5 วิธีกระตุ้นประสาทสัมผัส
ที่ช่วยพัฒนาสมองในเด็กแรกเกิด
ในช่วง 12 เดือนแรกของลูกน้อยจะเต็มเปี่ยมไปด้วยพัฒนาการด้านการเจริญเติบโต ความก้าวหน้าของประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ สายตา กลิ่น การได้ยิน สัมผัส และลิ้มรส จะพัฒนาเร็วมากในช่วงแรกเกิดนี้ เมื่อลูกน้อยของเราได้ออกมาลืมตาดูโลกแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้เขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว โดยใช้ ประสาทสัมผัสทั้ง 5 นี้ เป็นการสร้างพัฒนาการได้อย่างรอบด้าน
Sense of Touch
ครั้งแรกที่คุณแม่จะได้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของลูก ก็คือตอนอยู่ในท้อง ที่ลูกดิ้น นั้นแหละคือสัญญาณแรกของการเจริญเติบโต แต่พอเขาลืมตาดูโลกแล้ว การกระตุ้นประสาทสัมผัสให้ทำงานได้ดีขึ้น เป็นหน้าที่ของคนในครอบครัวที่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสารโต้ตอบ อ่านนิทาน ร้องเพลง การกอด อาบน้ำ หรือแม้กระทั่งตอนปลอบประโลม เพราะทุกๆ การสัมผัสสามารถส่งผลต่อการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และช่วยพัฒนาสมองให้เจ้าตัวน้อยได้เป็นอย่างดี ทีนี้เรามาดูกันว่า คุณพ่อ คุณแม่จะช่วยกระตุ้นได้ด้วยวิธีใดบ้าง
กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5
เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย
1. Sight : ประสาทสัมผัสทางด้านการมองเห็น
ในช่วงแรกของทารกจะสามารถมองเห็นได้แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น ต้องรอให้มีอายุประมาณ 4 – 6 เดือนก่อนถึงจะมองเห็นวัตถุในระยะไกลขึ้นได้ และมักจะสะดุดตากับสิ่งของที่มีสีสัน อย่างของเล่นโมบายที่แขวนไว้ตรงเหนือเปล
วิธีที่ช่วยกระตุ้นสายตา : ให้คุณพ่อคุณแม่ก้มหน้า พูดคุยหรือขยับหน้า เพื่อให้เขาสนใจ หากเป็นเวลาที่คุณแม่กำลังให้นมลูกอยู่ล่ะก็.. เป็นเวลาที่เหมาะมากเลยทีเดียว ลองใช้โอกาสนี้กระตุ้นสายตา หากมีพฤติกรรมตอบกลับ เช่น ยิ้ม หรือหัวเราะ ถือเป็นสัญญาณที่ดีเลยแหละ
2. Smell : ประสาทสัมผัสทางด้านกลิ่น
แม้ในช่วงแรกจะยังมองเห็นไม่มากเท่าไหร่ แต่ ‘กลิ่น’ ทำให้ลูกน้อยรับรู้ได้ว่ามีใครอยู่ อยู่สถานที่ไหน ซึ่งกลิ่นที่เขาคุ้นเคยและไว้ใจ ก็คือ กลิ่นของคุณพ่อคุณแม่และสมาชิกในบ้านนั่นเอง
วิธีที่ช่วยกระตุ้นการได้กลิ่น : ลองอุ้มลูกน้อยออกไปเดินเล่นนอกบ้าน สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้ เพื่อให้เขาได้กลิ่น แต่อย่าลืมระวังเรื่องภูมิแพ้ด้วยล่ะ
3. Hearing : ประสาทสัมผัสทางด้านการได้ยิน
โดยปกติ ลูกน้อยจะคุ้นเคยเสียงของคุณแม่ตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์อยู่แล้ว พัฒนาการด้านนี้จึงเกือบจะสมบูรณ์หลังจากคลอดออกมา เมื่ออายุได้ประมาณ 2 เดือน จะเริ่มมีปฏิกิริยาเลียนแบบเสียงรอบข้างที่เขาได้ยิน เช่น เสียงของคุณพ่อคุณแม่ รวมไปถึงเสียงสัตว์ด้วย
