Search
Close this search box.
EF คือ

ทักษะ EF คือ กุญแจดอกสำคัญในการใช้ชีวิต ฝึกลูกตอนนี้ ติดตัวตลอดไป

ครอบครัวเด็กเล็กต้องอ่าน ‘ทักษะ EF’ กุญแจดอกสำคัญที่ช่วยเปิดประตูแห่งความสำเร็จในชีวิต แต่ทักษะ EF คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อชีวิต วันนี้ Cotton Baby มีมาบอกกัน รู้แล้ว ฝึกเลย

EF คือ1

ทักษะ EF คืออะไร

ทักษะ Executive Function หรือ EF คือ ความสามารถในการควบคุมการทำงานของสมองส่วนหน้า ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อระบบความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม โดยในภาษาไทยเราอาจคุ้นเคยกับชื่ออื่นของ EF คือ ‘ความสามารถในการจัดการ’

เหตุผลที่คนเราต้องฝึกฝนและพัฒนาทักษะ EF คือ การใช้เพื่อตั้งสมาธิและจัดลำดับความสำคัญของงานให้บรรลุผลตามต้องการตามคำสั่งของสมอง และทักษะ EF นี้เองสามารถแบ่งประเภทแตกต่างกันออกไปหลายประเภท

EF คือ2

ประเภททักษะ EF คืออะไรบ้าง

เราสามารถแบ่งทักษะ EF ออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ทักษะระดับพื้นฐานและทักษะระดับสูง ซึ่งทุกความสามารถจะเกี่ยวข้องกันโดยตรง หากขาดทักษะใดทักษะหนึ่งไป ก็อาจทำให้ทักษะอื่น ๆ ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างที่คาดการณ์ไว้

1. ทักษะระดับพื้นฐาน แบ่งออกเป็นอีก 3 ความสามารถ ได้แก่

ความสามารถในการจดจำ (Working Memory) คือ ความสามารถในการเก็บรักษาหรือจัดการข้อมูลที่ได้รับมาจากการสั่งสอนหรือประสบการณ์ส่วนตัว และสามารถดึงข้อมูลนั้นมาใช้ได้ทันทีในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ความสามารถนี้มีผลต่อ Intelligent Quotient หรือ IQ (ความฉลาดทางด้านสติปัญญา) เช่น สามารถจดจำคำสั่งของการบ้านที่คุณครูมอบหมายได้

ความยืดหยุ่นทางความคิด (Cognitive Flexibility) คือ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน สามารถเอาตัวรอดได้ ซึ่งความสามารถนี้เองถือเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ เช่น หากเส้นทางกลับบ้านเกิดมีสิ่งกีดขวางระหว่างทาง พวกเขาสามารถใช้เส้นทางอื่นเพื่อกลับบ้านได้เช่นกัน

ความสามารถในการควบคุมและยับยั้งตนเอง (Inhibitory Control) คือ ความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเอง จัดลำดับความสำคัญ ต่อต้านการกระทำหรือตอบสนองกับสิ่งที่เกิดขึ้นฉับพลันได้ เช่น หยุดคิดก่อนที่จะพูด สามารถรู้ตนเองว่ากำลังรบกวนผู้อื่นอยู่ และอยู่นิ่งได้ด้วยตนเอง 

2. ทักษะระดับสูง แบ่งออกเป็นอีก 6 ความสามารถ ได้แก่

ความสามารถในการจดจ่อ (Attention) คือ ความสามารถในการใส่ใจ จดจ่อ ให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังกระทำอยู่อย่างมีสมาธิ จนกระทั่งสำเร็จงานที่กำหนด เช่น สามารถทำการบ้านจนเสร็จอย่างมุ่งมั่น ในขณะที่มีเสียงรอบข้างรบกวน

ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) คือ ความสามารถในการยับยั้งและปรับเปลี่ยนสภาพอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมของแต่ละสถานการณ์ เช่น เมื่อเห็นคะแนนสอบที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่แสดงอารมณ์เสียใจ แต่กลับหาแนวทางในการปรับปรุงให้ดีขึ้น หากขาดความสามารถนี้ อาจนำไปสู่ปัญหาการใช้ชีวิตร่วมกับสังคม หรืออาการซึมเศร้าได้ในที่สุด

