Search
Close this search box.
จ๊ะเอ๋

วิธีเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก เรียกเสียงหัวเราะ พร้อมช่วยเสริมพัฒนาการ

จ๊ะเอ๋ กิจกรรมที่ดูธรรมดา แต่แฝงไปด้วยประโยชน์สุดเหลือเชื่อ ซึ่งแม่ ๆ ทราบกันไหมคะว่าการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกเนี่ย ช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้หลายด้านมาก ๆ เลย ทั้งการสื่อสารระหว่างกันของเด็กและพ่อแม่ การยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ มองตา หรือขยับมือไม้ แขน-ขา ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการคงอยู่ของสิ่งของ ฝึกการจดจำข้อมูล รวมถึงการอดทน และสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย รู้แบบนี้แล้ว เราไปดูถึงข้อดีและวิธีการเล่นจ๊ะเอ่กับลูกเพื่อเสริมพัฒนาการกันเลยดีกว่าค่ะ

ข้อดีของการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก

ประโยชน์ของจ๊ะเอ๋

ประโยชน์ของการเล่นจ๊ะเอ๋ที่ลูกจะได้รับ

  • ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางการสื่อสารระหว่างกัน
  • ฝึกทักษะการสังเกตสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน
  • ช่วยให้เรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ
  • ฝึกการจดจำสิ่งต่าง ๆ
  • ทำให้รู้จักการรอคอย และความอดทน
  • สร้างสายสัมพันธ์ให้กับลูก

สิ่งที่พ่อแม่จะได้รับจากการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก

  • ได้สังเกตพัฒนาการของลูกในแต่ละด้านว่าเป็นอย่างไร ช้า/เร็วไปหรือไม่
  • ได้เห็นความชอบ หรือความถนัดของลูกจากการเล่นต่าง ๆ
  • เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความอบอุ่น และสานสัมพันธ์ในครอบครัว
  • ได้อีกหนึ่งกิจกรรมเล่นกับลูกที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ

ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นขณะที่เราเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก โผล่ตรงนี้บ้าง ตรงนั้นบ้าง จะช่วยให้สมองและพัฒนาการของเด็กในหลายด้านถูกกระตุ้น จนเด็กได้รับการฝึกทักษะรอบด้านผ่านการเล่นจ๊ะเอ๋นี้อย่างไม่รู้ตัว รวมถึง “ช่วงเวลาแห่งการเล่นกับลูก” ที่มีคุณภาพก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน พ่อแม่จะต้องวางแผนจัดการเวลาเพื่อเล่นกับลูกด้วยนะคะ ซึ่งช่วงเวลาเหล่านี้นี่แหละค่ะที่จะเป็นจุดเริ่มต้นและแรงผลักดันที่ช่วยให้ลูกมีทักษะที่จำเป็นในอนาคต มาค่ะเรามาดูวิธีเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกกันต่อเลย

5 วิธีเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก เรียกเสียงหัวเราะ พร้อมช่วยเสริมพัฒนาการ

เริ่มเล่นจ๊ะเอ๋ได้ เมื่อลูกรับรู้ถึงการมีอยู่ของวัตถุ
  1. เริ่มเล่นจ๊ะเอ๋ได้ เมื่อลูกรับรู้ถึงการมีอยู่ของวัตถุ

การเล่นจ๊ะเอ๋ให้ได้ประสิทธิภาพจะต้องเริ่มเล่นเมื่อลูกรับรู้ว่าวัตถุเหล่านั้นมีอยู่จริง แม้ว่าจะไม่สามารถมองเห็น ได้ยิน หรือรับรู้ได้ก็ตาม (Object permanence) แนะนำให้พ่อแม่เริ่มเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก โดยการให้ของเล่นชิ้นหนึ่งหายไปแล้วโผล่มาใหม่ได้ หรือเอาผ้ามาคลุมของเล่น เพื่อให้เด็กได้ค้นหา ซึ่งทักษะเหล่านี้ของเด็กมักอยู่ที่อายุประมาณ 6-8 เดือน เป็นต้นไปค่ะ สามารถเล่นจ๊ะเอ๋ได้จนถึงประมาณอายุ 2 ปี

อุ้ม กอด ให้ลูกชินก่อนเล่นจ๊ะเอ๋
  1. อุ้ม กอด ให้ลูกชินก่อนเล่นจ๊ะเอ๋

แม้เราจะเริ่มเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกตอนที่เขารับรู้ถึงการมีอยู่ของวัตถุแล้ว แต่บางทีลูกอาจจะยังไม่ชิน เพราะแม่เปรียบเสมือนวัตถุชิ้นแรกที่เขาได้สัมผัส เมื่อแม่หายไปจากสายตา สักพักก็จะกลับมา แต่ถ้าเล่นจ๊ะเอ๋ไปแล้วลูกตีมึน หรือร้องไห้ก็ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เขาแค่ยังไม่ชินเท่านั้นเองค่ะ ให้คุณแม่อุ้ม ยิ้มหรือเล่นกับลูกไปก่อนให้เกิดความชิน แล้วค่อยเล่นจ๊ะเอ๋ได้ค่ะ

