคุณภาพของสเปิร์ม เมื่อแพทย์ประเมินแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนของการทำ ICSI ต่อไปนี้
- กระตุ้นการตกไข่ของฝ่ายหญิงก่อนประมาณ 9 – 14 วัน เพื่อให้ได้ปริมาณมากกว่าใบเดียว ส่วนใหญ่มักใช้วิธีการฉีดยาฮอร์โมน
- ติดตามและดูขนาดของเซลล์ไข่ ด้วยการเจาะเลือดและอัลตราซาวด์
- ฝ่ายชาย แพทย์จะทำการเก็บและคัดเลือกสเปิร์มที่สมบูรณ์และแข็งแรงที่สุด
- เมื่อเซลล์ไข่มีขนาดสมบูรณ์แล้วจะทำการเก็บออกมา เพื่อย้ายไปใส่ในน้ำยาเลี้ยง และเก็บไว้ในเครื่องมือพิเศษสำหรับการเลี้ยงตัวอ่อน มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซต่าง ๆ เพื่อให้ได้สภาวะที่เหมาะสมที่สุดต่อการเจริญเติบโต
- นำเซลล์ไข่มาผสมกับสเปิร์มที่คัดเลือกไว้แล้ว
- จากนั้นจะถูกนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ จนกว่าเจริญเป็นตัวอ่อน ระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน ในระหว่างนี้สามารถตรวจวินิจฉัยถึงโรคทางพันธุกรรมได้
- เมื่อเจริญเป็นตัวอ่อน และอยู่ในระยะที่เหมาะสมแล้วจะถูกนำกลับเข้าไปไว้ในโพรงมดลูก เพื่อให้ตั้งครรภ์แบบปกติต่อไป
การดูแลตัวเองหลังทำ ICSI
หลังจากทำ ICSI แล้วควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อน
- ฝ่ายหญิงควรพักผ่อนให้มาก ไม่ควรทำงานหนัก เช่น ยกของ หรือการออกกำลังกายหนัก ๆ
- ยังไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ และงดการสวนล้างช่องคลอด
- หากมียาตัวอื่นที่จำเป็นต้องทานนอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง มีเลือดออก หรือมีตกขาวมากผิดปกติ ควรพบแพทย์ทันที
ICSI และ IVF แตกต่างกันอย่างไร?
ความแตกต่างของ 2 วิธีนี้ คือ การทำ IVF เป็นการปล่อยให้ตัวสเปิร์มกับไข่เกิดการปฏิสนธิกันเอง แต่การทำ ICSI เป็นการทำให้เกิดการปฏิสนธิแบบเจาะจง ซึ่งในกลุ่มที่มีสเปิร์มไม่แข็งแรง การทำ ICSI จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะสามารถคัดเสปิร์มตัวที่แข็งแรงมาปฏิสนธิกันได้เลย
ข้อดีของการทำ ICSI
- ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าข่ายภาวะมีลูกยาก และมีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- การทำ ICSI ช่วยวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมได้ตั้งแต่อายุยังน้อย สำหรับคู่รักที่ยังไม่พร้อมมีลูกอย่างทันที สามารถกระตุ้นไข่และเก็บฝากตัวอ่อนเอาไว้ก่อนได้ เมื่อไหร่ที่พร้อมก็สามารถนำตัวอ่อนออกมาละลายใส่กลับเข้าโพรงมดลูกได้ (แช่แข็งเก็บไว้ได้กว่า 10 ปี)
- หากทำ ICSI แล้วประสบความสำเร็จ และพร้อมที่จะมีลูกคนต่อไป สามารถกลับมาทำได้เลยในกรณีที่ตอนทำ ICSI นั้นมีการผสมกันแล้วได้ตัวอ่อนหลายตัว ตัวอ่อนที่เหลือสามารถเก็บไว้ทำครั้งต่อไปได้ โดยไม่ต้องกลับมาเริ่มขั้นตอนกระตุ้นไข่เก็บไข่ใหม่อีกครั้ง
ค่าใช้จ่ายของการทำ ICSI
สำหรับเทคนิคพิเศษ ICSI นี้ มีราคาเริ่มต้นประมาณ 100,000 ไปจนถึง 500,000 บาท (ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลนะคะ)
การทำ ICSI (อิ๊กซี่) ก็มีข้อจำกัดในตัวเหมือนกัน และที่สำคัญคือช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จได้มากกว่าวิธีอื่น ในกรณีที่ฝ่ายชายมีสเปิร์มไม่แข็งแรง วิธีนี้จะช่วยให้เกิดการปฏิสนธิได้อย่างเจาะจงมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคู่ด้วย หวังว่าทุกคู่รักที่อยากมีลูกจะได้วิธีนี้ไปเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ นะคะ