เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษา
ด้วยเทคนิคเวิร์กที่ใช้ได้ดีกับทุกบ้าน
จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า เด็กที่เติบโตมาแบบสองภาษาจะมีทักษะทางสังคมและการคิดที่ดีกว่าเด็กที่ใช้ภาษาแม่ (Native Language) เพียงอย่างเดียว พ่อแม่หลายบ้านจึงหันมาสนใจ ‘เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษา’ มากขึ้น โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพราะใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับสากล หากยังติดปัญหาว่าไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี วางความกังวลนั้นลง แล้วลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ดู รับรองว่าเวิร์กแม้กับบ้านที่พ่อแม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง
เริ่มต้นปลูกฝังภาษาอังกฤษให้ลูก
ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์
จริงอยู่ที่การเรียนรู้ไม่มีคำว่าสายการเกินไป แต่สำหรับการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษานั้นพ่อแม่ไม่ควรรีรอ เพราะเด็กๆ จะเรียนรู้ภาษาใหม่ได้ดีและซึมซับได้ไวที่สุดในช่วง 3 ขวบแรก จึงควรปลูกฝังภาษาอังกฤษและกระตุ้นพัฒนาการทางการได้ยินให้ลูกไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 9-28 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่เซลล์ประสาทซึ่งใช้ประมวลผลการฟังของทารกเริ่มมีการพัฒนาแล้ว โดยสร้างความคุ้นชินกับภาษาใหม่ๆ ให้เขาได้ด้วยวิธีการง่ายๆ ผ่านการเปิดเพลงสากลให้ฟัง หรือเล่านิทานและพูดคุยทักทายลูกด้วยภาษาอังกฤษเป็นประจำ เทคนิคนี้จะช่วยให้เด็กคุ้นชินกับสำเนียงตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลก
ฝึกภาษาอังกฤษผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูก
สถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้และสมอง หรือ Institute for Learning & Brain Sciences (I-LABS) มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองเปรียบเทียบความสามารถในการเรียนรู้ภาษาที่สอง ของเด็กทารกวัย 9.5 เดือน จำนวน 2 กลุ่ม ผ่านการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน โดยให้เด็กกลุ่มแรกเรียนรู้ภาษาจีนแมนดารินผ่านการเล่นของเล่น การพูดคุยหยอกล้อกับเจ้าของภาษาวันละ 25 นาที ตลอดระยะเวลา 17 เดือน ส่วนเด็กอีกกลุ่มให้เรียนภาษาเดียวกัน ในระยะเวลาที่เท่ากัน ผ่านการดูสื่อและฟังเพลงเท่านั้น จากนั้นลองนำเด็ก 2 กลุ่มมาทดสอบความสามารถในการจำแนกเสียง พบว่าเด็กกลุ่มแรกสามารถแยกแยะเสียงภาษาจีนแมนดารินได้ดี เทียบเท่ากับทารกชาวไต้หวันที่ในวัยเดียวกัน ที่เรียนรู้ภาษาดังกล่าวมาตั้งแต่กำเนิด ส่วนเด็กทารกอีกกลุ่มกลับไม่สามารถแยกแยะเสียงของภาษาใหม่ที่เรียนรู้ได้
ผลการศึกษาเห็นได้ชัดว่าการฟังหรือการดูสื่อเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ภาษาใหม่ได้ดีเท่ากับ ‘การสร้างปฏิสัมพันธ์ขณะเรียนรู้’ ด้วย การที่เด็กกลุ่มแรกได้พูดคุย หยอกล้อ และโต้ตอบกันไปมากับเจ้าของภาษา หรือแม้แต่โต้ตอบกับพ่อแม่ที่พูดภาษาที่สองได้ จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กถอดรหัสภาษาใหม่ๆ ได้ดีและรวดเร็วกว่า คล้ายรูปแบบการสื่อสารที่เรียกกันว่า การสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two-Way Communication) หากนำเทคนิคนี้ไปปรับใช้จริง พ่อแม่สามารถสังเกตพัฒนาการทางภาษาของลูกได้ ผ่านท่าทางที่เขาแสดงออกมาเวลาเราชวนเขาคุยด้วยภาษาที่สอง เช่น การหัวเราะตอบ การส่ายตัวไปมา การโบกมือเพื่อคว้าสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งตีความได้เบื้องต้นว่า ลูกเข้าใจสิ่งที่เราสื่อสารออกไป
