คู่มือดูแลความสะอาดหูลูกน้อยแบบมืออาชีพ
สะอาดดี ไม่มีเจ็บเลย
หูของลูกน้อยเป็นจุดบอบบางที่พ่อแม่ละเลยการดูแลทำความสะอาดไปไม่ได้ เพราะเป็นจุดที่เชื่อมโยงกับพัฒนาการของอวัยวะอื่นๆ มากมาย ทั้งนี้การใส่ใจดูแลไม่ได้ความว่าต้องแคะ หรือกำจัดขี้หูเสมอไป เนื่องจากในความเป็นจริงแพทย์ได้ลงความเห็นว่า รูหูของคนเรามีกลไกทำความสะอาดตัวเอง ส่วนขี้หูนั้นก็มีประโยชน์ไม่น้อย ทั้งช่วยเคลือบช่องหู มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังป้องกันแมลง มด หรือสัตว์ตัวเล็กๆ ไต่เข้าไปก่อกวนใจและสร้างความเจ็บปวดให้ลูกได้ หากไม่มีขี้หูเอาเสียเลย ในรูหูของน้องจะไม่มีความชุ่มชื้น แห้ง และเกิดความระคายเคืองง่าย ที่สำคัญการแคะ เช็ด และปั่นหูยังอาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา เปลี่ยนมาใช้วิธี ‘ดูแลความสะอาดหูลูกน้อย’ อย่างถูกวิธี ด้วยเทคนิคต่อไปนี้ดีกว่า
เช็ดทำความสะอาดเฉพาะใบหูก็เพียงพอ
เด็กเล็กจะมีรูหูที่ตื้นและแคบมาก พ่อแม่ไม่ควรใช้คอตตอนบัดแหย่เข้าไปปั่นทำความสะอาดโดยเด็ดขาด แม้จะใช้คอตตอนบัดไซซ์เล็กก็ตาม เพราะเป็นการดันขี้หูเข้าไปให้ลึกยิ่งกว่าเดิม ก่อให้เกิดอาการขี้หูอุดตันตามมา รวมถึงไม่ควรใช้ไม้แคะหูแหย่เข้าไปแคะหรือเขี่ยขี้หูให้ลูก เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้มีความแหลมคม อาจบาดผิวลูกจนเกิดบาดแผลและติดเชื้อได้ วิธีทำความสะอาดที่ถูกต้องคือ ใช้ผ้าขนหนูนุ่มๆ สำลี หรือคอตตอนบัดหัวโต เช็ดทำความสะอาดคราบไขมันและสารคัดหลั่งที่เกาะตามใบหูด้านนอกและหลังใบหูก็เพียงพอ โดยเช็ดหลังอาบน้ำให้ลูกเสร็จก็ได้ เพราะเป็นช่วงที่คราบไขมันอ่อนตัวลงแล้ว ส่วนขี้หูในรูหูนั้นเมื่อแห้งตกสะเก็ดแล้ว จะกลิ้งหลุดออกมาได้เองเวลาลูกน้อยพลิกตัวไปมา
ใช้ออยล์หรือน้ำต้มสุกช่วยเช็ดทำความสะอาด
หากอยากให้เช็ดทำความสะอาดใบหูเล็กๆ ของหนูน้อยได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องออกแรงให้ลูกเจ็บ พ่อแม่สามารถใช้เบบี้ออยล์หรือน้ำอุ่น เป็นตัวช่วยละลายคราบไขมันและขี้ไคลที่เกาะตามผิวน้องได้ โดยนำจุ่มมุมผ้าขนหนู สำลี หรือคอตตอนบัดหัวโต ลงในเบบี้ออยล์หรือน้ำอุ่นพอหมาด นำมาถูเบาๆ ที่ใบหูและหลังใบหูลูก จากนั้นใช้ผ้าหรือสำลีที่ยังสะอาดเช็ดคราบสกปรกและความมันออกอีกรอบ เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ทั้งนี้มีข้อควรระวังด้วยคือ ห้ามใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อโรคที่หูลูกเป็นอันขาด เพราะเป็นสารที่มีฤทธิ์แรง ไม่เหมาะกับผิวบอบบางของเด็ก เมื่อเช็ดแอลกอฮอล์แล้วผิวของลูกจะยิ่งแห้งตึง แสบ และระคายเคือง
