สิ่งที่พ่อแม่ควรเข้าใจ
ถ้าอยากให้ลูกเรียนเก่งตั้งแต่ 2 ขวบ
วันที่เราเริ่มเป็นพ่อแม่ เราคาดหวังว่าจะต้องเลี้ยงลูกให้ดี ให้เขาได้กินแต่ของที่มีประโยชน์ เข้าโรงเรียนดี ๆ เพื่อที่เขาจะได้เป็นเด็กที่เก่ง สังเกตว่าพ่อแม่สมัยนี้มักจะให้ลูกเข้าเรียนตั้งแต่ลูกยังไม่ถึงสามขวบ โดยลืมไปว่าเด็กไม่ได้มีพัฒนาการที่เท่ากันหมดทุกคน บางคนก็ช้า บางคนเร็วมาก แต่พ่อแม่กลับเร่งให้ลูกตัวเองท่อง ก-ฮ, A-Z หรือบวกลบเลข พอท่องผิดก็กลัวอีกว่าลูกเราจะเรียนไม่เก่งหรือเปล่า จะทันเพื่อนไหม แต่หารู้ไม่ว่าการให้ลูกทำแบบนี้มันเร็วเกินไปสำหรับเด็กวัยก่อน 3 ขวบ เพราะอาจทำให้เขารู้สึกกดดันจนไม่อยากจะเรียนรู้อะไรเพิ่ม และรู้สึกเหนื่อยที่ต้องทำอะไรให้ถูกตามที่พ่อแม่สั่งทุกครั้ง แต่เข้าใจว่าพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเรียนเก่งจริง ๆ เพราะฉะนั้น ควรที่จะเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของวัยพวกเขาก่อน เพื่อให้เราสามารถปฏิบัติต่อเขาได้อย่างพอดีและเหมาะสม
เข้าใจพฤติกรรมของเด็กวัย 2-6 ขวบ
คิดย้อนกลับไม่ได้
พ่อแม่หลายคนเชื่อว่าช่วงวัยนี้เป็นวัยสำคัญที่สุดที่เด็กจะเรียนรู้ได้ไว จึงพยายามที่จะยัดเยียดความรู้เพื่อให้เด็กจำ ด้วยการหาโน่นหานี่มาสอน เพราะกลัวว่าลูกของเราจะเรียนรู้ช้ากว่าคนอื่น แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจในช่วงวัยนี้คือ พวกเขาไม่สามารถคิดย้อนกลับได้ เช่น ถามว่า “1+2 = เท่าไร” เด็กจะตอบ 3 แต่ถ้าถามย้อนกลับว่า “แล้ว 2 + 1 = เท่าไร” เด็กจะตอบไม่ได้ เพราะเด็กจำที่เราบอกแค่ว่า 1+2 = 3 แต่ 2+1 ไม่ได้บอกว่ามีคำตอบเท่าไร เพราะฉะนั้นอย่ากังวลที่ลูกของเราตอบผิดหรือตอบไม่ได้
อีโก้สูง + จินตนาการเป็นเลิศ
ในช่วง 2-5 ขวบ เด็กจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกและถือความคิดตัวเองเป็นใหญ่ เชื่อตามสิ่งที่เห็น แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ถูกต้องก็ตาม ซึ่งพ่อแม่หลายคนมักจะแก้ไขให้ลูกคิดถูกต้องอยู่เสมอ เขาจะเชื่ออีกว่าทุกสิ่งบนโลกที่เคลื่อนไหวได้มีชีวิต เช่น ตอนเช้าพระอาทิตย์จะตื่น ตอนเย็นพระอาทิตย์จะกลับบ้าน แต่พ่อแม่ที่อยากให้ลูกคิดถูกก็มักจะบอกว่ามันไม่ใช่ พระอาทิตย์ไม่ได้ไปไหน โลกเราหมุนต่างหาก ซึ่งเด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจ และนี่แหละคือการขัดขวางความคิดและจินตนาการของเด็ก ส่งผลให้พวกเขามีพัฒนาการที่ช้าลง เพราะเวลาคิดอะไรก็จะสะดุดด้วยสิ่งที่พ่อแม่บอกตลอด ทางที่ดีควรปล่อยให้เขาคิดไปตามที่เขาเชื่อ
ไม่เข้าใจว่าอะไรมากกว่า อะไรน้อยกว่า
การรับรู้อีกอย่างหนึ่งของเด็กในช่วงวัยนี้คือเชื่อเรื่องการทรงภาวะเดิมของวัตถุ เช่น วางเหรียญจำนวนเท่ากัน กลุ่มหนึ่งวางเป็นกระจุก อีกกลุ่มวางกระจาย เด็กจะบอกว่าอันที่วางกระจายมีมากกว่า หรือแม้แต่น้ำที่มีปริมาตรเท่ากัน อันนึงใส่ขวดยาว อันนึงใส่ขวดสั้น เด็กก็จะบอกว่าขวดที่ยาวมีน้ำมากกว่า ซึ่งนี่คือเรื่องปกติของเด็กในวัยนี้ที่ยังไม่สามารถเปรียบเทียบตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรีบให้เขาเรียนรู้ว่าอันไหนมาก อันไหนน้อย เพราะเด็กวัยนี้ยังเทียบอะไรเป็นภาพตามที่เห็นอยู่ ควรรอให้ถึงจังหวะที่สมองของเขาพัฒนาและสามารถเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้เอง
เมื่อเรารู้และเข้าใจพัฒนาการของแต่ละช่วงวัยของลูก ๆ แล้ว ควรปล่อยให้พวกเขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง และอย่าเร่งรัดให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกินกว่าวัย เพราะการรู้คิดของพวกเขาคิดได้เท่าที่ร่างกายบอกให้คิด การแก้ไขให้เด็กคิดถูกตลอดอาจทำให้เด็กสูญเสียจินตนาการ ไม่กล้าลองผิดลองถูก และเมื่อโตขึ้นเขาจะไม่กล้าเสี่ยงอะไรเลย เพราะกลัวจะผิด ดังนั้น ควรปล่อยให้เด็กเติบโตไปตามช่วงวัย เพราะถึงเวลาพวกเขาจะสามารถเรียนรู้ได้เอง