Search
Close this search box.
เทคนิคให้ลูกดูดนมแม่

แม่มือใหม่ต้องรู้! เทคนิคให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าอย่างถูกต้อง

นมแม่เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับลูกน้อย ซึ่งการให้ลูกได้ดูดนมแม่จากเต้าอย่างถูกวิธี นอกจากจะทำให้ลูกได้รับประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายแล้ว ยังได้สัมผัสความใกล้ชิดระหว่างแม่กับลูกอีกด้วยนะคะ เพราะแบบนี้เราเลยมีเทคนิคการให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธีมาบอกกันค่ะ

เวลาไหนที่ควรให้ลูกดูดนมแม่มากที่สุด

อย่างที่ทราบกันดีว่าควรให้ลูกน้อยได้ดูดนมแม่เร็วที่สุด นับจากหลังคลอดเสร็จ ซึ่งคุณหมอจะแนะนำให้ลูกดูดนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด เพราะจะเกิดผลที่ดี โดยคุณพยาบาลจะเช็ดตัวเด็กให้แห้งก่อน แล้วค่อยนำมาวางที่อกของคุณแม่ ทั้งนี้ลูกอาจจะยังไม่ดูดนมแม่ในทันทีหรอกนะคะ ต้องใช้เวลาสักครู่ หรือภายในประมาณ 20 – 70 นาที ในการปรับตัวและหาหัวนมแม่ตามสัญชาตญาณทารกแรกเกิด

เทคนิคให้ลูกดูดนมแม่

หากลูกน้อยดูดนมแม่ได้เร็ว จะทำให้การหลั่งฮอร์โมนโพรแลกติน (Prolactin) ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมมาไว และกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนมออกจากท่อน้ำนมและกระตุ้นให้มดลูกหดตัว ลดการตกเลือด ช่วยขับน้ำคาวปลา ซึ่งทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

ขั้นตอนเอาลูกเข้าเต้า เพื่อดูดนมแม่อย่างถูกต้อง

เทคนิคให้ลูกดูดนมแม่ เอาลูกเข้าเต้า
  1. ประคองลูกด้วยแขนข้างที่ถนัด แล้วใช้มืออีกข้างนึงจับเต้านม โดยทำมือเป็นรูปตัว C ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน และนิ้วมือที่เหลืออยู่ด้านล่าง
    หรือศึกษาท่าอุ้มลูกในแต่ละช่วงวัย เพิ่มเติมได้ที่ แนะนำ 6 ท่าอุ้มลูกที่เหมาะกับเด็กแรกเกิดถึง 4 เดือนขึ้นไป
  2. ให้ลูกน้อยใช้ริมฝีปากล่างสัมผัสกับหัวนมแม่
  3. เมื่อลูกน้อยเริ่มอ้าปากกว้างแล้ว กอดลูกให้แนบเต้านม ไม่ควรเอนตัวให้เต้านมเข้าหาลูก พร้อมตรวจดูว่าลูกดูดนมได้ลึกดีไหม โดยให้จมูก แก้ม และคาง สัมผัสเต้านม ขณะดูดแก้มจะป่องและได้ยินเสียงกลืนเป็นจังหวะ
  4. ควรให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าแรกจนเกลี้ยง ถ้าหยุดดูดก่อน ให้เคาะเต้านม เพื่อให้ลูกดูดต่อจนเต้านมข้างนั้นนิ่ม แล้วจึงเปลี่ยนให้ลูกมาดูดนมอีกข้างหนึ่ง

เหตุผลที่ควรให้ลูกดูดนมแม่จากทั้งสองเต้าเท่า ๆ กัน เพราะ ร่างกายมีการสร้างน้ำนมที่ไม่เท่ากัน โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากการที่คุณแม่ถนัดให้ลูกดูดนมเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อลูกดูดนมเฉพาะข้างที่แม่ถนัด ร่างกายจึงสร้างน้ำนมข้างนั้นมากกว่าอีกข้าง

