5 วิธีดูแล ‘สะดือจุ่น’ ภาวะปกติของลูกน้อยที่พ่อแม่มักกังวล
หนึ่งในภาวะทั่วไปที่เด็กแรกเกิดมีโอกาสเป็นได้ก็คือ สะดือจุ่น อาการที่พ่อแม่หลายคนยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกที่ตรงบริเวณสะดือกันแน่ ถึงได้โป่งพองจนดูน่ากลัวแบบนี้ มันจะเป็นอันตรายต่อลูกเราหรือเปล่านะ? ควรพาไปพบหมอดีไหม หรือจริง ๆ แล้วรอให้มันหายไปเองก็ได้ วันนี้ทาง Cotton Baby มีคำตอบเกี่ยวกับสะดือจุ่นมาคลายทุกข้อสงสัยให้แล้วค่ะ
มาทำความรู้จัก ‘สะดือจุ่น’ ว่าคืออะไร ?
สะดือจุ่น (Umbilical Hernia) คือ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อลำไส้บางส่วนเคลื่อนตัวออกมาอยู่ที่สะดือ เลยทำให้สะดือนั้นยื่นหรือบวมออกมา หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ไส้เลื่อนที่สะดือ อาการสะดือจุ่นนี้สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด โดยภาวะสะดือจุ่นอาจมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเด็กร้องไห้ หัวเราะ ไอ หรือขับถ่ายนั่นเอง ซึ่งสามารถหดตัวลงได้เมื่ออยู่ในสภาวะที่ผ่อนคลายหรือนอนลง
ลูกสะดือจุ่นจะเป็นอันตรายมั้ย ?
คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะคะ เพราะเป็นภาวะที่สามารถหายเองได้ตามธรรมชาติ แต่ถ้าหากมีอาการแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอทันที
วิธีสังเกตภาวะแทรกซ้อนของสะดือจุ่น
- บวม
- ปวดท้อง
- มีน้ำสีเหลืองหรือเขียวหยดออกจากสะดือ
- มีเลือดออกซิบ ๆ
- คลื่นไส้อาเจียน
- กดเจ็บบริเวณสะดือจุ่น
ถ้าสะดือจุ่นไม่หายเอง เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปหาหมอ?
คุณแม่หลายคนอาจจะเคยได้ยินความเชื่อโบราณที่ว่า ใช้เหรียญปิดสะดือไว้จะรักษาสะดือจุ่นได้ แต่ความจริงแล้วการทำแบบนี้ไม่ได้ทำให้ภาวะนี้หายไปได้หรอกนะ แต่ที่อาการดีขึ้นเป็นเพราะภาวะสะดือจุ่นสามารถหายได้เองอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะหายเองตามธรรมชาติก่อนอายุประมาณ 2 – 3 ปี แต่ถ้าคุณแม่เห็นว่าลูกยังมีอาการสะดือจุ่นอยู่หลังจากอายุ 2 ปีไปแล้ว และก้อนที่สะดือมีอาการเจ็บ ตึง บวมหรือแดง รวมถึงอาเจียน แบบนี้อย่ามองข้ามนะคะ ควรพาไปพบหมอโดยเร็ว
วิธีทําความสะอาดสะดือทารก
แม้สะดือจะเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่และลูกน้อยแต่หลังคลอดแล้วก็หมดความหมาย และสิ่งที่ต้องดูแลต่อไปก็คือการทำความสะอาดสะดือจุ่น ๆ นี้เป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้สะดือของลูกติดเชื้อ มาดูกันว่าวิธีดูแลสะดือของลูกน้อยให้สะอาดต้องทำอะไรบ้าง
วิธีดูแลทำความสะอาดสะดือทารก
โดยปกติหลังจากที่คุณแม่คลอดน้องแล้วทางโรงพยาบาลจะจัดสำลีและแอลกอฮอล์ 70% มาให้ก่อนกลับบ้านอยู่แล้ว โดยสิ่งที่จะต้องทำหลังจากนี้ก็คือการดูแลสะดือทารกแรกเกิดด้วยวิธีเช็ดสะดือที่ถูกต้อง
- เตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ให้พร้อม ได้แก่ คอตตอนบัดหรือสำลี, แอลกอลฮอล์ 70% หรือน้ำสะอาด และที่สำคัญต้องล้างมือให้สะอาดก่อนเช็ดสะดือให้ลูกนะคะ
- เทน้ำยาให้พอชุ่ม ใช้มือจับปลายสะดือลูกแล้วเช็ดบริเวณโคนสะดือจนถึงปลายด้านหน้าและด้านหลังให้สะอาด ถ้าเจอเศษเนื้อเยื่อรอบสะดือลูกไม่ต้องตกใจไปนะคะ เพราะอาจยังติดอยู่ได้ แค่เช็ดให้สะอาดก็พอค่ะ
- ใช้สำลีเช็ดวนรอบสะดือ ไล่จากบริเวณโคนสะดือ ไปยังผิวหนังรอบ ๆ สะดือจากด้านในออกมาด้านนอก ไม่ควรเช็ดย้อนไปย้อนมา ให้เช็ดทีเดียวไปเลย หากยังไม่สะอาดค่อยเปลี่ยนสำลีใหม่มาเช็ดอีกรอบแทน
- *หลังเช็ดสะดือแล้ว ควรปล่อยให้แห้งทุกครั้ง ห้ามใช้แป้งหรือยาโรยสะดือทุกชนิด ทำให้สะดือดูเหมือนแห้งดี แต่ส่วนรอยต่อระหว่างสะดือกับผิวหนังหน้าท้องยังแฉะอยู่จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้
- *ใส่ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าให้ต่ำกว่าสะดือของลูก ไม่ควรให้มีอะไรมาทับบริเวณสะดือ เพราะถ้าสะดือไม่แห้งและอับชื้น จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและติดเชื้อได้ง่าย
คุณแม่สบายใจได้แล้วนะคะว่าภาวะสะดือจุ่นของลูกน้อยนั้นสามารถหายเองได้ตามธรรมชาติ แต่ก็อย่าลืมเฝ้าระวังและดูแล เช็ดสะดือลูกให้สะอาดอยู่เสมอ สุดท้ายแล้วหากลูกมีอาการที่ดูไม่ปกติหรืออาการแทรกซ้อนแนะนำให้พาไปพบหมอที่ดีที่สุดนะคะ
ถ้าอยากเข้าใจลูกน้อยมากขึ้นในช่วงที่ยังพูดไม่ได้ ลองแปลจากท่าทางของลูกที่แสดงออกมาดูสิคะ คลิก ถอดรหัสลับ ‘ภาษากายทารก’ ท่าทางแบบนี้หมายความว่าอะไร?