เผยเคล็ดลับ ป้องกันและดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากผื่นผ้าอ้อม
ปัญหา ‘ผื่นผ้าอ้อม’ เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่มีโอกาสเจอได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด แต่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะวันนี้ Cotton Baby จะมาบอกว่าความจริงแล้วผื่นผ้าอ้อมไม่ได้เกิดจากตัวผ้าอ้อมโดยตรงเพียงอย่างเดียวนะ พร้อมเผยเคล็ดลับการป้องกันและดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นผื่นผ้าอ้อมอย่างถูกวิธี เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัว ห่างไกลจากผื่นผ้าอ้อมได้มากที่สุด
ผ้าอ้อม เป็นหนึ่งในของใช้เด็กที่พ่อแม่หลายบ้านมักจะเกิดความกังวล แต่นอกจากนี้ยังมีของใช้อย่างอื่นที่ต้องใส่ใจในการเลือกใช้มากกว่าเดิม อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ ของใช้สำหรับเด็กแบบไหนที่พ่อแม่มักเลือกให้ลูกผิด
ผื่นผ้าอ้อม เรื่องที่พ่อแม่ต้องใส่ใจลูกน้อยเป็นพิเศษ
ผื่นผ้าอ้อม (Nappy rash) คือ อาการของผื่นผิวหนังอักเสบ มักเกิดขึ้นบริเวณที่สัมผัสหรือเสียดสีกับผ้าอ้อมอย่าง ก้น ข้อพับ ขาหนีบ หรือแม้กระทั่งบริเวณอวัยวะเพศ พ่อแม่สามารถสังเกตอาการผื่นผ้าอ้อมได้จากสิ่งเหล่านี้…
- ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับผ้าอ้อม เกิดผื่นแดง บวม
- ถ้าอักเสบมากขึ้น พื้นที่ของรอยแดงจะขยาย อาจมีรอยถลอก
- ลูกจะแสดงอาการไม่สบายตัว งอแง
- หากปล่อยไว้นาน อาจติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียได้
ทำไมลูกถึงเป็นผื่นผ้าอ้อม ?
อาการของผื่นผ้าอ้อมสามารถเป็นได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดที่เริ่มได้ใส่ผ้าอ้อม พบบ่อยในเด็กอายุประมาณ 3 – 19 เดือน ซึ่งอาการผื่นผ้าอ้อมเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส เสียดสี ใส่ผ้าอ้อมแน่นเกินไป เด็กมีผิวบอบบางหรือแพ้ง่าย รวมถึงระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่พ่อแม่เลือกใช้ให้ลูก เช่น ทิชชูเปียก แป้ง หรือสบู่
ตัวการที่ทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อมคือ ‘ความเปียกชื้น’ จากการสัมผัสระหว่างผิวของลูกที่ยังไม่แห้งสนิท กับ ผ้าอ้อมที่ใส่ ซึ่งในที่นี้หมายถึงผ้าอ้อมทุกชนิด ทั้งแบบห่อเอง แบบกางเกงซักได้ แบบสำเร็จรูป รวมถึงชนิดของผ้าอ้อม การที่พ่อแม่เลือกใส่ผ้าอ้อมสาลูหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็มีโอกาสเสี่ยงเกิดผื่นผ้าอ้อมได้เหมือนกัน หากใส่ผ้าอ้อมให้ลูกขณะที่ผิวยังเปียกชื้นอยู่
ซึ่งการสัมผัสที่ระคายเคือง เป็นการกระตุ้นให้เกิดผื่นผ้าอ้อม เมื่อสัมผัสกับปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเวลานาน ๆ ผิวหนังก็จะชื้นและเสียดสีกับผ้าอ้อม ทำให้เกิดผิวที่มีค่าความเป็นกรดถูกทำให้เป็นด่าง ด้วยสารแอมโมเนียจากปัสสาวะ เมื่ออุจจาระปนเปื้อนกับผิวที่เปียกชื้นจะส่งเสริมให้เชื้อโรคเติบโตได้ดี หากปล่อยไว้นาน ๆ นอกจากภูมิต้านทานผิวจะลดลงแล้ว ยังทำให้เสี่ยงติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย
เคล็ดลับป้องกันและดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลผื่นผ้าอ้อม
การดูแลผิวของลูกน้อยเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดผื่นผ้าอ้อมได้ดีที่สุด พ่อแม่ควรป้องกันด้วยวิธีเหล่านี้ แต่ถ้าเกิดอาการผื่นผ้าอ้อมขึ้นแล้วอาจจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์หรือยารักษาร่วมด้วย แนะนำยา หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้อาการหนักกว่าเดิม
- เปลี่ยนผ้าอ้อมทุก 2-3 ชั่วโมง ทุกครั้งที่เปียกชื้นหรือเมื่อขับถ่ายเสร็จ โดยเฉพาะกับเด็กที่แพ้ผ้าอ้อมอยู่แล้ว ต้องเปลี่ยนทันทีหลังขับถ่ายเสร็จ
- ทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ หรือที่สัมผัสผ้าอ้อมด้วยน้ำสะอาด หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่อ่อนโยน ปราศจากส่วนผสมของน้ำหอมและแอลกอฮอล์
– ในกรณีที่ลูกเป็นผื่นผ้าอ้อมแล้ว สามารถดูแลบริเวณที่เกิดอาการได้โดยทายาที่เป็นครีมหรือขี้ผึ้งบาง ๆ เพื่อช่วยป้องกันความชื้นและลดการเสียดสีบริเวณที่เป็นผื่นอยู่แล้ว หรือใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวหนัง (Barrier ointment) ที่มีส่วนประกอบของ Zinc Oxide, Titanium Oxide, Lanolin, Dexpanthenol, Petroleum Jelly ทาเพื่อปกป้องผิวไม่ให้สัมผัสกับสารเคมีและความชื้น ก่อนใช้ยาเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้ตัวยาที่เหมาะสมกับผิวของลูกโดยเฉพาะ - ดูแลผิวของลูกให้แห้งก่อนใส่ผ้าอ้อมทุกครั้ง หลังจากล้างทำความสะอาดผิวแล้วใช้ผ้าซับน้ำออกให้หมดอย่างเบามือ ก่อนใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวของลูก เพราะผิวลูกอ่อนโยนมาก ทำให้เราต้องระวังการเลือกใช้ผ้าอ้อมและของใช้ให้แหมาะกับทารก
– เลี่ยงการทาแป้ง เพราะแป้งจะจับกับเหงื่อที่ออกในบริเวณที่ทา ทำให้กลายเป็นคราบหรือก้อนแป้ง และผิวจะชื้นและแฉะอยู่ตลอดเวลา เสี่ยงต่อการเกิดผื่นผ้าอ้อมได้ง่าย - ในกรณีที่ลูกเป็นผื่นผ้าอ้อมแล้วทำการดูแลรักษาเองสัก 2 – 3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้นค่ะ
นอกจากปัญหาผื่นผ้าอ้อมที่พ่อแม่จะต้องใส่ใจในการเลือกของใช้ให้ลูกน้อยแล้ว ยังมีของใช้อย่างอื่นที่ต้องเลือกเป็นพิเศษเพื่อดูแลผิวของลูกน้อยให้ปลอดภัย ห่างไกลอาการระคายเคือง เราได้รวบรวมมาให้แล้วกับ 5 ลิสต์ของใช้เด็กที่พ่อแม่ต้อง Concern สำหรับลูกน้อยผิวบอบบาง