Search
Close this search box.
ตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์

ตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์ป้องกันภาวะเสี่ยงในคนท้อง

เมื่อสามีภรรยาตกลงกันว่าจะมีเบบี๋ โมเมนต์แห่งความสุขและความหวังมักพ่วงมาด้วยความกังวลใจเสมอ เพราะก่อนวางแผนสร้างครอบครัว คู่รักส่วนใหญ่ละเลยการตรวจร่างกายเป็นประจำ ทำให้หลายคนไม่เคยทราบเลยว่าตัวเองป่วยเป็นโรคที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และคลายความกังวลใจซึ่งไม่ดีต่อร่างกายและจิตใจของว่าที่คุณแม่ ทั้งยังบั่นทอนความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ลง สิ่งแรกที่สามีภรรยาควรทำก่อนการเปิดอู่อย่างจริงจัง คือจูงมือกันไปปรึกษากุมารแพทย์และ ตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์’ จะได้รับมือกับความเสี่ยงจากโรคไม่คาดคิดได้อย่างถูกวิธี

5 ความเสี่ยงต้องตรวจ ก่อนวางแผนตั้งครรภ์

ตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์

ธาลัสซีเมีย

ธาลัสซีเมีย ( Thalassemia) หรือโรคเลือดจาง เป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรมที่พบได้มากในประเทศไทย เป็นโรคที่ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ สามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้ในกรณีที่พ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมียีนของโรคอยู่ในร่างกาย หรือมีทั้งคู่ เมื่อลูกคลอดออกมาอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคหรือเป็นพาหะ (มียีนของโรคแฝงแต่ไม่แสดงอาการ) ขึ้นอยู่กับยีนของพ่อและแม่ การจะทราบว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ต้องดูจากประวัติสุขภาพของคนในครอบครัวทั้งสองฝ่าย รวมถึงอาศัยการตรวจวินิจฉัยเลือดเพื่อวิเคราะห์ปริมาณฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเม็ดเลือดแดง หากเป็นโรคหรือเป็นพาหะจริงจะต้องตรวจหาชนิดของโรคต่อไป เพราะแต่ละชนิดมีความรุนแรงต่างกัน เมื่อถ่ายทอดสู่ลูกจะส่งผลให้เจ้าตัวเล็กมีการเจริญเติบโตช้า ตัวซีดหรือเหลือง เหนื่อยหอบง่าย ไม่แข็งแรง ตับและม้ามโต บางกรณีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกต้องรับคำปรึกษาจากผู้ที่มีความเข้าใจโรคเป็นอย่างดี เพื่อประเมินและหาแนวทางป้องกันความเสี่ยง

ตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์

หัดเยอรมัน

หัดเยอรมัน (Rubella) เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส และติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากเชื้อของโรคสะสมตัวอยู่ที่ลำคอ ว่าที่คุณแม่ที่ภูมิคุ้มกันต่ำจึงมีโอกาสได้รับเชื้อจากผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว หากตรวจพบโรคนี้แต่เนิ่นๆ จะสามารถป้องกันโรคได้ตั้งแต่ตอนยังไม่ตั้งครรภ์ ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่ามีภาวะเสี่ยงอยู่แล้ว ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์และฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน ก่อนที่จะเตรียมตัวตั้งครรภ์  ส่วนกรณีที่เพิ่งมาตรวจพบตอนตั้งครรภ์แล้ว กรมควบคุมโรคให้ข้อมูลว่าจะส่งผลกระทบต่อลูกน้อยมากเป็นพิเศษในช่วงอายุครรภ์ 3-4 เดือน โดยอาจทำให้ทารกพิการ หูหนวก ตาบอด หัวใจรั่ว และมีความผิดปกติทางสมองได้ถึงร้อยละ 25-40 ควรให้แพทย์เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด

ตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์

G6PD (จีซิกซ์พีดี)

G-6-PD Deficiency หรือภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD คือภาวะความผิดปกติที่ร่างกายมีระดับเอนไซม์ G6PD ต่ำกว่าคนปกติ โดยเอนไซม์ชนิดนี้มีความสำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานของน้ำตาลกลูโคส และช่วยป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายเพราะถูกสารอนุมูลอิสระทำลาย เด็กที่ป่วยด้วยภาวะนี้จะมีโลหิตจาง อ่อนเพลียง่าย และตัวซีดเหลืองในช่วงแรกเกิดกับตอนที่อาการของโรคกำเริบ ทั้งนี้ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมที่โครโมโซมเพศ ซึ่งทารกได้รับการถ่ายทอดจากแม่ ทำให้ลูกชายมีความเสี่ยงเป็นโรคร้อยละ 50 ส่วนลูกสาวมีความเสี่ยงเป็นพาหะร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ แต่หากแม่ทราบว่าตัวเองเป็นพาหะโรคแต่เนิ่นๆ จะได้วางแผนดูแลเจ้าตัวเล็กได้อย่างถูกวิธี

ตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

กลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ว่าที่คุณแม่ต้องรักษาก่อนเตรียมตัวตั้งครรภ์มีหลายโรค เช่น ซิฟิลิส, เริม, หนองใน และเอดส์ สามารถติดต่อได้ผ่านทางกระแสเลือด ผู้หญิงบางคนเป็นโรคชนิดนี้มาแต่กำเนิดแต่เป็นแบบแฝง ร่างกายจึงไม่แสดงอาการเจ็บป่วย ต้องผ่านการตรวจเลือดเท่านั้นจึงจะทราบความผิดปกติ ในขณะที่บางคนเพิ่งติดโรคมาจากสามี กรณีหลังนี้ควรจูงมือกันมารักษาทั้งสองคน หากผู้หญิงที่เป็นโรคเกิดตั้งครรภ์อาจส่งผลให้แท้งลูกหรือทารกเกิดมามีความผิดปกติที่กระดูก ระบบประสาท ตับ และม้ามไปจนถึงตอนโต นอกจากนี้โรคดังกล่าวยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสขณะคลอด (ทารกสัมผัสบาดแผลและเลือดของแม่) จึงต้องปรึกษากุมารแพทย์เรื่องวางแผนการคลอดอย่างเคร่งครัด

ตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์

ตรวจภายใน

ผู้หญิงส่วนใหญ่ละเลยการตรวจภายในเพราะเขินอายและกลัวเจ็บ แต่เมื่อต้องเตรียมพร้อมมีน้องก็ถึงเวลาที่ต้องสลัดอาการกลัวเหล่านั้นทิ้งไป เพราะการตรวจภายในนอกจากเป็นการตรวจดูความพร้อมของช่องคลอด มดลูก และรังไข่แล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะได้เช็กสุขภาพความแข็งของระบบสืบพันธุ์ไปในตัว หากพบโรคไม่พึงประสงค์จะได้รักษาและปรับแผนการมีครอบครัวให้เหมาะสม โดยกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามการตรวจส่วนนี้เลยคือคนที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภายในเป็นทุนเดิม เช่น คนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือคนที่ปวดท้องรุนแรงมากทุกครั้งที่มีประจำเดือน กรณีนี้อาจเสี่ยงเป็นเนื้องอกที่เยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งหากตรวจพบเร็วและรักษาได้ทันเวลา อาการป่วยอาจไม่ส่งผลกระทบกับการตั้งครรภ์รุนแรงอย่างที่คิด

ตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์

นอกเหนือจากโรคเสี่ยงและความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภายในที่กล่าวมา ยังมีบางโรคที่ส่งผลกระทบต่อตัวคุณแม่เองโดยตรงขณะอุ้มท้องหรือตอนคลอด เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจบางชนิด ซึ่งแพทย์อาจไม่แนะนำให้ตั้งครรภ์เลย หรือแนะนำให้ตั้งครรภ์ด้วยวิธีอื่นแทน จึงเป็นหน้าที่สำคัญของสามีภรรยาป้ายแดง ที่ต้องปรึกษาแพทย์และสังเกตร่างกายตัวเองอย่างละเอียด

SHARE

RELATED POSTS

พ่อแม่คนไหนเจอปัญหาลูกดิ้นขณะแปรงฟันต้องอ่าน Cotton Baby จะมาบอก…
ก่อนที่เจ้าหนูจะลืมตาดูโลก คุณพ่อคุณแม่รู้หรือยังว่าต้องจัดกระเป๋าเตรียมคลอดอย่างไร แล้วของใช้เตรียมคลอดไปโรงพยาบาลที่จำเป็นที่สุดมีอะไรบ้าง มาดูกัน…
สารอาหารสำหรับคนท้องที่คุณแม่ควรใส่ใจอย่างยิ่งคือสารอาหารสร้างเซลล์สมองลูก เพราะสมองเชื่อมโยงกับพัฒนาการทุกด้านของร่างกาย หากกลัวว่าลูกจะสมองช้า คุณแม่ควรทานสิ่งเหล่านี้…
คุณแม่คนไหนน้ำนมมาน้อย ต้องหันมาใส่ใจเรื่องอาหารสักหน่อยแล้ว โดยเฉพาะอาหารเพิ่มน้ำนมที่คุณแม่หลายคนต้องทานเพื่อให้มีน้ำนมมากขึ้น…
เคยสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างไหม ว่าทำไมพอไม่อยู่ไฟแล้วเราถึงหนาวง่ายกว่าปกติ หนาวสะท้านไปถึงทรวง สาเหตุคืออะไร…