จ๊ะเอ๋! เสียงจังหวะสั้น ๆ ที่เป็นเรื่องสนุก
  1. จ๊ะเอ๋! เสียงจังหวะสั้น ๆ ที่เป็นเรื่องสนุก

เพียงแค่พูดจังหวะสั้น ๆ ว่า จ๊ะเอ๋! ก็สร้างความสนุกสนานได้มากกว่าลากเสียงยาว ๆ จ๊าา เอ๋ แล้วล่ะค่ะ แล้วก็เรื่องความถี่ก็สำคัญเช่นกัน จ๊ะเอ๋ จ๊ะเอ๋ จ๊ะเอ๋ 3 ครั้งติดกัน เด็กจะหัวเราะหงายหลังไปเลย (แค่เปรียบเปรยนะคะ ไม่ได้หงายหลังจริง ๆ) ซึ่งนับเป็นการบริหารทั้งหูชั้นใน และปอดไปพร้อมกันอีกด้วย แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือในขณะที่แม่พูดจ๊ะเอ๋ ลูกจะมองริมฝีปากเราว่าทำปากแบบไหนถึงได้เสียงว่าจ๊ะเอ๋ เป็นการให้เด็กได้สังเกตว่าเมื่อคนเราขยับริมฝีปากแล้วจะเปล่งเสียงออกมาได้

4. เล่นจ๊ะเอ๋ เป็นความสมดุลระหว่าง ความแปลกใจและความคาดหวัง
  1. เล่นจ๊ะเอ๋ เป็นความสมดุลระหว่าง ความแปลกใจและความคาดหวัง

การเล่นจ๊ะเอ๋ทำให้เด็กเกิดความคาดหวังว่าเดี๋ยวจะต้องมีอะไรโผล่มาแน่เลย เมื่อโผล่ออกมาจริง ๆ เขาจะประหลาดใจว่าตัวเองได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ และเกิดเป็นเสียงหัวเราะ ซึ่งการหัวเราะนี่แหละค่ะที่เป็นทักษะการสื่อสารอันดับแรก ๆ เลย เด็กจะหัวเราะเพื่อเปิดช่องทางการสื่อสารให้พ่อแม่ได้ reaction นอกจากนี้เขายังจะได้เรียนรู้อีกว่าหัวเราะแล้วจะได้อะไร ถือเป็นหนึ่งในการเริ่มต้นสื่อสารเลยนะคะ

จ๊ะเอ๋ เอาไว้เล่นกับพ่อแม่เท่านั้น!
  1. จ๊ะเอ๋ เอาไว้เล่นกับพ่อแม่เท่านั้น!

เด็กจะมี Face recognition หรือระบบการรู้และจดจำใบหน้า ว่าใบหน้าแบบนี้ มีตา หู จมูก ปาก รูปร่างแบบนี้ และอยู่ในตำแหน่งตรงนี้ คือมนุษย์ ก่อนที่จะไปรู้จักใบหน้าของพ่อแม่ ทำให้การเล่นจ๊ะเอ๋ มีเอาไว้เล่นเฉพาะกับพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิดเท่านั้น หากเป็นคนแปลกหน้า เด็กอาจจะตกใจจนร้องไห้ได้นะคะ

ทีนี้พ่อแม่จะสงสัยกันใช่ไหมคะว่า…ทำไมเวลาพี่เลี้ยงเด็กเล่นจ๊ะเอ๋แล้วเด็กไม่ได้กลัว อาจเป็นเพราะการใช้ Ice breaking หรือการละลายพฤติกรรมนั่นเองค่ะ แต่ก็จะมีเด็กบางคนที่ยังกลัวอยู่นะ อาจจะต้องค่อย ๆ เข้าหา ให้เด็กเริ่มชินก่อน

เป็นยังไงกันบ้างคะกับการเล่นจ๊ะเอ๋ ไม่คิดว่าจะมีรายละเอียดขนาดนี้ใช่ไหมล่ะคะ แต่เชื่อเถอะว่าเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกเนี่ยมีแต่ได้กับได้ นอกจากนี้ถ้าคุณแม่กำลังมองหากิจกรรมครอบครัวอื่น ๆ อยู่ เรามี 7 กิจกรรมครอบครัว ปิดเทอมนานไม่น่าเบื่อ อยู่บ้านก็สนุกได้ มาฝากกันด้วยค่ะ

SHARE

RELATED POSTS

พ่อแม่ห้ามพลาด ‘Old Enough!’หนังเด็กสุดน่ารักที่สอดแทรกทริกเลี้ยงลูก ในช่วงวันหยุดนี้คุณพ่อคุณแม่ลองชวนลูก…
เผยวิธีห่อตัวทารกอย่างไรให้ลูกปลอดภัย สบายตัว พร้อมรับโลกใบใหม่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังข้องใจเกี่ยวกับวิธีห่อตัวทารกว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงให้ถูกต้องและปลอดภัย…
พ่อแม่ควรรู้ ปรอทวัดไข้สำหรับเด็กแบบไหนให้ผลลัพธ์แม่นยำสุด อุปกรณ์สำคัญที่พ่อแม่ควรมีติดบ้านเอาไว้อย่าง ปรอทวัดไข้…