Search
Close this search box.
ผื่นกุหลาบ

รู้จักผื่นกุหลาบในเด็ก โรคผิวหนังช่วงหน้าฝนที่พ่อแม่ควรระวัง

คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินผื่นในเด็กที่ชื่อว่า “ผื่นกุหลาบ” กันไหมคะ โรคผื่นผิวหนังชนิดนี้เรียกได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตของเด็กในช่วงหน้าฝนเลยก็ได้ค่ะ แต่อย่าเพิ่งเป็นกังวลไปว่าโรคผื่นกุหลาบจะร้ายแรง เพราะมันสามารถหายเองได้ วันนี้เราจึงอยากพาไปรู้จักกับโรคนี้กัน โดยเฉพาะถ้าใครเป็นคุณแม่มือใหม่ควรจะต้องรู้และเตรียมตัวรับมือกับโรคผื่นกุหลาบนะคะ

โรคผื่นกุหลาบ คืออะไร ?

ผื่นกุหลาบ (Pityriasis Rosea) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ส่าไข้ เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มักพบได้บ่อยในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ซึ่งเคยพบโรคผื่นกุหลาบในเด็กทารกที่อายุเพียง 3 เดือนอีกด้วย และสามารถพูดได้เลยว่าเด็กเล็กเกือบทุกคนจะต้องเคยเป็นโรคนี้ เอาหล่ะค่ะเมื่อรู้แบบนี้แล้วคุณแม่มือใหม่จึงไม่ควรมองข้ามโรคผื่นกุหลาบนะคะ เรามาดูสาเหตุและอาการกันต่อเลยค่ะ

ผื่นกุหลาบ

ผื่นกุหลาบมีสาเหตุจากอะไร

  • เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนเฮอร์ปีส์ชนิดที่ 6 และชนิดที่ 7 (Human Herpesvirus Type 6, 7) – ที่อยู่ในน้ำลาย และเสมหะ แพร่กระจายโดยการไอ จาม รวมถึงสัมผัสทางตรงและทางอ้อม เช่น เล่นของเล่นที่มีเชื้อไวรัสติดอยู่ แล้วเอามือมาขยี้ตา จับจมูก หรือเอามือเข้าปากก็สามารถติดเชื้อได้
  • การทำความสะอาดของเล่นเด็ก – เพราะเด็กเล็กมักจะชอบกัดสิ่งของ ทำให้มีเชื้อโรคและไวรัสอาจติดมาได้ หากไม่ทำความสะอาดหลังจากที่ลูกเล่นเสร็จ อาจทำให้มีเชื้อโรคสะสมอยู่ และก่อให้เกิดเป็นผื่นกุหลาบได้ค่ะ

อาการของผื่นกุหลาบ

  • ไข้สูงเฉียบพลัน ระยะก่อนผื่นขึ้นจะพบไข้สูงประมาณ 39.5 – 40.5 องศาเซลเซียส
  • มีผื่นขึ้นกระจายตามแขน ขา ใบหน้า และลำตัว มีขนาด 1 – 3 มิลลิเมตร
  • ลักษณะผื่นกุหลาบจะเป็นวงรี มีสีชมพูอมแดง สีชมพู หรือสีออกส้ม คล้ายกับดอกกุหลาบ
  • ลักษณะผื่นกุหลาบตรงกลางจะย่น
  • ผื่นกุหลาบจะอยู่ไม่กี่ชั่วโมง หรือนาน 2 – 3 วัน แล้วจะหายไป
  • อาจพบจุดแดงเล็ก ๆ ที่เพดานอ่อนและลิ้นไก่
  • อาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต บริเวณหลังหู ท้ายทอย หนังตาบวมเล็กน้อย เยื่อบุตาแดง
  • ช่วงที่ไข้ลดลงแล้วอาจพบผื่นราบสีแดงขนาดประมาณ 2 – 5 มิลลิเมตร บริเวณลำตัวและแขน โดยผื่นบางจุดอาจมีลักษณะนูนเล็กน้อย หรืออาจมีวงสีแดงจาง ๆ อยู่รอบผื่น