ฝึกษาอังกฤษให้ลูกผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
การฝึกฝนภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นวิธีช่วยให้เด็กได้ซึมซับภาษาที่สองได้ดีที่สุด เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เด็กรู้สึกกดดันหรือรู้สึกถูกยัดเยียดให้เรียนรู้แล้ว ยังทำให้เขามีความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับคนอื่นมากขึ้นด้วย ยิ่งบ้านไหนพ่อแม่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีอยู่แล้ว ยิ่งได้เปรียบและช่วยให้ลูกได้ฝึกพูดคุยโต้ตอบภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามบางตำรายังแนะนำด้วยว่า ทางบ้านควรเลือกให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งสื่อสารภาษาอังกฤษกับลูกเพียงคนเดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้เจ้าตัวเล็กเกิดความสับสน โดยเด็กที่โตมากับครอบครัวที่พ่อแม่พูดภาษาต่างกันอยู่แล้ว เขาจะสามารถเรียนทั้งสองภาษาได้เองตามธรรมชาติ
ทั้งนี้การฝึกภาษาในชีวิตประจำวันให้ลูก เริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการสอนให้เขาจดจำคำศัพท์และรูปประโยคที่ไม่ซับซ้อน เช่น คำศัพท์เกี่ยวกับสี สัตว์ สิ่งของ รวมถึงประโยคทักทายและประโยคคำถามสั้นๆ ที่ใช้เพียง Yes หรือ No ในการตอบ เมื่อลูกเริ่มจดจำศัพท์และรูปแบบคำถามต่างๆ ได้บ้าง พ่อแม่อย่าลืมหมั่นทดสอบความเข้าใจซ้ำเสมอๆ ด้วยการตั้งคำถามให้ลูกตอบสนอง เช่น Where is green? (สีเขียวอยู่ตรงไหนคะ?) หรือ Which one is cat? (ตัวไหนคือแมวคะ?) วิธีนี้ช่วยเช็กได้ว่าลูกลูกเข้าใจจำศัพท์และรูปประโยคจริงหรือไม่ หากลูกยังพูดไม่คล่องก็ให้เขาใช้วิธีชี้หรือเดินไปหยิบของสิ่งนั้นแทนการพูดคำตอบ เมื่อโตขึ้นอีกนิดให้ลองตั้งคำถามปลายเปิดกับลูก เพื่อฝึกให้เขาแต่งประโยคบอกเล่าเอง เช่น What is this? หรือ What do you think about that?
ฝึกให้ลูกคิดเป็นภาษาอังกฤษ
หัวใจสำคัญในการฝึกฝนภาษาอังกฤษและใช้งานมันได้อย่างคล่องแคล่ว คือการฝึกกระบวนการคิด หากลูกคิดเป็นภาษาอังกฤษได้จะช่วยให้เขาสื่อสารออกมาได้ในทันที ไม่ต้องประมวลผลภาษาไทยก่อนแล้วค่อยถอดรหัสเป็นภาษาอังกฤษอีกรอบ วิธีหลังนี้จะทำให้ลูกขาดความมั่นใจในการสื่อสารไปโดยปริยาย เทคนิคเบื้องต้นที่จะปลูกฝังให้ลูกคิดเป็นภาษาอังกฤษได้ คือพยายามสื่อสารกับเขาแบบไม่ต้องแปลความหมาย (คล้ายผู้ใหญ่ที่ฝึกภาษาด้วยการดูหนังต่างชาติแบบไม่เปิดซับไตเติ้ล) ไม่ต้องตกใจหากช่วงแรกๆ เจ้าตัวเล็กจะงงและไม่เข้าใจว่าพ่อแม่สื่อสารอะไร แต่ให้ใช้ภาษากายและการสาธิตเข้าช่วย อย่างเวลาสอนศัพท์ Cat ให้ชี้ไปที่รูปแมว แทนการบอกตรงๆ ว่า Cat แปลว่า แมว หรือเวลาสอนแต่งตัวก็ให้อธิบายขั้นตอนเป็นภาษาอังกฤษพร้อมกับสาธิตวิธีการแต่งตัวตามประโยคที่พูดไปพร้อมๆ กัน เพื่อกระตุ้นให้ลูกเข้าใจและเห็นภาพที่สื่อความหมายไปในตัว
หากคุณเป็นพ่อแม่ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นประประจำ อย่ากังวลไป เริ่มต้นเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก สตาร์ตจากระดับง่ายแล้วไต่ระดับความยากไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีเดียวกันนี่แหละ รับรองว่าหากตั้งใจฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ บ้านคุณจะเป็นครอบครัวสองภาษาที่ใครต่างก็อิจฉา