ลูกพูดคำหยาบ พ่อแม่ต้องกำราบยังไงให้อยู่หมัด!
คุณพ่อคุณแม่มักเจอปัญหาลูกพูดคำหยาบ จนบางทีก็สงสัยว่า “เอ๊ะ! ติดมาจากใครเนี่ย ไม่เคยพูดคำนี้ให้ได้ยินนะ” แต่ก็นั่นแหละค่ะ เมื่อถึงวัยที่เขาเริ่มพูดเริ่มเรียนรู้ภาษา เด็กก็จะซึมซับจากสิ่งรอบตัว โดยที่ยังไม่รู้ว่าคำนั้นเป็นคำหยาบ และแปลว่าอะไร อาจจะเลียนแบบมาจากสื่อหรือติดมาจากเพื่อนที่โรงเรียน
ซึ่งเวลาที่ได้ยินลูกพูดคำหยาบ แต่ละบ้านก็มีวิธีรับมือที่แตกต่างกันไป มาดูกันว่าวิธีห้ามลูกพูดคำหยาบของคุณพ่อคุณแม่ทำเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือเปล่า?
ขู่ว่าจะตบปาก
วิธีเบสิกที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ใช้แก้ปัญหาลูกพูดคำหยาบคือการขู่ว่าจะตบปาก ยกตัวอย่างเช่น “ใครสั่งใครสอนให้พูดแบบนี้เนี่ยฮะ เดี๋ยวจะตบปากให้” ใช่ไหมคะ?
การขู่ว่าตบปาก เป็นวิธีที่ “ผิดค่ะ” บ้านไหนที่ยังสอนลูกโดยใช้วิธีนี้อยู่ เลิกเถอะค่ะ เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่าคุณมีปฏิกิริยาตอบโต้กับคำนี้ด้วยอารมณ์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าในอนาคตเขาจะนำคำนี้กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อเรียกร้องความสนใจ และเมื่อคุณรู้สึกไม่พอใจ เขาจะรู้สึกทันทีว่าตัวเองมีอำนาจ และจะใช้คำหยาบมาต่อสู้กับคุณเรื่อย ๆ ในเวลาที่เขาไม่พอใจอะไรบางอย่างเช่นเดียวกัน
6 วิธีสอนลูกให้ถูก กำราบลูกพูดคำหยาบได้แน่นอน
1.หมั่นเช็กสื่อที่ลูกดู
สื่อนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้ลูกหัดพูดคำหยาบได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรเช็กสื่อที่ลูกดูให้ดี ๆ ควรเลือกรายการที่เหมาะกับเด็ก งดรายการตลก ๆ ละคร หรือซีรีส์บางเรื่องของผู้ใหญ่ เพราะอาจจะมีคำหยาบแทรกอยู่ รวมถึงวิดีโอแคสต์เกมที่มักจะมีคำสบถอีกด้วยนะ
2. ชัดเจนว่าคำนี้ไม่โอเคกับบ้านเรา
เมื่อลูกติดคำหยาบมาจากเพื่อนที่โรงเรียน เห็นเพื่อนพูดคำหยาบได้ เขาจึงคิดว่าทำไมตัวเขาเองจะพูดบ้างไม่ได้ ถ้าเจอแบบนี้พ่อแม่ต้องพูดให้ชัดเจนเลยว่าคำนี้ไม่โอเคกับบ้านของเรามาก ๆ ถึงแม้ว่าลูกบ้านอื่นจะสามารถพูดได้ก็ตาม
3. เดินออกไปเงียบ ๆ
เมื่อคุณได้ยินลูกพูดคำหยาบ ให้เดินหันหลังให้อย่างเงียบ ๆ โดยไม่ต้องพูดอะไร เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่ควรที่จะได้รับความเคารพและเลือกที่จะไม่ฟังคำพูดไม่ดี
วิธีนี้ใช้ได้กับเด็กที่พอรู้เรื่องแล้ว ถ้าเป็นเด็กที่เพิ่งเรียนรู้การพูด ดูท่าแล้วอาจจะไม่เข้าใจความหมายนี้ เราต้องสอนว่าคำนี้ไม่ดีนะลูก แต่ไม่ควรไปดุหรือลงโทษ ถ้าเป็นไปได้มีคำที่สุภาพกว่าแทน เช่น คำว่า “ตีน” ให้เรียก “เท้า” บางคำอาจจะไม่ได้หยาบเสียทีเดียว แต่ก็ควรบอกให้ลูกรู้ว่าควรจะใช้แบบนี้ เช่น คำว่า “ปวดเยี่ยว” ให้พูดว่า “ปวดฉี่”
4. ขวดโหลใส่คำหยาบ
เมื่อลูกของเราพูดคำหยาบ พ่อแม่ควรหาขวดหรือโหลไว้สักหนึ่งใบ เอาไว้ให้เขาหยอดเงินเวลาที่พูดไม่เพราะ วิธีนี้จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อลูกของเรามีเงินอยู่แล้ว (อาจจะได้มาจากญาติ ๆ หรือพ่อแม่ให้) เพื่อให้เขารู้ว่าเมื่อไรที่เขาพูดคำหยาบ มันจะกระทบกับการเงินของเขา และเงินในขวดนี้ก็จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน
ไม่ควรบอกว่าเอาไปทำบุญหรือไปเที่ยว เพราะมันจะเป็นการเสริมแรงให้เขาพูดคำหยาบมากขึ้น เผลอ ๆ อาจคิดว่าเราช่วยคนอื่นหรือมีเงินไปเที่ยวด้วยการพูดคำหยาบแทน
5. เช็กตัวเองว่าหลุดพูดคำหยาบไหม
ก่อนที่จะห้ามให้ลูกพูดคำหยาบ พ่อแม่ต้องคอยสังเกตตัวเองว่าเราแอบเผลอพูดคำหยาบไปตอนไหนหรือเปล่า เพราะบางทีเด็กอาจจำมาจากพ่อแม่ ที่สำคัญต้องไม่ทำให้เขารู้สึกว่า “ทำไมพ่อกับแม่พูดได้ แล้วทำไมหนูจะพูดไม่ได้” ดังนั้น ต้องระมัดระวังคำพูดให้ดี ตกใจอะไรก็สบถคำว่า “คุณพระ” ไว้ก่อนก็แล้วกัน
6. อย่าให้ลูกสัญญาว่าจะไม่พูดอีก
การให้ลูกสัญญาว่าจะไม่ให้ลูกพูดคำหยาบอีก จะยิ่งทำให้เขาเพิ่มความสนใจกับคำนั้นมากขึ้น และจะจดจำไปเรื่อย ๆ เพราะดูเหมือนว่าแม่จะห้ามไม่ให้หนูพูดคำนี้เหลือเกิน ลองปล่อยผ่านไปก่อน ทำเหมือนไม่ได้ยิน แล้วถ้าเขาโตขึ้นยังมีการพูดคำหยาบอีก ค่อยนำวิธีข้อ 2, 3, หรือ 4 มาใช้
การทำให้ลูกหยุดพูดคำหยาบอาจเป็นสิ่งที่ควบคุมยากหน่อยนะคะ แต่ถ้าลองใช้วิธีตามที่ Cotton Baby บอกก็จะช่วยให้ลูกของเราเรียนรู้ว่าคำไหนควรหรือไม่ควรพูด และพ่อแม่ก็เตรียมทำใจไว้ล่วงหน้าเลย เพราะอย่างไรแล้วเมื่อเขาโตขึ้น สังคมก็จะทำให้เขาเลือกเองว่าจะพูดคำหยาบหรือไม่ แล้วพูดกับใคร