รู้ทันเปโด พร้อมปกป้องลูกจากภัยร้ายให้ถูกวิธี | Advertorial
คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงรู้สึกกังวลใจกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทย โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน แม้ว่าการเกิดอารมณ์ทางเพศจะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราสังเกตเห็นว่าใครเกิดอารมณ์ทางเพศกับเด็กที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ เราอาจต้องตระหนักว่านี่อาจเป็นสัญญาณของอาการทางจิตที่เรียกว่า โรคใคร่เด็ก หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า เปโด ดังนั้น หน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่คือการดูแลปกป้องลูกน้อยของเราให้ปลอดภัยจากอันตรายของผู้ใหญ่ใคร่เด็ก
จากสถิติของมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พบว่าช่วงวัยที่มีการร้องเรียนเรื่องการข่มขืนมากที่สุด คือ เด็กแรกเกิดถึง 20 ปี ซึ่งเป็นเด็กที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์และวัยเจริญพันธุ์ตอนต้น นอกจากนี้ แนวโน้มของการคุกคามทางเพศยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ้านจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ครอบครัวควรช่วยให้ลูก ๆ รู้เท่าทันภัยอันตรายจากสิ่งที่เรียกว่า เปโด
เปโด พฤติกรรมอันตราย อาจไม่ใช่แค่รักเด็ก
ข้อมูลจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ให้ความรู้ว่า โรคใคร่เด็ก หรือเปโดฟิเลีย (Pedophilia) ไม่ใช่เรื่องปกติตามธรรมชาติ แต่เป็นอาการผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง ที่จะมีความต้องการทางเพศมุ่งเน้นไปที่เด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์หรือวัยเจริญพันธุ์ช่วงเริ่มต้น ซึ่งมักพบในผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นตอนปลาย
สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านควรรู้คือ การแยกแยะให้ได้ว่าอาการเปโดนั้นแตกต่างจากการรักเด็ก ซึ่งมักจะแสดงออกด้วยความเมตตาและเอ็นดู แต่อาการเปโดเป็นความต้องการเพศที่แอบซ่อนอยู่ โดยในช่วงแรกผู้ป่วยโรคใคร่เด็กจะเข้าหาเด็กด้วยความเอ็นดู แต่ต่อมาอาจมีการล่อลวงเพื่อให้เด็กตอบสนองต่อความต้องการทางเพศของตน
สังเกตพฤติกรรมอย่างไรเมื่อผู้ใหญ่เป็นเปโด
- มีแรงดึงดูดและจินตนาการทางเพศกับเด็กที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์
- มีความรู้สึกทางเพศกับเด็กที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์
- ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็กที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์
- ชอบดูสื่ออนาจารของเด็ก
- ในกรณีรุนแรงอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมหรือการทารุณกรรมทางเพศ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเปโด
พฤติกรรมของผู้ป่วยเปโดอาจแตกต่างกันไปเนื่องด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- การเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่เหมาะสม เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทารุณกรรม เป็นต้น
- พันธุกรรม ที่มีความสัมพันธ์กับระดับเซโรโทนินในสมอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและพฤติกรรมทางเพศ
- ความแตกต่างของโครงสร้างสมอง ซึ่งผู้ป่วยเปโดมักจะมีการทำงานของเปลือกสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมแรงกระตุ้นและพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติไปจากคนทั่วไป รวมถึงความแตกต่างในสมองกลีบขมับและอะมิกดะลา ซึ่งเกี่ยวโยงกับพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ
- ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน หรือฮอร์โมนเพศชายของทารกในครรภ์ที่สูงขึ้น รวมถึง ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่เกี่ยวโยงกับการทำงานของสมองส่งผลให้เกิดโรคเปโด
สอนลูกอย่างไรให้ปลอดภัยจากผู้ใหญ่เปโด
บทบาทสำคัญของพ่อแม่และครอบครัวในการปกป้องลูก ๆ จากอันตรายของเปโด คือการปลูกฝังความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกป้องตนเอง ซึ่งอาจทำได้ดังนี้
- สอนลูกให้รู้จักชื่อเรียกของอวัยวะต่าง ๆ อย่างถูกต้องและไม่ใช้ชื่อเล่น เพื่อให้ลูกสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ชัดเจนหากมีผู้อื่นสัมผัสอวัยวะ
- สอนลูกให้รู้จักออกห่างจากผู้ใหญ่ที่เข้ามาสัมผัสตัว โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศหรือจุดซ่อนเร้น
- สอนให้ลูกรู้จักระวังพฤติกรรมที่เข้าข่ายการล่วงละเมิด แม้แต่กับคนในครอบครัว เช่น การสัมผัสเนื้อตัว การหอมแก้ม การกอดจูบ หรือการขอให้เปลือยกาย
- ย้ำให้ลูกหลีกเลี่ยงการอยู่กับผู้ใหญ่เพียงลำพัง ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ
- สอนให้ลูกระวังการรับสิ่งของหรืออาหารจากคนแปลกหน้า
- สอนให้ลูกรู้จักการปฏิเสธ และเน้นย้ำว่าไม่มีใครมีสิทธิ์สัมผัสอวัยวะเพศ แม้แต่คนในครอบครัว
- รับฟังและให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูก หากเข้ารู้สึกไม่ปลอดภัยจากการถูกสัมผัส และสอนให้รู้จักแยกแยะระหว่างความรู้สึกปลอดภัยและไม่ปลอดภัย
การปกป้องลูกที่เรารักจากภัยเปโดเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเข้าใจและการสอนที่ถูกวิธีจากพ่อแม่ การพูดคุยกับลูกให้รู้จักป้องกันตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ จะเป็นเกราะป้องกันให้ลูกที่เรารักได้เป็นอย่างดี และอย่าลืมว่า ‘รู้หน้าไม่รู้ใจ’ แม้แต่กับคนใกล้ตัวที่คุ้นเคยก็ตาม พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกอย่างเข้าใจ เพื่อให้ลูกมั่นใจว่าจะมีที่พึ่งที่ปลอดภัยอยู่เสมอ