Search
Close this search box.
หน้าปกโรคเหา ภัยเงียบที่ต้องกำจัด

‘โรคเหา’ ภัยเงียบที่ต้องกำจัดให้เกลี้ยง ก่อนที่จะเป็นอันตราย

โรคเหา กองทัพสัตว์ขนาดจิ๋วที่กระจายตัวอยู่บนหัวของเด็ก แล้วโรคนี้อันตรายแค่ไหน ? เกิดจากอะไร ? แล้วมีวิธีรักษาไหม ? มาดูไปพร้อมกันเลยค่ะ

โรคเหา คืออะไร

โรคเหา แล้วเหาคืออะไร

‘เหา’ คือแมลงตัวเล็กจำพวกปรสิตชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่บนร่างกายของคนและสัตว์ ใช้ชีวิตจากการดูดเลือดเป็นอาหารและวางไข่หลายร้อยฟอง ถึงแม้ว่าตัวเหาจะเล็กแค่ไหน แต่เราก็ยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า 

โดยปกติแล้ว เหาและไข่เหาจะเกาะตามบริเวณเส้นผม ใกล้ท้ายทอย หรือ เหนือใบหู โรคเหาสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หากอยู่ใกล้ชิดกัน ก็มีแนวโน้มที่จะติดกันได้

ทำไมเด็กถึงชอบเป็นโรคเหา

โรคเหา พบเจอบ่อยในเด็กเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะติดเหามาจากเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน เพราะเด็กเล็กมักจะเล่นกันอย่างใกล้ชิด และใช้ของร่วมกันอย่างเป็นปกติ

เหาสามารถส่งต่อกันได้โดยการสัมผัส เมื่อเส้นผมของคนหนึ่งไปสัมผัสกับอีกคนหนึ่ง ดังนั้นการไว้ผมยาวก็เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ชอบปล่อยผม จะมีโอกาสเป็นโรคเหามากกว่าค่ะ ผมที่ยาวจะเอื้อให้เหาสามารถเกาะและวางไข่ได้ดี

ในความเป็นจริง ผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นโรคเหาได้เช่นกันนะคะ แต่น้อยกว่าเด็กค่ะ เนื่องจากผู้ใหญ่จะรักษาความสะอาด และหมั่นดูแลตัวเองได้ดีว่าเด็ก

อาการของโรคเหา

อาการของโรคเหา

โรคเหา จะไม่มีอาการที่แสดงออกโดยตรงว่าใครกำลังเป็นอยู่ มากไปกว่านั้นอาจจะใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะรู้สึกตัว แต่คุณสามารถสังเกตอาการเริ่มแรกได้คือ อาการคันยุบยิบบริเวณหนังศีรษะบ่อยครั้ง คล้ายกับมีอะไรเคลื่อนอยู่บนหัว นอกจากนี้จะมีรอยแดง สะเก็ด หรือตุ่มขึ้นบริเวณหนังศีรษะด้วย

อาการที่ชัดเจนที่สุดของโรคเหา คือ การคันบริเวณที่มีเหาอาศัยอยู่ เพราะน้ำลายของมันมีสารที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยเกาบนหนังศีรษะจนเกิดรอยแผล จะเป็นผลให้ผิวหนังอักเสบ และเป็นสาเหตุหนึ่งของผมร่วงได้เช่นกันค่ะ

วิธีการกำจัดเหา

วิธีการกำจัดโรคเหา

เหา เป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วงชีวิตสั้นมาก ตราบใดที่ไม่ได้อยู่บนเส้นผมหรือหนังศีรษะของคนเรา ดังนั้นการนำเหาออกจากศีรษะ ก็จะทำให้เหาตาย และโรคเหาก็จะหายไปค่ะ แต่สำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 2 ปี ควรปรึกษาหมอนะคะ เพื่อความปลอดภัยนะคะ เรามาดูวิธีการกำจัดโรคเหากันค่ะ ว่ามีวิธีไหนบ้าง

หวีเสนียด

เริ่มต้นโดยการสระผม พอให้ผมเปียกหมาด ๆ แล้วให้ลูกมานั่งบริเวณที่มีกระดาษขาวปูรอง จากนั้นให้ใช้หวีเสนียดค่อย ๆ สางให้ทั่วเส้นผมของลูก จะเห็นเหาและไข่เหาติดหวีออกมา นอกจากนี้เหาจะกระเด็นตกไปยังพื้นที่ที่ปูด้วยกระดาษที่ทำให้เห็นเหาได้อย่างชัดเจน จากนั้นนำกระดาษไปเผาทำลาย ทำเช่นนี้วันละ 2-3 ครั้งเป็นประจำ จะช่วยลดปริมาณเหาบนหัวได้ค่ะ