ภาวะแทรกซ้อนของผื่นกุหลาบ

  • เมื่อเป็นไข้ อาจทำให้เกิดอาการชัก ประมาณ 2 – 3 นาที ซึ่งเป็นภาวะแซกซ้อนที่พบได้ประมาณ 6 – 15% ของผู้ป่วย โดยเฉพาะในเด็กอายุ 12 – 15 เดือน
  • สำหรับเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ไขกระดูกไม่ทำงาน
  • อาจมีอาการสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับอักเสบ หรือภาวะเกร็ดเลือดต่ำแทรกซ้อน แต่พบได้น้อยมาก

สิ่งที่ต้องระวังในโรคผื่นกุหลาบที่พบกับเด็กเล็ก คือ เด็กจะมีอาการปกติดีทุกอย่าง แต่จะมีไข้สูงเฉียบพลัน อาจทำให้พ่อแม่ไม่ทันระวังจนทำให้เกิดไข้ขึ้นสูง และตามมาด้วยอาการที่รุนแรงขึ้นนั่นเองค่ะ

ซึ่งโรคผื่นกุหลาบนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะตัวและวัคซีนป้องกัน เนื่องจากสามารถจางหายไปได้เอง ภายในเวลาประมาณ 6 – 8 สัปดาห์

วิธีดูแลอาการโรคผื่นกุหลาบ

  1. เมื่อเด็กมีไข้ ให้หมั่นเช็ดตัวบ่อย ๆ หรือหากจำเป็นให้ทานยาลดไข้ (แต่ห้ามให้ลูกกินยาแอสไพรินเด็ดขาด) ไม่ให้มีไข้สูง เพื่อป้องกันอาการชัก และควรสวมเสื้อผ้าสบายตัว เพื่อระบายความร้อนในร่างกาย
  2. ดื่มน้ำมาก ๆ จิบทีละน้อย แต่จิบให้บ่อยขึ้น โดยอาจเป็นน้ำ นม หรือน้ำหวานก็ได้ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
  3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้เกิดการซ่อมแซมและฟื้นตัวอย่างเต็มที่
  4. หากลูกมีอาการระคายเคืองผิวที่บริเวณผื่น พยายามอย่าให้ลูกเกา ควรทาแป้ง ป้องกันอาการคันมากกว่าค่ะ
  5. พาอุ้มเดินเล่น ตบหลังเบา ๆ เพื่อปลอบประโลมลูกไม่ให้งอแง
  6. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นให้ลูก เพราะอาจไปกระตุ้นให้ผื่นขึ้นมากกว่าเดิม
  7. โรคผื่นกุหลาบไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะสามารถหายเองได้
  8. หากมีไข้สูงก่อนที่ผื่นกุหลาบจะขึ้น จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาสาเหตุของอาการ
  9. หากเด็กมีอาการชัก ควรรีบพาไปพบแพทย์ เผื่อกรณีบางรายอาจต้องมีการเจาะเลือด เพื่อหาสาเหตุของอาการชักว่ามาจากโรคอื่นหรือไม่

นอกจากเราจะต้องดูแลลูกจากอาการผื่นกุหลาบแล้ว เรายังสามารถป้องกันการเกิดผื่นกุหลาบได้ในเบื้องต้นด้วยการแยกของใช้ส่วนตัวของเด็ก และทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ อยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคผื่นกุหลาบได้แล้วค่ะ ไม่เพียงแค่โรคผื่นกุหลาบที่ต้องระวังเท่านั้นนะคะ ยังมี 7 โรคเด็กในหน้าฝน ที่เด็ก ๆ มักป่วยบ่อยที่ควรต้องเตรียมตัวรับมืออีกด้วย

SHARE

RELATED POSTS

สังเกตให้ทันก่อนสาย ลูกน้อยเข้าข่ายเป็นโรคตาขี้เกียจหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินถึง ‘โรคตาขี้เกียจ’…