Search
Close this search box.
จุกหลอก

จุกหลอกจำเป็นแค่ไหน? เคล็ดลับการใช้ที่ปลอดภัยต่อลูกน้อย

จุกหลอกเป็นอุปกรณ์ที่หลายครอบครัวเลือกใช้เพื่อปลอบลูกน้อยให้สงบและหลับสบาย แต่พ่อแม่หลายคนก็ยังสงสัยว่าจุกหลอกจำเป็นจริงหรือ และมีผลต่อลูกน้อยอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจและแนะนำเคล็ดลับการใช้จุกหลอกที่ปลอดภัยต่อลูกกันค่ะ

จุกหลอกคืออะไร?

จุกหลอก คือ อุปกรณ์คล้ายจุกนมที่ใช้ให้ทารกอมหรือดูดเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย

จุกหลอก คืออุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ทารกใช้อมหรือดูดแทนนิ้ว ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลายและอารมณ์ดี คุณพ่อคุณแม่จึงมักใช้จุกหลอกเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของทารกในช่วงสั้น ๆ ตอนที่ไม่ได้เข้าเต้า และช่วยให้หยุดร้องไห้ รวมถึง ช่วยป้องกันไม่ให้ลูกติดนิสัยดูดนิ้ว โดยส่วนมากจุกหลอกมักจะทำมาจากยางหรือซิลิโคนที่มีลักษณะนิ่มเพื่อให้เหมาะสำหรับการใช้กับเด็กเล็ก

การใช้จุกหลอกมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

จุกหลอก ข้อดี ข้อเสีย

ข้อดีของจุกหลอก

  • จุกหลอกช่วยให้ลูกอารมณ์ดี และไม่งอแง เนื่องจากการดูดบางสิ่งในปากจะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและบรรเทาอาการหงุดหงิดได้ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ลูกรู้สึกสบายตัวขึ้น ไม่ปวดหูจากความกดของอากาศขณะขึ้นเครื่องบินได้อีกด้วย
  • จุกหลอกช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของลูกได้ชั่วขณะ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องการความร่วมมือของลูก เช่น ขณะฉีดวัคซีน เจาะเลือด หรือตอนหิว ซึ่งจะช่วยให้ลูกรู้สึกสงบ และช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการรักษาได้
  • ป้องกันการดูดนิ้วด้วยการดูดจุกหลอกแทน เนื่องจากนิ้วมือมักจะสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ลูกเสี่ยงรับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย และนิสัยติดจุกหลอกยังเลิกง่ายกว่าการดูดนิ้ว
  • การใช้จุกหลอกขณะนอนหลับช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคไหลตาย (SIDS) ซึ่งมีสาเหตุจากการกีดขวางทางเดินหายใจของทารก โดยเฉพาะในเด็กวัย 2-4 เดือน โดยการดูดจุกหลอกจะช่วยให้ลิ้นไม่อุดกั้นทางเดินหายใจของลูก ทำให้อากาศไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
  • จุกหลอกช่วยให้ลูกที่คลอดก่อนกำหนดดื่มนมได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากจุกหลอกจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางปากของลูกส่งผลให้ลูกดื่มนมจากเต้าหรือขวดนมได้ดีขึ้น

ข้อเสียของจุกหลอก

  • การใช้จุกหลอกบ่อย ๆ อาจทำให้ลูกติดจุกหลอก และร้องไห้งอแงเมื่อไม่ได้ดูดจุกหลอก จนทำให้เกิดความลำบากต่อคุณพ่อคุณแม่
  • การใช้จุกหลอกอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในหูชั้นกลาง เนื่องจากการดูดจุกหลอกทำให้ท่อในหูของทารกเปิดมากขึ้น ซึ่งช่วยให้แบคทีเรียจากโพรงจมูกและคอสามารถเข้าสู่หูชั้นกลางได้ จนอาจนำไปสู่การติดเชื้อในหูชั้นกลาง
  • อาจเกิดปัญหาสุขภาพฟันจากการใช้จุกหลอกติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการใช้จุกหลอกกับเด็กที่อายุ 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากจะทำให้ฟันที่ขึ้นมาผิดรูป เช่น ฟันเก หรือการสบฟันผิดปกติ
  • การใช้จุกหลอกมากเกินไปอาจทำให้ทารกไม่ยอมทานนมแม่ เนื่องจากจุกหลอกมีลักษณะคล้ายหัวนมแม่ เด็กบางคนที่ใช้จุกหลอกนาน ๆ อาจคุ้นเคยกับจุกหลอกมากกว่าหัวนมแม่ ส่งผลให้ลูกไม่ยอมทานนมแม่
  • เด็กอาจตื่นและงอแงกลางดึกบ่อย ๆ เมื่อจุกหลอกหลุดจากปากขณะนอนหลับ ทำให้พ่อแม่ต้องลุกขึ้นมาปลอบ
  • ลูกอาจสำลักจากการใช้จุกหลอกที่ขนาดเล็กเกินไป จนทำให้จุกหลอกหลุดเข้าปากหรือลงคอ และเป็นอันตรายต่อลูกน้อย

เลือกจุกหลอกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย

วิธีเลือก จุกหลอก
  • เลือกจุกหลอกที่ทำจากวัสดุที่ปลอดภัยอย่าง ซิลิโคน เพราะทนทาน ทำความสะอาดง่าย หรือยางธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมี รวมถึง สังเกตหาสัญลักษณ์ BPA Free หรือ Bisphenol A Free ซึ่งเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อพัฒนาการเด็ก
  • เลือกจุกหลอกที่ขนาดเหมาะกับปากเด็ก โดยควรเลือกจุกหลอกที่ขนาดใหญ่กว่าปากของเด็กเล็กน้อย เพื่อป้องกันการสำลัก และควรใช้จุกหลอกที่มีฐานขนาดกว้างกว่า 1.5 นิ้ว
  • เลือกใช้จุกหลอกแบบชิ้นเดียว เนื่องจากจุกหลอกที่ออกแบบให้มีสองจุก อาจทำให้เด็กสำลักได้

วิธีการใช้จุกหลอกให้ถูกต้อง

วิธีใช้ จุกหลอก
  • ให้เด็กคุ้นเคยกับนมแม่ก่อนใช้จุกหลอก ถึงแม้ว่าจุกหลอกจะสามารถได้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด แต่ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกควรให้เด็กได้ดูดหัวนมแม่ก่อน
  • ทำความสะอาดจุกหลอกเป็นประจำ ด้วยการต้มให้สะอาดหรือใช้น้ำยาทำความสะอาดสำหรับเด็ก และเปลี่ยนจุกหลอกใหม่ทุกเดือนหรือเมื่อจุกหลอกฉีก ขาด เป็นรอย เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
  • ควรเลือกจุกหลอกที่มีขนาดเหมาะสมกับลูก เพื่อป้องกันการสำลักและเหมาะสมกับพัฒนาการเด็ก
  • แยกให้ออกว่าลูกดูดจุกหลอกเพราะหิวหรือชอบ และหากเป็นเวลาให้นมควรให้ลูกหยุดใช้จุกหลอกจนกว่าจะทานนมเสร็จ
  • ไม่ควรให้ลูกใช้จุกหลอกตลอดเวลา ควรให้ใช้เมื่อลูกรู้สึกไม่สบายตัวจริง ๆ และอาจใช้สิ่งอื่นเบี่ยงเบนความสนใจแทน
  • ไม่ใช้สายคล้องจุกหลอกห้อยคอลูก เพราะอาจทำให้เชือกรัดหรือพันคอจนเกิดอันตรายได้
  • เมื่อลูกหย่านมหรืออายุราว 13-15 เดือน ควรให้ลูกใช้จุกหลอกน้อยลง จนสามารถเลิกใช้ได้ในที่สุด โดยเด็กหลายคนอาจเลิกใช้จุกหลอกได้เองเมื่ออายุ 2-4 ขวบ
  • ไม่เคลือบจุกหลอกด้วยน้ำหวาน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อเด็กและทำให้ฟันผุได้

จุกหลอกอาจเป็นตัวช่วยที่ดีในการดูแลลูกน้อย หากคุณพ่อคุณแม่เลือกใช้อย่างถูกวิธีและใส่ใจรายละเอียด โดยไม่ลืมว่าสิ่งสำคัญคือจุกหลอกที่ใช้ควรสะอาดและปลอดภัยต่อลูกน้อย เพื่อให้ลูกได้ประโยชน์เต็มที่และมีความสุข

SHARE

RELATED POSTS

รวมวิธีดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด กุญแจสำคัญสู่การฟื้นตัวไว การผ่าคลอดเป็นวิธีการทำคลอดที่ช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยปลอดภัยจากความเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์หรือแม้แต่ปัญหาต่าง ๆ…
ปัญหาเด็กแพ้อาหารไม่ใช่เรื่องเล็ก พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม เมื่อถึงเวลาที่ลูกน้อยต้องเริ่มทานอาหารอื่นนอกจากนมแม่ ในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะรู้สึกตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลง…
รวมกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อย การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กวัยแรกเกิดถึง 3…