แชมพู

การเลือกใช้วิธีสระผมด้วยแชมพูให้เห็นผล จำเป็นต้องใช้เวลาหลายวัน แต่ถ้าใช้ร่วมกับหวีเสนียดก็จะยิ่งเห็นผลได้เร็วมากขึ้นค่ะ

นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรไทยที่จะช่วยให้ตัวเหาและไข่ของมันหายไปได้ เมื่อใช่คู่กับการสระผม

  • ใบน้อยหน่า หรือใบสะเดา นำมาตำให้ละเอียดพร้อมผสมกับน้ำ นำไปหมักหนังศีรษะ ใช้ผ้าคลุมไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง หลังจากนั้นล้างออก และสระผมตามปกติ
  • ผลมะกรูดที่แก่จัด นำไปเผาไฟ แล้วนำมาบีบน้ำลงบนหนังศีรษะ

ยาฆ่าแมลงพิเศษสำหรับโรคเหา

ดูจากชื่อแล้วน่ากลัวใช่ไหมคะ แต่ยาประเภทนี้ไม่เป็นอันตรายต่อหนังศีรษะเลยค่ะ เพราะเค้าทำมาเฉพาะจริง ๆ สามารถเลือกซื้อได้ทั้งรูปแบบครีม เจล หรือโลชั่นก็ได้ค่ะ ส่วนใหญ่วิธีใช้ จะเป็นการหมักลงบนหนังศีรษะ หลังจากที่สระผมเสร็จประมาณ 10 นาที แล้วล้างออก แต่บางชนิดก็มีแบบค้างคืนนะคะ อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับยี่ห้อด้วยค่ะ แต่สิ่งที่สำคัญคือห้ามซื้อผิดเป็นน้ำยาฆ่าแมลงตามท้องตลาดนะคะ เพราะมันคนละชนิดกัน และเป็นอันตรายต่อผิวหนังแน่นอนค่ะ

โกนผม

วิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการรักษาโรคเหา เพราะตัวเหาและไข่เหาจะไม่มีที่ยึดเกาะเลย แต่ควรเป็นตัวเลือกสุดท้ายหลังจากที่ทดลองใช้วิธีต่าง ๆ มาแล้วนะคะ

การโกนผมเป็นวิธีกำจัดโรคเหาได้แน่นอนค่ะ แต่อาจจะก่อให้เกิดความอับอายต่อเด็กก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ ไม่อยากไปโรงเรียน และถึงขั้นมีผลต่อจิตใจก็เป็นได้นะคะ ดังนั้นวิธีนี้จึงควรเป็นความสมัครใจของตัวลูกเอง จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ

วิธีป้องกันการกระจายโรคเหา

  • สำหรับเด็กที่เป็นโรคเหา ไม่ควรไปโรงเรียน จนกว่าจะได้รับการรักษานะคะ เพราะจะยิ่งกระตุ้นเกิดการแพร่กระจายของเหาสู่เพื่อน ๆ ค่ะ
  • คุณแม่ควรทำความสะอาดเสื้อผ้า ที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ด้วยน้ำร้อนและอบแห้งด้วยความร้อน เพราะความร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อตัวเหาและไข่ได้
  • สอนให้ลูกไม่ใช้ของร่วมกันคนอื่น และทำความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัวของลูกเป็นประจำ
  • หมั่นตรวจว่าลูกมีเหาหรือไม่ เป็นประจำอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์

โรคเหา ดูเหมือนจะไม่ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกายให้กับผู้ป่วยมากนัก แต่มันกลับสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจให้กับผู้ป่วยแทน เพราะโรคเหา มักจะเป็นที่รังเกียจของสังคมรอบข้าง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางจิตใจ เช่น อาหารวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ก็เป็นได้ค่ะ

สุดท้ายนี้ ถ้าคุณแม่รู้ว่าลูกเป็นติดเหามาจากโรงเรียน อย่าพึ่งตระหนกนะคะ ลองทำวิธีที่ Cotton Baby เสนอดูนะคะ รับรองว่า ‘โรคเหา’ จะไม่เป็นปัญหาแน่นอนค่ะ

SHARE

RELATED POSTS

พื้นที่ส่วนตัวในครอบครัว เส้นทางสู่ความเข้าใจ หลีกเลี่ยงความห่างเหิน พ่อแม่หลายคนอาจรู้สึกกังวลว่าการให้พื้นที่ส่วนตัวกับลูกจะทำให้เกิดความห่างเหินระหว่างกัน…
รวมสวนปั่นจักรยาน สอนลูกรู้จักปั่น สุขสันต์ทั้งครอบครัว การปั่นจักรยานไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและช่วยให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข…
ช่วยลูกปรับตัว พร้อมรับมืออย่างมั่นคงในวันที่พ่อแม่แยกทาง การเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีความสุขนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่ทุกคน แต่เมื่อการที่พ่อแม่แยกทางกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้…