เทคนิคเวลาย้ายลูกมาดูดนมอีกข้าง ให้คุณแม่สอดนิ้วก้อยเข้าไปตรงมุมปากของลูก เพื่อขวางแรงดูดระหว่างปากและลานหัวนม ในการให้ลูกดูดนมครั้งถัดไป ให้เริ่มจากเต้านมข้างที่ลูกไม่ได้ดูดครั้งล่าสุดก่อนนะคะ เพื่อให้ทั้งสองข้างได้รับการกระตุ้นเท่ากัน

เทคนิคให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าอย่างถูกต้อง

เทคนิคให้ลูกดูดนมแม่ เอาลูกเข้าเต้า
  • ดูดเร็ว – ให้ลูกดูดนมแม่ โดยเร็วที่สุด ตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอด ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้มาเร็วขึ้น หากให้ลูกดูดนมแม่ช้า น้ำนมก็จะมาช้าด้วยนั่นเองค่ะ
  • ดูดบ่อย – ในช่วงแรกเกิด ถึงอายุ 1 เดือน ลูกควรได้ดูดนมแม่เมื่อต้องการ อย่างน้อย 8 – 12 ครั้งต่อวัน ถ้าลูกหลับนานกว่า 3 ชั่วโมง ควรปลุกให้ลูกตื่นขึ้นมาดูดนมแม่ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงช่วยลดปัญหาของตัวคุณแม่เองที่อาจเกิดเต้านมคัดและการสร้างน้ำนมลดลงได้อีกด้วยค่ะ
  • ดูดนานและเกลี้ยงเต้า – การดูดนมของลูกในแต่ละครั้ง สามารถให้ดูดนานประมาณข้างละ 15 นาที หรือดูดจนกว่าจะเลิกดูดไปเอง แต่ต้องดูดจนเกลี้ยงเต้า เพราะน้ำนมในส่วนหลังจะมีไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อสมองและร่างกาย ช่วยให้ลูกอิ่มนาน
  • ดูดถูกวิธี – ก็คือการเอาลูกเข้าเต้าเพื่อดูดนมอย่างถูกวิธี ตามข้อด้านบนนั่นเองค่ะ ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกดูดนมได้เต็มที่ และคุณแม่ก็ไม่เจ็บ

คุณแม่สามารถสังเกตความรู้สึกได้ว่าลูกดูดนมได้ถูกต้องหรือไม่

  • ลูกสามารถอมหัวนมได้ โดยมีส่วนใหญ่เป็นลานหัวนม ในขณะที่ลิ้นลูกอยู่ใต้หัวนม มีแรงกดบนลานหัวนม เพื่อบีบให้น้ำนมไหล
  • คุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บหัวนม แต่จะรู้สึกว่าหัวนมถูกดูดเป็นจังหวะ
  • เสียงดูดนมของลูกจะค่อนข้างเงียบ ไม่มีเสียงดังจ๊วบ ๆ หรือเสียงลิ้นดังจั๊บ ๆ แต่อาจมีเสียงกลืนบ้าง แต่เบามากค่ะ
  • คุณแม่จะสามารถมองเห็นใบหูของลูกขยับ ขณะที่ลูกกำลังดูดนม

นอกจากนี้หากคุณแม่ลองทำตามวิธีให้ลูกดูดนมแม่ที่ถูกต้องดูแล้วยังกังวลใจอยู่ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะการให้นมแม่อย่างถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ของลูกน้อยนะคะ

SHARE

RELATED POSTS

7 เคล็ด(ไม่)ลับ รับมืออารมณ์คนท้องแปรปรวน ทำตามนี้ได้ผลดีแน่นอน…
เผยวิธีห่อตัวทารกอย่างไรให้ลูกปลอดภัย สบายตัว พร้อมรับโลกใบใหม่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังข้องใจเกี่ยวกับวิธีห่อตัวทารกว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงให้ถูกต้องและปลอดภัย…
พ่อแม่ควรรู้ ปรอทวัดไข้สำหรับเด็กแบบไหนให้ผลลัพธ์แม่นยำสุด อุปกรณ์สำคัญที่พ่อแม่ควรมีติดบ้านเอาไว้อย่าง ปรอทวัดไข้…