คุณแม่ต้องรู้ ‘วิธีการนับอายุครรภ์’ เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
การนับอายุครรภ์ เป็นเรื่องที่คุณแม่จำเป็นต้องรู้ เพราะนอกจากจะช่วยให้ง่ายต่อการดูแลสุขภาพครรภ์ และรู้ถึงความสมบูรณ์ของพัฒนาการลูกน้อยในแต่ละช่วงอายุครรภ์ได้แล้ว ยังทำให้แพทย์สามารถวางแผนการตรวจครรภ์ และกำหนดวันคลอดคร่าว ๆ ได้อีกด้วย ที่สำคัญไปกว่านั้น หากคุณแม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อลูกน้อยก็จะช่วยให้หาทางป้องกันได้อย่างถูกต้อง ทันเวลา ตลอดระยะการตั้งครรภ์อีกด้วยนะคะ
รู้ถึงความสำคัญของการนับอายุครรภ์กันไปแล้ว ทาง Cotton Baby ก็จะมาไขข้อข้องใจให้คุณแม่กันค่ะว่า วิธีการนับอายุครรภ์ต้องนับอย่างไร รับรองว่านับไม่ยากแน่นอนค่ะ
ไขข้อข้องใจกับวิธีการนับอายุครรภ์
วิธีการนับอายุครรภ์ จะนับเป็นสัปดาห์ เพราะการนับแบบเป็นเดือนไม่ละเอียดมากพอ ซึ่งในแต่ละเดือนก็มีจำนวนวันไม่เท่ากัน ทำให้การนับเป็นสัปดาห์แม่นยำมากกว่า ส่วนเศษของสัปดาห์นั้นจะนับเป็นวัน เช่น 4 สัปดาห์ 2 วัน โดยเริ่มนับจากวันแรกของการเป็นประจำเดือนครั้งล่าสุด เช่น ประจำเดือนครั้งล่าสุดมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 และประจำเดือนหมดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 หลังจากนั้นประจำเดือนก็ไม่มา เพราะตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ดังนั้น การนับอายุครรภ์ก็จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 นั่นเอง
แต่ในกรณีของคุณแม่คนไหนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือจำไม่ได้ว่าประจำเดือนวันแรกของครั้งล่าสุดนั้นเป็นวันไหน ทางแพทย์ก็จะใช้วิธีการนับอายุครรภ์ด้วยการตรวจ Ultrasound เพื่อประเมินขนาดของถุงการตั้งครรภ์ (Gestational Sac) หรือความยาวทารก (Crown Rump Length) แล้วค่อยคำนวณอายุครรภ์ของคุณแม่ค่ะ
การนับอายุครรภ์คำนวณวันคลอด
โดยทั่วไปแล้วอายุครรภ์จนถึงวันคลอดจะอยู่ที่ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน (ไม่ใช่การคลอดก่อนกำหนด) ซึ่งหลังจากที่แพทย์รู้อายุครรภ์ของคุณแม่แล้วก็จะเริ่มคำนวณวันคลอด หรือที่เรียกว่า Expected date of delivery (EDD)
Expected date of delivery เป็นการนับอายุครรภ์เพื่อรู้วันคลอดคร่าว ๆ โดยเริ่มนับจากวันแรกของการเป็นประจำเดือนครั้งล่าสุด แล้วบวกไปอีก 7 วัน และนับต่อจากนั้นไปอีก 9 เดือน
ยกตัวอย่างต่อจากด้านบนเลยนะคะ คือ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 บวกไปอีก 7 วัน = 12 พฤศจิกายน 2563 และนับต่อไปอีก 9 เดือน ก็จะได้วันคลอดเป็นวันที่ 12 สิงหาคม 2564 นั่นเองค่ะ
อีกวิธีที่สามารถนับอายุครรภ์คำนวณวันคลอดได้ก็คือ การนับจากวันแรกของการเป็นประจำเดือนครั้งล่าสุด ย้อนหลังไป 3 เดือน และนับต่อไปอีก 7 วัน
เช่น วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ย้อนหลัง 3 เดือน คือ สิงหาคม บวกต่ออีก 7 วัน ก็จะได้วันคลอดเป็นวันที่ 12 สิงหาคม 2564
ความเชื่อเรื่องฤกษ์คลอด
เมื่อคุณแม่ใช้วิธีการนับอายุครรภ์จนรู้กำหนดวันคลอดแล้ว บ้างก็อาจจะกังวลเรื่องฤกษ์คลอดว่าอยากได้วันเวลาที่ดีให้กับลูก จนบางครั้งอาจลืมคิดถึงเรื่องของความปลอดภัยไป ซึ่งความจริงแล้ว คุณแม่ที่จะคลอดได้ตรงกำหนดมีเพียงแค่ 5 – 6 % เท่านั้น และในทางการแพทย์เองก็จะถือว่าการคลอดก่อนหรือหลังกำหนด 2 สัปดาห์ (ระหว่าง 38 สัปดาห์ – 42 สัปดาห์) ยังอยู่ในระยะคลอดครบกำหนดอยู่
ปัญหาก็มักจะเกิดขึ้นเมื่อฤกษ์คลอดที่ได้มานั้นต้องยืดอายุครรภ์ออกไปเกินกว่า 42 สัปดาห์ เพราะ หากเกินกว่า 42 สัปดาห์ไปแล้ว ลูกน้อยจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในครรภ์เพิ่มขึ้น เนื่องจาก รกจะเสื่อม ทำให้อาหารไปเลี้ยงร่างกายของลูกไม่พอ น้ำคร่ำแห้ง และเมื่อลูกถ่ายขี้เทา (อุจจาระของทารกในครรภ์) ออกมา เขาจะสำลักขี้เทาตัวเอง จนเกิดการขาดออกซิเจน ทำให้เสียชีวิตในครรภ์ นั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้น ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม เราก็ฟังหูไว้หูได้ แต่อย่าเพิ่งเชื่ออย่างเคร่งครัดจนทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตนะคะ
เห็นไหมคะว่าการนับอายุครรภ์มีความสำคัญแค่ไหน และเมื่อคุณแม่รู้อายุครรภ์ของตัวเองแล้วก็อย่าลืมดูแลสุขภาพครรภ์ตามที่แพทย์แนะนำนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลในเรื่องของโภชนาการที่จะต้องสมบูรณ์และเพียงพอ เพราะหลังจากนี้คุณแม่จะไม่ได้ทานคนเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องทานเผื่อไปถึงลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย และที่สำคัญ คุณแม่ยังต้องระวัง คลิก 9 ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อชีวิต