ออมเงินให้ลูกแบบไหนเวิร์กสุด? | แนะนำ 5 วิธีฉบับพ่อแม่มือใหม่
ความรู้สึกของคนที่เป็นพ่อแม่ นอกจากความรักแล้วก็ยังอยากสร้างรากฐานด้านการเงินที่มั่นคงไว้ให้กับลูกน้อยในอนาคต ซึ่งการวางแผนออมเงินให้ลูกไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็เป็นวิธีที่หลายครอบครัวสนใจและอยากทำให้ออกมาดีที่สุด คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนที่กำลังมองหาวิธีออมเงินให้ลูกอยู่ล่ะก็.. วันนี้ทาง Cotton Baby จะมาพูดถึงเรื่องออมเงินให้ลูกกันค่ะ ว่ามีแบบไหนน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของลูกบ้าง หรือจะทำทุกวิธีไปพร้อม ๆ กันก็ยิ่งดี รับรองว่าในอนาคตลูกน้อยจะมีเงินก้อนไปลงทุนในสิ่งที่เขาอยากทำแน่นอนค่ะ
หายห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย ด้วย 5 วิธีออมเงินให้ลูก
เริ่มวันนี้ มีเงินก้อนโตไว้ใช้ในอนาคต
1. วางแผนและตั้งเป้าหมายก่อนออมเงินให้ลูก
การเริ่มต้นออมเงินให้ลูก พ่อแม่จะต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่า ภายในกี่ปีจะต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ และเงินก้อนนี้เอาไว้ใช้จ่ายสำหรับเรื่องอะไร เช่น ตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายใน 5 ปี จะออมเงินให้ลูกไว้สำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉินในหลักแสนบาท นั่นแปลว่า เราจะต้องออมเงินให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 2,000 บาท พอครบ 1 ปี ก็จะมีเงินเก็บ 24,000 บาท และภายใน 5 ปี จะมีเงินเก็บ 120,000 บาท ตามที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้นั่นเอง ถึงแม้จะเป็นเพียงหลักแสนต้น ๆ แต่อย่าลืมนะคะว่านี่เรากำลังยกตัวอย่างการออมเงินให้ลูกเพียงเดือนละ 2,000 บาทเท่านั้น ถ้าบ้านไหนมีกำลังมากกว่านี้จะขยับให้สูงขึ้นแล้วแบ่งไว้ใช้จ่ายในเรื่องอื่นก็ได้ค่ะ
2. ออมเงินให้ลูกแบบฝากประจำ ทางเลือกของพ่อแม่มือใหม่
เงินฝากประจำเป็นทางเลือกที่พ่อแม่มือใหม่หลายคนเลือกที่จะออมเงินให้ลูก เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและมีความเสี่ยงต่ำ แถมยังช่วยบังคับให้เรามีวินัย เนื่องจากต้องฝากเงินในจำนวนที่เท่ากันเป็นประจำทุกเดือน
แต่บัญชีออมทรัพย์หรือฝากประจำกับธนาคาร ถ้าได้ดอกเบี้ยมาจะถูกหักภาษีดอกเบี้ยด้วย แนะนำให้ ฝากเงินประจำแบบปลอดภาษี ดีกว่า เพราะนอกจากจะปลอดภาษีดอกเบี้ยแล้ว ยังให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าฝากประจำอีกด้วย
3 ข้อที่ควรรู้ก่อนฝากเงินประจำแบบปลอดภาษี
– เราสามารถมีบัญชีฝากประจำแบบปลอดภาษีได้แค่คนละ 1 บัญชีต่อทุกธนาคาร หมายความว่า ถ้าเราเปิดบัญชีฝากประจำ 24 เดือน กับธนาคาร A แล้ว จะไม่สามารถเปิดกับธนาคาร B ได้ จนกว่าจะครบกำหนดฝาก หรือทำการปิดบัญชีนั้นก่อนครบกำหนด
– ควรเลือกสาขาหรือวิธีฝากเงินที่สะดวกต่อเรา อย่าเลือกเพียงแค่ดอกเบี้ยสูง เพราะหลายธนาคารมีข้อกำหนดว่าต้องไปฝากเงินที่สาขาเท่านั้น หรือบางแห่งก็สามารถโอนได้ ข้อนี้ต้องศึกษาให้ดี ๆ ก่อนนะคะ ถ้าเลือกเพียงเพราะดอกเบี้ยสูงแต่เราไม่สะดวกเดินทาง อยู่ไกลจากบ้านมาก ทั้งค่ารถ ค่าเสียเวลา ก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสียแล้วล่ะค่ะ
