วิธีดูแลครรภ์ให้แข็งแรง สมบูรณ์ เตรียมพร้อมคลอดแบบแฮปปี้
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ แน่นอนว่าร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากจะต้องดูแลตัวเองแล้ว การดูแลครรภ์ให้มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะเมื่อสุขภาพครรภ์แข็งแรง ลูกน้อยก็มีพัฒนาการที่ดีตามไปด้วย ซึ่งการดูแลครรภ์ยังช่วยลดการเกิดโอกาสเสี่ยงต่าง ๆ ต่อลูกน้อยและตัวคุณแม่เองอีกด้วยนะคะ แล้วการดูแลครรภ์ให้แข็งแรง ปลอดภัย เตรียมพร้อมคลอดลูกได้อย่างแฮปปี้จะต้องทำอย่างไรบ้าง เราไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
1. อาหารที่คุณแม่ควรทานเพื่อดูแลครรภ์ให้สุขภาพดี
คุณแม่ทานอะไรลูกก็จะได้แบบนั้น ‘อาหาร’ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการดูแลครรภ์ คุณแม่ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อลูกในครรภ์ รวมถึงต้องรู้ว่าอาหารอะไร ‘ควรทาน’ และ ‘ควรหลีกเลี่ยง’ คุณแม่คนไหนอยากศึกษาการป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อ่านได้ที่นี่ 5 อาหารคนท้องสำหรับคุณแม่เสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์
นอกจากนี้การเลือกทานอาหารให้เหมาะกับลูกน้อยในแต่ละช่วงอายุครรภ์ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอและมีประโยชน์มากที่สุดจะช่วยให้สมองและร่างกายของลูกน้อยพัฒนาได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญคือ การทานอาหารในช่วงตั้งครรภ์เป็นการทานของคนสองคน ทำให้น้ำหนักมีการปรับเปลี่ยน คุณแม่ควร ‘Track น้ำหนักตัวในแต่ละเดือน’ เพื่อดูแลครรภ์และลดเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดูข้อมูลได้ที่ อาหารบำรุงครรภ์สำหรับลูกน้อยในแต่ละไตรมาส พร้อมข้อควรรู้เรื่องน้ำหนักของคุณแม่
2. ออกกำลังกาย เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ดูแลครรภ์ให้แข็งแรง
ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่จำเป็นต้องดูแลครรภ์ด้วยการออกกำลังกายบ้าง เพราะจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้แข็งแรง และช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงช่วยให้นอนหลับสบายอีกด้วยนะคะ โดยการออกกำลังกายในช่วงแรก ลองเริ่มจาก วันละ 15 นาที ทำประมาณ 3 วัน ต่อสัปดาห์ ก่อน หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ปรับเพิ่มทีละน้อย
แนะนำการออกกำลังกายที่ไม่ได้ออกแรงมาก เช่น เดินเล่น ว่ายน้ำ ออกกำลังกายในน้ำ (Hydrotherapy) เดินหรือแอโรบิกในน้ำ (Aquatic Treadmill Exercise) ปั่นจักรยานแบบอยู่กับที่ หรือเล่นโยคะ ยืดกล้ามเนื้อท่าง่าย ๆ สำหรับคนตั้งครรภ์ รวมถึงฝึก Kegels ท่าออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นส่วนที่รองรับช่องคลอด ปากมดลูก กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ ช่วยทำให้การคลอดของคุณแม่ง่ายขึ้นด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นการออกกำลังกายในช่วงตั้งครรภ์โดยเฉพาะกับคุณแม่ที่ร่างกายไม่แข็งแรง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถทำได้มากแค่ไหน เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้น
3. ดูแลครรภ์ด้วยการแต่งตัวให้เข้ากับร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ช่วยให้คุณแม่สบายตัว
ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่ต้องดูแลครรภ์ด้วยการ ปรับการแต่งตัวเพื่อให้สบายต่อการเคลื่อนไหวร่างกายให้ได้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่
– ชุดชั้นใน เลือกแบบที่สามารถยืดขยายได้ เพราะขนาดหน้าอกจะขยายขึ้นตามอายุครรภ์ของคุณแม่
– เสื้อผ้าชุดหลวม ๆ มีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยาวคลุมสะโพก หรือชุดเดรสยาวที่โปร่ง สบาย หลีกเลี่ยงเสื้อผ้ารัดรูป
– รองเท้า เปลี่ยนขนาดให้ใหญ่กว่าเดิมเล็กน้อย มีความนุ่มพอดี ระบายอากาศ สวมใส่ง่าย มีน้ำหนักเบา พื้นรองเท้าแข็งแรง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
4. ดูแลครรภ์ พร้อมรับมือ ในช่วงก่อนคลอด
ในระหว่างการฝากครรภ์ แพทย์จะจัดวิตามินที่ประกอบไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นกับลูกให้คุณแม่ทานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ธาตุเหล็กและแคลเซียม เพราะได้รับจากสารอาหารอาจไม่เพียงพอ รวมถึงกลุ่มน้ำมันปลา หรือ DHA ทั้งหลายที่มีผลต่อพัฒนาการด้านสมองของลูกน้อย สำหรับคนที่ทานปลาเป็นประจำอยู่แล้วอาจไม่จำเป็นต้องทานวิตามินเสริมก็ได้
*หากทานน้ำมันปลาเสริมช่วงระหว่างตั้งครรภ์ ควรหยุดทานก่อนถึงกำหนดคลอดประมาณ 1 เดือน หรือในสัปดาห์ที่ 36 – 37 เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดแล้วฤทธิ์ของน้ำมันปลายังอยู่ เพราะอาจทำให้การแข็งตัวของเลือดไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้เสี่ยงต่อการคลอด
คอร์สอบรมคุณแม่ตั้งครรภ์ ก็เป็นอีกหนึ่งการดูแลครรภ์เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนคลอดลูก โดยเฉพาะกับคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ที่จำเป็นจะต้องมีความรู้เรื่องการคลอดและการดูแลทารกแรกเกิด รวมถึงเรื่องการเตรียมตัวในอีกหลาย ๆ ด้าน นอกจากนี้ยังช่วยคลายข้อสงสัยที่เป็นความกังวลให้คุณแม่ได้อีกด้วย *โดยทั่วไปแล้วคอร์สอบรมคุณแม่ตั้งครรภ์มีให้เข้าร่วมตามโรงพยาบาลชั้นนำ สามารถสอบถามจากโรงพยาบาลที่เราฝากครรภ์หรือเลือกคลอดได้เลย อาจมีค่าใช้จ่ายถ้าไม่ได้คลอดที่โรงพยาบาลนั้น
นอกจากการดูแลครรภ์ให้แข็งแรง สมบูรณ์แล้ว คุณแม่ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ที่อาจเจอได้เป็นเรื่องปกติ มาอ่านวิธีรับมืออย่างถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลถึงลูกกันก่อนดีกว่า วิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ฉบับคุณแม่ Working Mom
https://www.parents.com/pregnancy/
วิตามินคนท้อง – หมอวิบูลย์ กมลพรวิจิตร