ความสามารถในการประเมินตนเอง (Self-Monitoring) คือ ความสามารถในการวิเคราะห์หรือสะท้อนพฤติกรรมและความคิดของตนเอง เพื่อหาจุดบกพร่องและพร้อมที่จะแก้ไข พัฒนาและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถรู้ตนเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ หรือประเมินได้ว่าสิ่งที่ทำใกล้สำเร็จแล้วหรือยัง

ความสามารถในการลงมือปฏิบัติ (Initiating) คือ ความสามารถในการริเริ่มและกล้าลงมือทำทันที ไม่เกรงกลัวความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น

ความสามารถในการวางแผน ดำเนินการ (Planning and Organizing) คือ ความสามารถในการจัดการแผนการได้ด้วยตนเองอย่างเป็นขั้นตอน นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นภาพรวมของงานที่กำหนดได้ เช่น เมื่อครูมอบหมายให้จัดทำโครงงานหลายชิ้น เด็ก ๆ สามารถจัดการเวลาได้และทำโครงงานทั้งหมดได้ทันเวลาที่กำหนด

ความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) คือ ความสามารถในการวางเป้าหมาย รู้จักวิธีพาตนเองไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมุ่งมั่นและพากเพียร

ความสามารถทั้ง 9 ด้านของทักษะ EF คือ ‘กุญแจสำคัญ’ ที่จะช่วยเปิดประตูแห่งการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของเด็ก หากได้ปลูกฝังทักษะเหล่านี้ให้กับเด็กตั้งแต่แรก สิ่งเหล่านี้จะติดตัวและเป็นลักษณะพิเศษที่จะทำให้พวกเขาเป็นที่ต้องการและได้รับการยอมรับในอนาคต

EF คือ3

คุณสมบัติของเด็กที่ได้ฝึกทักษะ EF คือ

  • ความจำดี ไม่หลงลืมง่าย

  • ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ บุคคล หรือสิ่งใหม่ ๆ ได้ง่าย

  • มีความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความคิดของผู้อื่น

  • มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

  • ไม่จมดิ่งกับอารมณ์ด้านลบเป็นเวลานาน

  • เข้าร่วมกิจกรรมอย่างเต็มใจ

  • เป็นระเบียบ เรียบร้อย

  • ไม่ยึดติดกับปัญหาที่เกิดขึ้น

  • บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

  • มีความรับผิดชอบ

  • มีความคิดสร้างสรรค์

  • เข้ากับสังคมได้ดี

EF คือ4

ความสำเร็จจากการประยุกต์ทักษะ EF คืออะไร

ในปัจจุบัน พบงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทักษะ EF คือ ปัจจัยหนึ่งจากอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของคนเราในด้านต่าง ๆ เช่น การเรียน การวางตัวและการทำงาน เป็นต้น

  • การเรียน

ข้อดีของเด็ก ๆ ที่ได้รับการพัฒนาทักษะ EF คือ สามารถประยุกต์ใช้กับการเรียนได้เองจากสัญชาตญาณ เนื่องจากเด็ก ๆ จำเป็นต้องใช้ในการจดจำ ทำตามคำสั่งของคุณครู หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้ขาดสมาธิ และแก้ไขปัญหาได้เอง

  • การวางตัว

ผลลัพธ์ที่ดีสำหรับการฝึกฝนทักษะ EF คือ จะช่วยเรื่องการวางตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญ สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ การทำงานเป็นทีม มีลักษณะความเป็นผู้นำ และการกล้าตัดสินใจ

