ลูกก้าวร้าว

ขึ้นวัย 12 ขวบ ทำไมลูกก้าวร้าวขึ้น?

รับมือได้ไม่ยากอย่างที่คิด

พอใกล้จะถึงช่วงวัยรุ่น พ่อแม่อาจจะต้องเจอกับพฤติกรรมที่ลูกก้าวร้าวขึ้น ทั้งที่ตั้งแต่เลี้ยงมาก็ไม่เคยเจอลูกเป็นแบบนี้มาก่อน เชื่อฟังไม่เคยเถียง ทำไมตอนนี้ถึงเป็นแบบนี้ อย่าเพิ่งตกใจ หรือรีบคิดไปไกลว่านี่ฉันเลี้ยงลูกผิดพลาดอะไรตรงไหน แต่ให้ลองมาทำความเข้าใจในนิสัยของลูก เมื่อถึงช่วงใกล้จะเข้าสู่วัยรุ่นก่อน แล้วค่อยปรับ ค่อยแก้ไขในวิธีที่ถูกต้อง

วันนี้ Cotton Baby จะมาบอกเหตุผลให้ฟังว่าทำไมลูกก้าวร้าวแบบนั้น ทำไมลูกดื้อ ทำไมลูกเถียงเก่งขึ้น พร้อมกับวิธีรับมือที่ถูกต้อง ตามไปอ่านต่อกันเลย

ลูกก้าวร้าว

เข้าวัย 12 ขวบ เหตุผลที่ลูกก้าวร้าว

ความจริงแล้วการที่ลูกก้าวร้าวนั้นไม่ใช่เพราะพ่อแม่เลี้ยงไม่ดี แต่มาจากพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กที่สามารถคิดอะไรเองได้แล้ว เริ่มประมวลทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล เมื่อก่อนอาจว่านอนสอนง่าย บอกอะไรก็เชื่อ นั่นเป็นเพราะว่าลูกยังคิดอะไรที่ลึกซึ่งเป็นนามธรรมไม่ได้ ถึงทำตามที่พ่อแม่คอยบอก เมื่อมาถึงช่วงที่สมองเติบโตเต็มที่ บวกกับฮอร์โมนที่เนให้เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อารมณ์และความคิดของเขาเลยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เรียกว่าการเข้าสู่ภาวะ Egocentrism” หรือง่าย ๆ ว่ามีอีโก้สูงนั่นเอง รับรู้ว่าตัวเองกำลังจะก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีความเชื่อและสนใจของตัวเอง และยังมีความเป็นที่หนึ่งไม่เหมือนใคร คงไม่มีใครเข้าใจตัวเองเหมือนวัยเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความคิดเพ้อฝันจึงไม่แปลกที่ลูกอยากทำอะไรตามใจตัวเอง

เช่น อยากเป็น Gamer ที่เก่งที่สุด แต่พ่อแม่บอกว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง (ลึก ๆ อยากให้ลูกตั้งใจเรียน ไม่อยากให้ลูกเอาเวลาไปเล่นเกม) พอเห็นพ่อแม่ไม่สนับสนุน เขาก็จะเริ่มต่อต้านและคิดว่าไม่มีใครเข้าใจเขาเลย เจอบ่อยเข้าสลักระเบิดเลยหลุด ตู้มมมม !

ลูก : “แม่ไม่เข้าใจผมอะ เอาแต่สั่งให้ทำนั่นทำนี่ เคยถามไหมว่าอยากทำรึเปล่า ไอ้โน่นก็ขัด ไอ้นี่ก็ไม่ได้” แม่ : “ถ้ารู้ว่าโตมาแล้วก้าวร้าว เถียงเก่งแบบนี้ น่าจะเอาขี้เถ้ายัดปากแต่เด็กให้ไม่ต้องโตเลย”

แม่ : “ใส่ชุดอะไร ไปเปลี่ยน” ลูก : “หนูโตแล้ว หนูจะแต่งอะไรก็ได้ แม่ไม่ต้องมาสั่ง ชุดแบบนี้ใคร ๆ เขาก็ใส่กัน ให้ใส่เชย ๆ แบบแม่ หนูไม่เอาหรอก”

เคยเจอสถานการณ์แบบนี้หรือยัง? ถ้าเจอแล้ว…คุณสงสัยไหมว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงก้าวร้าวกว่าแต่ก่อน สมัยเราเป็นเด็ก เราก็ไม่ใช่ลูกก้าวร้าว ไม่กล้าแม้แต่จะเถียงสักคำ ผู้ใหญ่พูดอะไรต้องฟัง เด็กสมัยนี้เป็นอะไรกันไปหมด พูดยาก เอาแต่ใจ ไม่พอใจก็ปึงปังใส่

ลูกก้าวร้าว

ยุคที่โซเชียลมีอิทธิพลมากกว่าพ่อแม่

ต้องยอมรับว่าสมัยนี้สื่อโซเชียลมีอิทธิพลกับคนมาก ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นตัวการที่ทำให้ลูกก้าวร้าวโดยตรงหรอกนะ (เดี๋ยวจะคิดว่าเป็นเพราะเล่นโซเชียล เลยเป็นเด็กก้าวร้าว) เราแค่จะสื่อว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้เรียนรู้แค่จากบ้านและโรงเรียนอย่างเดียว