– ฝากประจำแบบปลอดภาษีเป็นการฝากระยะยาว แนะนำต้องเป็นเงินเย็น เราอยากให้มั่นใจว่าเงินที่ฝากเข้าบัญชีนี้เป็นเงินเย็นที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ตลอดจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาฝาก เพราะถ้าถอนเงินออกมาก่อน เราเองนี่แหละที่จะไม่ได้รับดอกผลตามที่กำหนดไว้
3. ออมเงินให้ลูกด้วยการซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
หากวางแผนในระยะยาวไปจนถึงตอนลูกเรียนมหาวิทยาลัย การออมเงินให้ลูกด้วยวิธีการใช้ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีเลยทีเดียว เพราะเป็นประกันชีวิตที่ออกแบบมาเพื่อการออมเงินไว้ใช้ในอนาคต เมื่อเราส่งเบี้ยประกันครบตามระยะเวลาประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินคืนให้นั่นเอง
ในกรณีที่เราเสียชีวิตระหว่างส่งกรมธรรม์ ตัวแทนของเราก็จะได้รับเงินก้อนนั้นไป เป็นการการันตีว่าจะได้รับผลตอบแทนในจำนวนที่แน่นอน คุ้มครองชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับลูกได้ในวันที่เราอาจไม่มีโอกาสเห็นความสำเร็จของลูกแล้ว เรียกว่าได้ทั้งออมเงินให้ลูก และความอุ่นใจไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
4. ซื้อหุ้นกู้ ตัวเลือกการออมเงินให้ลูกที่น่าลงทุน
การซื้อหุ้นกู้ในชื่อลูก โดยให้แม่เป็นตัวแทนในการทำนิติกรรม เป็นตัวเลือกการออมเงินให้ลูกที่มั่นคงและปลอดภัยอยู่พอสมควร เพราะเมื่อซื้อหุ้นกู้ เราจะมีฐานะเป็น ‘เจ้าหนี้’ หมายความว่า เราได้ให้เงินกู้กับบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้น ๆ ไป โดยลูกหนี้อย่างบริษัทผู้ออกหุ้นจะต้องจ่ายดอกเบี้ยตามที่ได้ตกลงกันไว้ตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ (โดยทั่วไปแล้ว การจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน) และจะชำระเงินต้นคืนเมื่อถึงวันครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ (อายุของหุ้นกู้ มักกำหนดเป็นจำนวนปี ตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี) ข้อดีก็คือ ทำให้เรามีแหล่งรายได้ประจำ โดยที่เงินต้นของการลงทุนยังคงอยู่ครบ
5. ออมเงินให้ลูกด้วยรูปแบบ ออมสินคู่ขวัญ สร้างหลักประกันให้ครอบครัว
สำหรับบ้านไหนที่มองหาวิธีออมเงินให้ลูกในรูปแบบที่ได้ทั้งฝากเงินและประกันชีวิตอยู่ด้วยกัน แนะนำการออมแบบ ‘ออมสินคู่ขวัญ’ เหมาะสำหรับคนมีครอบครัวมาก ๆ เพราะเป็นการออมทรัพย์ที่ให้ความคุ้มครองชีวิตทั้ง พ่อและลูก หรือ แม่และลูก ในกรมธรรม์เดียวกัน โดยสามารถเลือกได้ว่าจะส่งฝาก 10 ปี แต่คุ้มครองถึง 15 ปี หรือ ส่งฝาก 15 ปี คุ้มครองถึง 20 ปี แบบนี้ก็เป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นคงให้กับลูกในยามที่เราเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้ สบายใจหายห่วงไปเลยค่ะ
เมื่อได้วิธีการออมเงินให้ลูกที่เหมาะสมกับครอบครัว เพื่อวางแผนค่าใช้จ่ายของลูกให้ราบรื่นที่สุดแล้ว บ้านไหนเงินเยอะก็ทำทุกวิธีเลยก็ได้นะคะ ส่วนงบน้อยก็เลือกทำที่สะดวกกับตัวเอง พร้อมกับวางแผน เริ่มต้นสอนลูกให้รู้จักค่าของเงิน ตามความเหมาะสมของช่วงวัย แต่สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ยุคใหม่อย่างเราให้ลูกได้มากที่สุดก็คือเรื่องการศึกษา อยากจะส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ ก็สามารถทำได้ถ้าเราเริ่มวางแผนออมเงินตั้งแต่วันนี้ แต่ตอนนี้ลอง เช็กลิสต์โรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ เอาใจพ่อแม่ที่อยากส่งลูกเรียนอินเตอร์ กันก่อนดีกว่าค่ะ