  • การทำงาน

ไม่ใช่ว่าทักษะ EF จะเหมาะสมเฉพาะเด็กที่สามารถปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้เท่านั้น เมื่อเด็ก ๆ เหล่านี้โตขึ้น และได้รับการพัฒนาทักษะ EF เป็นอย่างดีตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้พวกเขามีแนวโน้มประสบความสำเร็จได้มากกว่า (ตามงานวิจัย) เพราะพวกเขาสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน วางแผนการใช้ชีวิต และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี

ทักษะ EF คือ ตัวช่วยเด็กที่มีปัญหาด้านสมาธิสั้น

สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านสมาธิสั้น มักมีอาการไม่อยู่นิ่ง ขาดสมาธิ ไม่สามารถเข้าใจรายละเอียดเล็กน้อยได้ การฝึกทักษะ EF คือ วิธีหนึ่งในการช่วยฝึกฝนทักษะในการบริหารจัดการตนเองอย่างรอบด้าน เนื่องจากการฝึกทักษะ EF คือ การพัฒนาการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่มีหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและการยับยั้งชั่งใจให้ทำงานได้ดีมากขึ้น

EF คือ5

วิธีการฝึกให้ลูกมีทักษะ EF คือ

เด็กทุกคนไม่ได้จะเกิดมาพร้อมกับทักษะ EF แต่พวกเขาก็เกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่จะพัฒนาทักษะเหล่านี้ต่างหาก เด็กบางคนต้องได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างอย่าสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมทักษะ EF ดังนั้นหากสภาพแวดล้อมตัวเด็ก ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทักษะ เช่น ความเครียด การละเลย ความรุนแรง หรือปัญหาความสัมพันธ์ ก็อาจทำให้การพัฒนาทักษะ EF ถูกชะลออย่างมีนัยสำคัญได้ เพราะโครงสร้างสมองของเด็ก ๆ จะถูกทำลายและบั่นทอนลง

‘ครอบครัว’ ถือเป็นกลุ่มคนสำคัญที่สามารถพัฒนาทักษะนี้ให้กับเด็ก ๆ ได้ โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการฝึกฝนทักษะ EF คือ ระหว่างอายุ 3 – 6 ขวบ เพราะสมองส่วนหน้าสามารถพัฒนาได้มากที่สุด จนถึงช่วง 25 ปี จากนั้นทักษะนี้ก็จะเริ่มหยุดพัฒนาลงหรือลดประสิทธิภาพการพัฒนาลง

นอกจากคนรอบตัวอย่าง ‘ครอบครัว’ แล้วก็ต้องดูด้วยว่าตัวของเด็กเองพร้อมที่จะเรียนรู้และสนุกไปกับการพัฒนานี้ไหม แต่ส่วนมากเด็ก ๆ มักจะตื่นเต้นและชื่นชอบการเรียนรู้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้นเด็ก ๆ นี่แหละเกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่จะพัฒนาทักษะเหล่านี้แล้ว โดยเราสามารถแบ่งพฤติกรรมที่สำคัญในการช่วยส่งเสริมทักษะ EF คือ

จากคนรอบตัว

  • การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กเป็นประจำ เริ่มต้นจากคนรอบข้างอย่าง ‘ครอบครัว’ คอยพูดคุยกับเด็ก ๆ เป็นประจำ หากิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีให้กับครอบครัว เช่น เล่าเรื่องให้ฟังก่อนนอน เพื่อฝึกจินตนาการ และได้พัฒนาสมอง
  • การส่งเสริมกิจวัตรประจำวัน เช่น ให้ลูกฝึกทำงานบ้าน หรือจัดข้าวของให้เป็นระเบียบ เพื่อช่วยฝึกจดจำ ความรับผิดชอบในหน้าที่ และฝึกการลงมือกระทำด้วยตนเอง

จากตัวของเด็ก

  • การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เช่น การทดลอง หรือการเล่นอย่างอิสระ โดยมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ชิด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เพราะการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยตนเอง จะช่วยฝึกเด็กให้พัฒนาการแก้ปัญหา และจัดการกับสถานการณ์ด้วยตนเอง
  • การเคลื่อนไหว เช่น การเต้น การเล่นกีฬา เพื่อฝึกฝนการควบคุมตนเอง ความกระฉับกระเฉงของกล้ามเนื้อ ส่งเสริมความจำผ่านการทรงตัว นอกจากนี้ยังช่วยสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง

เด็กเปรียบเสมือน ‘เครื่องจักร’ ที่พร้อมทำงานอยู่ตลอดเวลา เพียงขาด ‘น้ำมัน’ ที่เปรียบเสมือนคนรอบข้าง คอยเติมเชื้อเพลิงให้เครื่องจักรนี้ทำงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

EF คือ6

ปัจจัยที่ขัดขวางการพัฒนาทักษะ EF คือ

ถึงแม้ว่าเด็กบางคนจะได้รับการฝึกฝนพัฒนาทักษะ EF มาเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีพฤติกรรมที่ไม่อยู่นิ่ง ความจำไม่ดี ปรับตัวเขากับสังคมได้ยาก และอารมณ์แปรปรวนบ่อยครั้ง นั่นเป็นผลมาจากปัจจัยที่ขัดขวางการพัฒนาทักษะ EF อยู่ค่ะ จากงานวิจัยของต่างประเทศระบุว่า สาเหตุของการที่ไม่สามารถพัฒนาทักษะ EF คือ

  • ปัญหาด้านการพัฒนาล่าช้าของสมอง การฝึกทักษะ EF จะมีผลต่อการพัฒนาสมองส่วนหน้าของมนุษย์ หากเด็กมีปัญหาด้านการพัฒนาของสมอง ก็ย่อมมีผลต่อการพัฒนาทักษะ EF ได้เช่นกัน
  • ปัญหาด้านกรรมพันธุ์ หากสมาชิกในครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับทักษะ EF ก็มีแนวโน้มได้ว่าคนอื่น ๆ ในครอบครัวก็อาจมีปัญหานี้เช่นกัน

ดังนั้นหากเด็กคนใดที่มีปัจจัยหนึ่งในสองสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น ก็อาจสร้างความท้าทายให้กับคนรอบข้างในการฝึกฝนและพัฒนาให้เขาเรียนรู้ได้

อย่างไรก็ตามเด็ก ๆ ที่ได้รับการฝึกฝนทักษะ EF ไม่ได้แปลว่าจะเป็น ‘คนเก่ง’ ในทางกลับกันเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถได้รับการฝึกฝนทักษะ EF อย่างเต็มที่ ก็ไม่ได้แปลว่า ‘ขี้เกียจ’ นะคะ

การมีทักษะ EF คือ กุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่จะช่วยเปิดประตูความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจะมีทักษะ EF เสมอ เพราะเด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน และทุกคนต้องพยายาม มุ่งมั่นทำงานเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ

ฝึกฝนตามที่เด็กสามารถทำได้ อย่าบังคับเพื่อให้ได้สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มองว่าดีให้กับตัวเด็ก เพราะเช่นนั้นเด็กจะไม่มีความสุขในช่วงชีวิตวัยเด็กของเขา

ปัจจุบันการสร้างเด็กให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ได้แสดงว่าต้องเป็นคนเก่ง ฉลาด หรือรอบรู้ แต่ต้องเป็นคนที่เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาได้ และอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้ต่างหาก ถึงเป็นคนที่สังคมต้องการ

SHARE

RELATED POSTS

ถาดซิลิโคนใส่อาหารสำหรับเด็ก ตัวช่วยให้ลูกทานอาหารง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจเคยเจอกับปัญหาเวลาที่ลูกทานข้าวแล้วไม่ยอมทานดี ๆ…
เปิดเพลงให้ลูกฟัง ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านสมองได้ เพราะลูกฟังทุกเสียงได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ แล้วเสียงดนตรีแบบไหนเหมาะกับวัยของลูก…
มาทำความรู้จักกับข้อดีของแป้งโดว์ หรือ Playdough ของเล่นเสริมสร้างพัฒนาการและจินตนาการให้กับลูกน้อยที่แสนจะมีประโยชน์ให้ลึกยิ่งขึ้น…