แต่พวกเขาเรียนรู้สื่ออื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ผ่านละคร ซีรีส์ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่พ่อแม่แต่เข้าใจเขามากกว่าจากวิดีโอใน YouTube, Facebook รวมถึงพฤติกรรมคนรอบข้างด้วย ซึ่งสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เด็กเลียนแบบได้ง่าย แต่ก็ใช่ว่าที่ลูกก้าวร้าวจะไม่มีเหตุผลเสียทีเดียว อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าลูกสามารถคิดอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลได้แล้ว

เคยเห็นละครที่ลูกเถียงพ่อแม่ไหมล่ะ ถ้าดูจริง ๆ แล้วเราจะรู้ว่าเขาไม่ได้เป็นเด็กก้าวร้าว ซึ่งละครก็เผยให้เห็นมุมมองของลูกว่าเขาแค่อยากแต่งตัวตามแฟชั่น อยากทำในสิ่งที่ชอบตามวัย แต่พอโดนขัดบ่อย ๆ วันหนึ่งเลยมีความกล้าที่จะพูดความรู้สึกของตัวเองออกมา เพราะหวังว่าพ่อแม่จะเข้าใจเขาบ้าง

พอลูกเห็นตัวอย่างก็มั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองเจอ คนอื่นก็คงเจอเหมือนกัน มันเลยทำให้เขากล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะยังไงก็ยังมีคนคิดแบบเดียวกับเขา และคิดว่าพ่อแม่จะเข้าใจเหมือนในละคร แต่เป็นความจริงไม่เหมือนในละครน่ะสิ พ่อแม่ไม่ได้รับรู้เหตุผลของลูก แต่รับรู้แค่ว่าลูกของฉันแสดงกิริยาก้าวร้าวใส่ เป็นเด็กไม่น่ารัก และยิ่งด่าก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นปัญหาที่ไม่เข้าใจกันสักที

ลูกก้าวร้าว

การรับมือ คือการเข้าใจความเปลี่ยนแปลง

วิธีรับมือกับปัญหาลูกก้าวร้าว คือพ่อแม่ควรทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของลูกว่าเป็นวัยที่เด็กกำลังเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายก็เป็นเรื่องปกติ เหมือนที่เราเข้าสู่วัยทองนั่นแหละ แล้วเวลาที่ลูกอยากเล่า อยากบอกอะไรให้ฟังพ่อแม่ควรรับฟังเขาอย่างตั้งใจ ไม่ใช่พอลูกพูดปุ๊บ ก็รีบสอนปั๊บ แบบนี้ไม่ถูก!

เข้าใจว่าคนเป็นพ่อแม่ก็ต้องเป็นห่วงลูก อยากให้ลูกเลือกถูกเป็นธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วเขาแค่อยากให้ครอบครัวเป็นคนแรกที่รับฟัง ถ้าเราไม่ฟัง คอยจ้องแต่จะสอนอย่างเดียว ต่อไปเขาก็จะรู้สึกว่าไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟังอีกแล้ว ไปเล่าให้เพื่อนฟังน่าจะเข้าใจมากกว่า  

อีกอย่างคือปล่อยให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ พ่อแม่ก็ต้องเชื่อว่าลูกมีเหตุผลที่เลือกสิ่งนั้น และถ้าเราสนับสนุนลูกเต็มที่ เขาก็จะทำมันออกมาได้ดี ถ้าลูกมีปัญหาอะไรพ่อแม่ก็ควรให้คำแนะนำอย่างใจเย็น ให้เขาคิดต่อเอง ไม่ใช่ไปตอกย้ำ เช่น “บอกแล้วใช่ไหมว่าอย่าทำ” นั่นจะเป็นการทำร้ายความรู้สึกของเขามาก เลวร้ายที่สุดก็คงไม่อยากอยู่บ้านอีกเลย ใกล้เข้าสู่วัยรุ่นเด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง อย่าไปจุกจิกมาก แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่างงานบ้านที่เราอยากสอนให้เขาทำเป็น เชื่อเถอะว่าเขารู้อยู่แล้วว่าทำอย่างไร

ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรมีให้กับลูก ลองนึกถึงตอนเราเป็นเด็ก เราก็หวังอยากจะให้พ่อแม่เข้าใจเราเหมือนกัน เพียงแต่พูดไม่ได้ แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น เราต้องยอมรับฟัง เชื่อในตัวลูก ไม่ต้องแย้งเขาไปซะทุกเรื่อง ลูกของเราก็จะไม่ก้าวร้าวใส่ อยู่กันด้วยความเข้าใจดีกว่านะ

https://thestandard.co/podcast/balancedmama15/

เอกสารประกอบการเรียนวิชาจิตวิทยาวัยรุ่น (PY237) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

SHARE

RELATED POSTS

เช็กด่วน พฤติกรรมของพ่อแม่แบบไหนที่ทำครอบครัว Toxic เมื่อบ้านไม่ใช่เซฟโซนของลูกอีกต่อไป…
เผยวิธีห่อตัวทารกอย่างไรให้ลูกปลอดภัย สบายตัว พร้อมรับโลกใบใหม่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังข้องใจเกี่ยวกับวิธีห่อตัวทารกว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงให้ถูกต้องและปลอดภัย…
พ่อแม่ควรรู้ ปรอทวัดไข้สำหรับเด็กแบบไหนให้ผลลัพธ์แม่นยำสุด อุปกรณ์สำคัญที่พ่อแม่ควรมีติดบ้านเอาไว้อย่าง ปรอทวัดไข้…