ใช้สำลีอุดหูหรือสวมหมวกกันน้ำเวลาอาบน้ำ
สำหรับเด็กเล็กที่ยังคอไม่แข็งหรือนั่งไม่ได้ พ่อแม่ต้องระวังเป็นพิเศษเวลาอาบน้ำให้ลูก โดยเฉพาะวันที่ต้องสระผม เพราะน้ำอาจไหลเข้าหูของน้องได้โดยง่าย และก่อให้เกิดอาการแก้วหูอักเสบตามมา โดยวิธีสังเกตเมื่อมีน้ำเข้าหูลูก ดูได้จากการที่เจ้าตัวเล็กมีอาการงอแงเหมือนไม่สบายตัว และใช้มือปัดป้องไปมาที่ข้างหู ให้คาดเดาไว้ก่อนเลยว่าอาจมีน้ำหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าหูลูก ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหูลูกเวลาอาบน้ำ พ่อแม่อาจใช้วิธีปั้นสำลีเป็นก้อนเท่าหัวแม่มือนำมาอุดหูลูกไว้ หรือจะสวมหมวกโฟมสำหรับกันน้ำเข้าตาและหูเด็กก็ช่วยได้ แต่ควรเลือกไซซ์ที่พอดี ไม่คับหรือหลวมเกินไป
น้ำเข้าหูให้ใช้วิธีนอนตะแคงให้น้ำไหลออก
เหตุการณ์น้ำเข้าหูลูก อาจเกิดได้จากหลายกรณีไม่เพียงเฉพาะการอาบน้ำและสระผมเท่านั้น แต่อาจเกิดจากการที่เจ้าตัวเล็กเล่นน้ำหรือว่ายน้ำในสระ แล้วพลิกตัวผิดท่าก็เป็นได้ วิธีการเอาน้ำออกจากหูไม่ใช่การนำคอตตอนบัดแหย่เข้าไปในรูหู เพื่อปั่นและซับน้ำออก หรือการหยอดน้ำเข้าไปเพิ่มแต่อย่างใด เพราะจะทำให้น้ำที่ค้างในรูหูถูกดันเข้าไปลึกยิ่งกว่าเดิม แต่วิธีที่ถูกต้องคือ จัดท่าทางให้ลูกตะแคงหัวขนานกับพื้นราบสักพัก แล้วปล่อยน้ำไหลออกมาเอง นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีตะแคงหัวให้ขนานกับพื้น แล้วแนบมือปิดใบหูให้สนิทจนเกิดแรงดัน ก่อนค่อยๆ ปล่อยมือออก เพื่อให้น้ำอุ่นๆ ไหลออกมาเองก็ได้เช่นกัน
ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดังนานๆ
แก้วหูเป็นส่วนที่บอบบางมาก ยิ่งกับเด็กซึ่งไม่รู้จักวิธีหลีกเลี่ยงเสียงที่ดังเกินขีดจำกัดที่ตัวเองจะรับไหวด้วยแล้ว ยิ่งเสี่ยงทำให้แก้วหูของน้องได้รับอันตราย ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเลี่ยงการเปิดเครื่องเสียงดังๆ หรือเปิดลำโพงที่มีเสียงเบสหนักๆ ในระยะใกล้ ตลอดจนเลี่ยงการสวมหูฟังให้ลูก เพราะเด็กอาจเกิดอาการหูอื้อ หูดับ และผวาเสียงดังตามมา นอกจากนี้ ยังควรใช้โทนเสียงปกติเวลาพูดคุยกับเจ้าตัวเล็ก อย่าพูดเสียงดังหรือตะคอกใกล้หูเขาเป็นอันขาด
รู้เทคนิคการดูแลหูให้หนูๆ กันแล้ว ต่อไปอย่าใช้วิธีผิดๆ ในการทำความสะอาดหูให้หนูอีกนะพ่อแม่ เพราะเวลาหนูเจ็บ หนูไม่รู้จะบอกแม่อย่างไรเลย