วิธีที่ช่วยกระตุ้นการได้ยิน : พูดคุยกับลูกบ่อยๆ ร่วมกับการร้องเพลง หรือเปิดเพลงให้ฟัง ตอนกล่อมเข้านอน และสลับให้ลูกนอนในห้องที่เงียบด้วย เพื่อเป็นการหัดแยกแยะความแตกต่าง ระหว่างการมีเสียง และความเงียบ
4. Touch : ประสาทสัมผัสทางด้านการสัมผัสและการเคลื่อนไหว
สำหรับเด็กแรกเกิด การสัมผัสทางผิวหนังเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องการสื่อสาร ลูกน้อยจะรู้สึกสบายใจเมื่อเกิดการสัมผัสจากคุณพ่อคุณแม่ เขาสามารถรับรู้ได้ว่ากำลังอยู่บนเตียงหรืออ้อมอกของคุณแม่ เพราะเมื่อสัมผัสแล้วทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น คลานบนพื้นวัสดุไม้ เบาะ กระเบื้อง เขาจะเรียนรู้และปรับตัววิธีคลาน ฉะนั้น ควรหาของเล่นที่ทำจากวัสดุอย่างหลากหลายเพื่อให้ลูกน้อยได้เรียนรู้
วิธีที่ช่วยกระตุ้นการสัมผัสและการเคลื่อนไหว : ให้ลูกเหยียบบนพื้นที่มีลักษณะต่างกัน เช่น บนพื้นหญ้า พื้นดิน (ที่ไม่เป็นอันตราย) และฝึกให้เขาใช้มือจับสิ่งของด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการแยกแยะพื้นผิวสัมผัสว่า นุ่ม เรียบ แตกต่างกันอย่างไร
5. Taste : ประสาทสัมผัสทางด้านการลิ้มรส
ในช่วงแรกเกิด – 4 เดือน รสชาติที่ลูกน้อยจะได้รับมาจาก นมแม่ ซึ่งเป็นรสธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุด การดื่มนมที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ยังไม่จำเป็นต่อเด็กวัยนี้และทำให้เขาติดหวานตามไปด้วย
วิธีที่ช่วยกระตุ้นการลิ้มรส : ให้ลูกทานอาหารที่รสชาติหลากหลาย เช่น กล้วยบด ตับบด หรืออาหารเด็ก ที่มีส่วนผสมของผักชนิดต่างๆ นอกจะเรียนรู้เรื่องรสชาติแล้ว ร่างกายจะได้สารอาหารอื่นๆ อีกด้วย แต่อาหารประเภทอื่นจะกินได้ต้องรอให้ลูกอายุ 6 เดือนก่อน และควรระวังอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ไข่ หรืออาหารทะเล
พัฒนาสมองให้เบบี๋ตัวน้อย
เสริมการเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ประสาทสัมผัสจะพัฒนาได้จากการรับรู้ผ่านสิ่งเร้าภายนอกด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 แบบ พฤติกรรมของเด็กจะช่วยให้เขาได้เรียนรู้และจดจำ เซลล์ประสาทจะเชื่อมโยงกับใยประสาทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สมองพัฒนาได้อย่างเร็วขึ้น
สิ่งสำคัญเลยก็คือ คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 นี้ เพราะเป็นคนที่ใกล้ชิดมากที่สุด และเมื่อลูกน้อยได้เรียนรู้เขาจะค่อยๆ ซึมซับ สะสมความรู้ ควบคู่ไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของร่างกาย การพัฒนาด้านสมอง ไม่จำเป็นจะต้องรอให้ถึงวัยเรียนก็สามารถเริ่มตั้งแต่เขายังเป็นเบบี๋ได้เลย อย่าลืมว่านอกจากพ่อแม่แล้วสมาชิกในครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